posttoday

ทำไมอินเดียกับไทยถึงมีท่าทีกลับไปกลับมาเรื่องผู้อพยพเมียนมา

31 มีนาคม 2564

ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมากลืนไม่เข้าคลายไม่ออกรับมือผู้อพยพหนีตายทะลักชายแดน

ความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนทวีความตึงเครียด หลังจากกองทัพสั่งโจมตีทางอากาศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ควบคุมอยู่ เพื่อล้างแค้นที่ KNU ยึดฐานทัพทหารไปก่อนหน้านี้เพื่อตอบโต้ที่กองทัพใช้ความรุนแรงกับประชาชน

สถานการณ์นี้ทำให้เกิดความกังวลว่าการสู้รบกันระหว่างกองทัพกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยจะทะลักข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยกับอินเดียที่กำลังเผชิญกับผู้อพยพหลายพันคนที่หนีตายออกมาจากบ้านเกิด

อินเดียกับไทยเจอชะตากรรมเดียวกันคือ ถูกตำหนิว่าใจดำไม่ยอมให้ความช่วยเหลือคนเมียนมาที่เดือดร้อน

ก่อนหน้านี้ โลกโซเชียลมีเดียอินเดียวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักหลังรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐมณีปุระซึ่งอยู่ติดกับเมียนมามีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและกลุ่มประชาสังคมต่างๆ จัดหาอาหารและที่พักให้ผู้อพยพ โดยอนุญาตเพียงให้ช่วยคนที่บาดเจ็บและต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์เท่านั้น

ส่วนเสียงติติงในไทยก็ดุเดือดไม่แพ้กันจนแฮชแท็ก #หยุดส่งผู้ลี้ภัยไปตาย ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลไทยผลักดันผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงที่ถูกกองทัพโจมตีทางอากาศกลับรัฐกะเหรี่ยงกว่า 10,000คน

มาร์ก ฟาร์แมเนอร์ หัวหน้ากลุ่ม Burma Campaign UK เผยว่า ชาวเมียนมาหลายพันคนถูกบังคับให้ย้อนกลับไปที่ค่ายผู้อพยพ Ee Thu Hta ในฝั่งเมียนมา ส่วนองค์กรไม่แสวงกำไร Friends Without Borders Foundation ในไทยเผยว่า ชาวเมียนมาราว 8,000 คนต้องหนีเข้าไปซ่อนตัวในป่า ขณะที่อีก 3,000 คนข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาในแม่ฮ่องสอน

ในเวลาต่อมาก็มีปฏิกิริยาจากทางการไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธข่าวดังกล่าว และยืนยันว่าไทยได้ให้ความช่วยเหลือคนที่ข้ามแดนเข้ามา ส่วนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับผู้สื่อข่าวว่ายังไม่มีผู้อพยพเข้าไทย ด้าน ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่าไม่มีการผลักดันผู้ประท้วงกลับ และมีชาวเมียนมาหลายคนได้รับการปฐมพยาบาลที่พรมแดน

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเผยว่า ชาวกะเหรี่ยงเข้ามาอยู่ในจุดแรกรับซึ่งกองกำลังนเรศวรควบคุมดูแลเป็นการรับเบื้องต้น หากสอบสวนแล้วอาจจะแค่ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวก็จะให้กลับเข้าไปในเขตประเทศเมียนมาที่อยู่อาศัยเดิม แต่ถ้าหากผู้อพยพเหล่านี้ได้รับผลกระทบถึงขั้นอาจจะเสี่ยงต่อชีวิตก็จะดูแลไว้ระยะเวลาหนึ่งตามหลักมนุษยธรรมตามสมควร 

ท่าทีของอินเดียก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นกัน

ช่วงกลางเดือน มี.ค. รัฐบาลกลางของอินเดียมีคำสั่งให้ 4 รัฐที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาและกองกำลังกึ่งทหารที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดน เพิ่มความเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเมียนมาลักลอบข้ามพรมแดน และผลักดันผู้อพยพออกนอกประเทศ

ทว่านอกจากทางการรัฐมิโซรัมจะจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวให้แล้ว โซรัมแทง มุขมนตรีรัฐมิโซรัม ยังเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมดี ระบุว่ารัฐบาลอินเดียควรคำนึงถึงมนุษยธรรม

