posttoday

มาดูความพยายามของ NASA กับเฮลิคอปเตอร์ลำแรกบนดาวอังคาร

11 เมษายน 2564

แม้การบินจะถูกเลื่อนออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันนี้ แต่การบินครั้งนี้จะเป็นในเบิกทางที่สำคัญต่ออากาศยานสำรวจอวกาศอื่นๆ ในอนาคต

องค์การนาซา (NASA) กล่าวว่า "อินเจนูอิตี" (Ingenuity) เฮลิคอปเตอร์สำรวจดาวอังคารลำแรกจากนาซาจะเริ่มบินบนดาวอังคารในวันพุธ (14 เม.ย.) ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่บินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

หลังจากที่ก่อนหน้านี้นาซาประกาศกำหนดการบินไว้ในช่วงค่ำวันที่ 11 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น แต่ต้องถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากปัญหาด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในระหว่างการทดสอบใบพัดของเฮลิคอปเตอร์

นาซาแถลงว่ากำลังตรวจสอบระบบเพื่อวินิจฉัยและทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และจะทดสอบใหม่อีกครั้งก่อนที่จะเริ่มบินจริง

อย่างไรก็ตามนาซายืนยันว่าเฮลิคอปเตอร์ยังคงมีความแข็งแรงปลอดภัยและสามารถสื่อสารทางไกลมายังโลกได้

สำนักข่าวซินหัวระบุว่าโทมัส เซอร์บูเชน ผู้ช่วยฝ่ายบริหารด้านวิทยาศาสตร์ของสำนักงานใหญ่นาซากล่าวว่า "อินเจนูอิตีสามารถทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจในฐานะผู้นำแห่งอนาคตผ่านเที่ยวบินแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

"เราดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างประสบการณ์และเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจต่อๆ ไป เช่นเดียวกับเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพี่น้องตระกูลไรท์ คณะนักสำรวจในอนาคตจะสามารถเรียนรู้ข้อมูลและได้รับแรงบันดาลใจจากภารกิจนี้"

ทั้งนี้ อินเจนูอิตี ลงจอดบนหลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) ของดาวอังคารตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมกับยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)

มีเป้าหมายเพื่อสาธิตทางเทคโนโลยี ทดลองความสามารถการบินในสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารซึ่งมีอากาศเบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า หรือกล่าวคือชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีความหนาแน่นเพียงแค่ 1% เท่านั้นเมื่อเทียบกับชั้นบรรยากาศบนโลก ดังนั้นระบบใบพัดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยต้องหมุนเร็วมากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ความยากอีกอย่างหนึ่งคือความช้าในการสื่อสารเพื่อควบคุมเฮลิคอปเตอร์เนื่องจากเป็นการสื่อสารระยะไกลจากโลกไปยังดาวอังคาร เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถควบคุมเฮลิคอปเตอร์ได้อย่างเรียลไทม์

ข้อมูลจากการบินครั้งนี้จะเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคตของเฮลิคอปเตอร์รุ่นต่อ ๆ ไป และหากการบินครั้งนี้สำเร็จก็จะถือเป็นใบเบิกทางสู่การสำรวจทางอากาศ และการพัฒนาอากาศยานใหม่ๆ เพื่อใช้สำรวจดาวเคราะห์นอกโลกอีกมากมายในอนาคต

Photo by Handout / NASA/JPL-CALTECH / AFP