posttoday

พังรอบสอง! ชี้รัฐประหารทำเศรษฐกิจเมียนมาทรุดทั้งระบบ

03 เมษายน 2564

หลังจากเปิดประเทศ เมียนมาถูกมองว่ากำลังจะมีอนาคตที่สดใส แต่หลังจากการทำรัฐประหาร เศรษฐกิจของประเทศก็กลับไปสู่ภาวะเกือบหยุดนิ่งอีกครั้ง

Nikkei Asia รายงานว่า การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงทำให้ชาวเมียนมาออกมาประท้วงยากขึ้น ผู้คนจึงหันมาประท้วงด้วยการทำอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) รวมทั้งการทำงานจากที่บ้าน

เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของหลายประเทศอยู่แล้วลดลงอย่างเห็นได้ชัด  

ข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชาชนจาก Google Maps พบว่าช่วงปลายเดือน มี.ค. การจราจรทางเท้า (foot traffic) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดจับจ่ายใช้สอยของชาวเมียนมาทั่วประเทศลดลงถึง 85% ในธุรกิจค้าปลีกและบริการ เมื่อเทียบกับช่วงก่อน Covid-19 ระบาด ขณะที่การเคลื่อนที่ของประชาชนในสถานที่ทำงานลดลง 80%  

เมื่อชาวเมียนมาออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านลดลงย่อมส่งผลกระทบถึงพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อย พ่อค้าผลไม้วัย 63 ปีในเมืองย่างกุ้งซึ่งประกาศใช้กฎอัยการศึกเผยกับ Nikkei Asia ว่า “ปกติจะมีลูกค้าเยอะ แต่ช่วงนี้ไม่มีลูกค้าเลย ช่วงบ่ายๆ ก็ต้องปิดร้านแล้วเพราะไม่มีลูกค้า”

Nikkei Asia รายงานอีกว่า การนำเข้าส่งออกสินค้าก็ลดลงเช่นกัน ข้อมูลของทางการเมียนมาช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน มี.ค. พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 252 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 254 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงราว 30% เมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยรายสัปดาห์ของเดือน ธ.ค. และ ม.ค. ส่วนหนึ่งมาจากการหยุดงานประท้วงของเจ้าหน้าที่ศุลกากรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทำให้มีตู้สินค้าติดค้างอยู่ที่ท่าเรือจำนวนมาก

บริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก A.P. Moller Maersk ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราวในเมียนมาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. เพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและร่างกายของพนักงาน

เช่นเดียวกับการไหลเข้าของเงินลงทุนซึ่งเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่ได้รับผลพวงจากการรัฐประหารครั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งร่วงลงถึง 85% เมื่อเทียบกับสัดาห์ก่อนเกิดรัฐประหาร และคาดว่ากิจกรรมต่างๆ ในตลาดหุ้นจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติจนกว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะสงบลง

ขณะที่ธนาคารเอกชนปิดทำการสาขาตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. แม้ว่าธนาคารกลางเมียนมาจะขู่ว่าจะลงโทษปรับหากยังไม่เปิดทำการก็ตาม เนื่องจากพนักงานพากันหยุดงานเข้าร่วมประท้วง จนไม่มีคนทำงาน

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ลูกค้าไม่สามารถถอนเงินจำนวนมากหรือโอนเงินไปต่างประเทศ และแม้ว่าธนาคารหลายแห่งจะเริ่มนำเงินกลับไปเติมที่ตู้เอทีเอ็มเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. แต่ยังมีการจำกัดวงเงิน โดยขณะนี้ธนาคารบางแห่งจำกัดไม่ให้ถอนเงินเกินวันละ 200,000 จั๊ต ทั้งที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ที่ 500,000 จั๊ต

ผู้จัดการบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นในเมียนมาเผยกับ Nikkei Asia ว่า “ไซต์งานก่อสร้างในท้องถิ่นขาดเงินสดจนไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายให้คนงาน”

Nikkei Asia ระบุว่า การทำรัฐประหารฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาที่เพิ่งฟื้นตัวเมื่อช่วง 10 ปีก่อน หลังจากบาดเจ็บจากการถูกนานาชาติคว่ำบาตร

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัวติดลบถึง 10% จากที่เคยประเมินไว้เมื่อนเดือน ต.ค.ว่าจะเติบโตถึง 5.9% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค

Photo by STR / AFP