แต่ต่อมาทางการรัฐมณีปุระก็ต้องผลักดันผู้อพยพ 8 คนกลับไป หลังจากกระทรวงมหาดไทยสั่งห้ามรัฐมณีปุระ รัฐนาคาแลนด์ และรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งอยู่ติดกับเมียนมาให้สถานะผู้ลี้ภัยกับชาวเมียนมา โดยให้เหตุผลว่าอินเดียไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ห้ามจัดหาอาหารหรือให้ที่พักและให้ผลักดันกลับอย่างนุ่มนวล ทำได้เพียงให้การรักษาพยาบาลเท่านั้น

หลังจากถูกวิจารณ์หนักในโลกโซเชียล ทางการรัฐมณีปุระก็เปลี่ยนท่าทีใหม่ให้ยกเลิกคำสั่งผลักดันผู้อพยพ และยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนตามความจำเป็นแก่ผู้อพยพ โดยอ้างว่าคำสั่งแรกของกระทรวงมหาดไทยเกิดจากการตีความผิดพลาด

ความกังวลเรื่องผู้อพยพทะลักข้ามแดนยังลามไปถึงจีน สำนักข่าวเคียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หลังสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาตึงเครียดจากการรับประหาร ทางการจีนได้เพิ่มความเข้มงวดในการอนุญาตให้คนเมียนมาเข้าประเทศ มาตรการของจีนเริ่มตั้งแต่การห้ามชาวเมียนมาเข้าพักในโรงแรม และบางครั้งก็มีการจับกุมตัว

ที่ผ่านมาทางการจีนพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับเมียนมา แต่แหล่งข่าวเผยว่า มาตรการนี้ชี้ให้เห็นว่าสีจิ้นผิงเองก็กลัวชาวเมียนมาทะลักเข้าประเทศจนเป็นอันตรายต่อสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศเช่นกัน

นอกจากนี้ แหล่งข่าวในเมืองรุ่ยลี่ในมณฑลยูนนานซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมาเผยว่า ช่วงกลางและปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงของจีนสั่งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักให้ชาวเมียนมาเข้าใช้บริการ ทั้งที่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาโรงแรมในเมืองรุ่ยลี่ยังเปิดประตูรับชาวเมียนมา แม้ว่าขณะนั้นทางการจีนยกระดับคุมเข้มการแพร่ระบาดของ Covid-19  

ขณะที่แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมในเมืองรุ่ยลี่เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนที่เดินทางมาจากเมียนมา 1 คนถูกควบคุมตัวหลังเช็กอินเข้าพักในโรงแรมกับชาวเมียนมาอีกคนที่อาศัยอยู่ในจีนมานานแล้ว

นอกจากนี้ทางการเมืองรุ่ยลี่ยังยกระดับการตรวจตราด้านความมั่นคงในพื้นที่ที่อยู่ติดพรมแดน โดยถนนบางเส้นถูกปิด และทางการจีนยังจับกุมชาวเมียนมาอีกหลายคนที่พยายามประท้วงที่กองทัพเมียนมาควบคุมตัวอองซานซูจี

ทั้งนี้ ในเมียนมามีกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธอย่างน้อย 20 กลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและการทหาร โดยในจำนวนนี้ 10 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่ม KNU ลงนามสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมาเมื่อปี 2011 แต่เมื่อรัฐบาลทหารใช้กำลังกับประชาชนที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร กองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มก็ประกาศฉีกสัญญาดังกล่าว แล้วหันมาช่วยคุ้มครองประชาชน

ลี มอร์เกนเบสเซอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลียที่วิจัยการเมืองในอาเซียนเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า มีความเป็นไปได้ว่าการชุมนุมประท้วงจะลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองหรือสงครามระหว่างประเทศ เนื่องจากธรรมชาติของพรมแดนเมียนมาที่สามารถผ่านได้ง่าย และกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล จึงมีความเป็นไปได้ว่าวิกฤตในเมียนมาจะข้ามเข้าไปในพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยเหตุนี้ บรรดาประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องรับมือกับสถานการณ์ผู้อพยพด้วยความระมัดระวัง

Photo by Handout / Free Burma Rangers / AFP