posttoday

ศิลปะ การเมือง หรือเรื่องพะอืดพะอม เมื่อการทำแท้งสดกลายเป็น "อาร์ต"

24 มีนาคม 2564

ธีสิสโลกตะลึงที่เกิดขึ้นเมื่อ 2008 ทำให้เกิดคำถามมากมายในเวลานั้น ในขณะที่เมืองไทยทะเลาะกันเรื่อง "อะไรคือศิลปะ" และ "ศิลปะกับการเมือง"

ในช่วงปลายเดือนมีนาคมมีแฮชแท็กที่ร้อนแรงในโลกโซเชียล นั่นคือ #ทีมมช ทีเกิดจากการกรณีความขัดแย้งระหว่าง "นักศึกษา / อาจารย์ / และคณะบดี" เกี่ยวกับงานศิลปะจนลามกลายเป็นประเด็นทางการเมือง และการโต้เถียงกันเรื่อง "แบบไหนที่เรียกว่าเป็นศิลปะ?"

ย้อนกลับไปในปี 2008 ที่สหรัฐ มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการโต้เถียงเรื่อง "ศิลปะกับการเมือง" และ "ศิลปะกับศีลธรรม" กันอย่างรุนแรง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่กระทุ้งความรู้สึกของผู้คนในวงกว้างอย่างมาก

เหตุกาณ์นั้นเกี่ยวข้องกับงานศิลป์ทีชื่อ Untitled [Senior Thesis] เป็นผลงานศิลปะการแสดงของเอไลซา ชวาร์ตส์ (Aliza Shvarts) ซึ่งเธอแสดงในช่วงปี 2008 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการศึกษาระดับปริญญาทัศนศิลป์ที่มหาวิทยาลัยเยล จึงเป็น Senior Thesis ของเธอ ในระหว่างการแสดงผลงาน Untitled [Senior Thesis]

เป็นเวลา 9 เดือน ชวาร์ตส์ใช้สเปิร์มที่ได้รับบริจาคเพื่อผสมเทียมตัวเองให้บ่อยที่สุดระหว่างวันที่ 9 ถึง 15 ของรอบการมีประจำเดือนของเธอ จนกระทั่งในวันที่ 20 แปดของรอบประจำเดือนของเธอ เธอก็กินยาสมุนไพรเพื่อขับเลือดหรือทำการแท้งบุตร แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม

ชวาร์ตส์ตั้งใจจัดแสดงวิดีโอตอนที่เธอขับเลือดออกทางช่องคลอดพร้อมกับอุปกรณ์จัดแสดงที่ทำให้มันดูเป็นงานศิลปะ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2008 Yale Daily News ได้พิมพ์บทความเกี่ยวกับนิทรรศการนักศึกษาสิ้นปีซึ่งชวาร์ทซ์ระบุว่าเป้าหมายของโครงการนี้คือการจุดประกายการสนทนาและการถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับร่างกายมนุษย์ (ดูงานชิ้นนี้บางส่วนได้ที่เว็บไซต์ของเธอ)

ชวาร์ตส์บอกว่า "ฉันเชื่ออย่างยิ่งว่าศิลปะควรเป็นสื่อสำหรับการเมืองและอุดมการณ์ ไม่ใช่แค่สินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น ฉันคิดว่าฉันกำลังสร้างโปรเจ็กต์ที่มีสถานะตามมาตรฐานของศิลปะที่ควรจะเป็น"

หลังจากนั้น สื่อในวงกว้างอย่าง Gawker และ Drudge Report หยิบเรื่องนี้ขึ้นมารายงานและเรื่องนี้ก็เผยแพร่อย่างรวดเร็วและสื่อกระแสหลักรายงานเกี่ยวกับผลงานของชวาร์ตส์ในอีกไม่กี่วันต่อมาทำให้กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวในวงกว้างเนื่องจากการทำแท้งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่แค่ในสหรัฐแต่สะเทือนคนทั่วโลก

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นข้ามโลกทำให้มหาวิทยาลัยเยลต้องออกข่าวชี้แจงโดยอ้างว่างานศิลปะชิ้นนี้เป็น "สร้างสรรค์จากจินตนาการ" ที่ผนวกเอา "การนำเสนอในเชิงทัศนะศิลป์ การแถลงข่าว และวัสดุสำหรับใช้บรรยายความอื่นๆ" เห็นได้ชัดว่าทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธปฏิเสธความรับผิดชอบของสถาบันใดๆ กับการแสดงนี้ และยังแสดงท่าทีปฏิเสธด้วยว่าการแสดงของชวาร์ทซ์ไม่ใช่เรื่องจริง

ชวาร์ตส์ยืนยันว่าการแสดงของเธอเป็นเรื่องจริง โดยเขียนบทความรับเชิญใน Yale Daily News โดยสังเกตว่าความคลุมเครือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดง เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานชิ้นนี้

แต่โรเบิร์ต สตอร์ (Robert Storr) คณบดีวิทยาลัยศิลปะของเยลขู่ว่าจะห้ามไม่ให้ชวาร์ตส์แสดงโครงการของเธอ เว้นแต่เธอจะสารภาพเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโครงการนี้เป็นเป็นเรื่องจำลองขึ้นและไม่มีการใช้เลือดของมนุษย์

ชวาร์ตส์ปฏิเสธและส่งโครงการที่ดัดแปลงแล้วเป็นวิทยานิพนธ์อาวุโส (Senior Thesis) ของเธอ ในท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยเยลยอมรับว่ามหาวิทยาลัย “ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่านางสาวชวาร์ตส์ได้กระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเธอในการดำเนินโครงการดั้งเดิมของเธอหรือไม่”

หลังจากที่เป็นประแสนานนับเดือน งานชิ้นนี้ทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรง เจค็อป เอ็ม. แอปเพิล (Jacob M. Appel) นักชีวจริยธรรมของมหาวิทยาลัยบราวน์เขียนไว้ใน Washington Post ว่า "ประวัติศาสตร์ของศิลปะอันยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งและความไม่พอใจอย่างแรงกล้า" พร้อมกับยกย่องชวาร์ตส์เทียบเท่ากับศิบลปินที่แหวกขนบเดิมๆ และทำให้สังคมตื่นตกใจ เช่น มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp)

เว็บไซต์อนุรักษ์นิยมและต่อต้านการทำแท้งตลอดจนกลุ่มและสื่อที่ต่อต้านการทำแท้งต่างวิพากษ์วิจารณ์งานศิลป์นี้และประณามมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้งานนี้เกิดขึ้น เท็ด มิลเลอร์ (Ted Miller) โฆษกของกลุ่มสิทธิการทำแท้ง NARAL Pro-Choice America เรียกโครงการนี้ว่า "น่ารังเกียจและไม่รู้สึกอ่อนไหวต่อผู้หญิงที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการแท้งบุตร" แวนด้า ฟรานซ์ (Wanda Franz) นักต่อต้านการทำแท้งและประธานคณะกรรมการสิทธิในชีวิตแห่งชาติ (NRLC) ซึ่งเป็นกลุ่มคัดค้านการทำแท้งที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐ ประณามงานชิ้นนี้ว่า "ต่ำช้า"

งานชิ้นนี้สะท้อนถึงการปะทะกันระหว่างความต้องการของศิลปะที่จะแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง แต่สังคมยังขัดแย้งกันจนยอมรับไม่ได้ รวมถึงมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับการแสดงจุดยืนแบบนี้ มันเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นในดินแดนที่เสรีอย่างสหรัฐ ที่การทำแท้งยังเป็นประเด็นอ่อนไหวมากๆ

ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มช. ผู้เป็นหนึ่งในบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีความขัดแย้งเรื่องงานศิลปะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 23 มี.ค. ว่า "‘ศิลปะ’ และ ‘เสรีภาพ’ นั้น ความจริงสะกดออกเสียงต่างกัน แต่มีความหมายเดียวกัน ยิ่งปราบ ก็ยิ่งระเบิด ยิ่งมีอำนาจมาก ก็ยิ่งถูกต่อต้านมาก โรงเรียนศิลปะต่างจากบ่อเลี้ยงลูกน้ำยุงลาย ด้วยประการเช่นนี้"

แต่มีบางกรณีที่เสรีภาพ ศิลปะ กับการเมือง ผสมผเสกันจนทำให้สังคมถึงกับสตั้นจนทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน

ภาพจาก - Aliza Shvarts ใน www.alizashvarts.com