posttoday

กองทัพเมียนมาที่ไม่มีใครคบ

23 มีนาคม 2564

แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังต้านไม่ไหว และการสร้างพันธมิตรต่อต้านเผด็จการยังเป็นงานที่ยากเย็น

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนที่บทความนี้จะถูกเขียนขึ้น รัฐบาลรัฐประหารของเมียนมาได้ลบชื่อ "กลุ่มกบฏอาระกัน" ออกจากรายชื่อกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย” เนื่องจากฝ่ายดังกล่าวหยุดการโจมตีเพื่อช่วยสร้างสันติภาพทั่วประเทศ

"กลุ่มกบฏอาระกัน" ที่ว่านี้คือ กองทัพอาระกัน (Arakan Army/AA) ที่เคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตนเองของชาวอาระกันหรือชาวยะไข่ แม้ว่าชื่อจะบอกว่าเป็นอาระกันในภาคใต้ แต่ AA เคยมีฐานที่ในในรัฐคะฉิ่นเพราะเคยไปฝึกรบที่นั่นและยังร่วมการต่อสู้เพื่อการปกคตรองตนเองของชาวคะฉิ่นในภาคเหนือด้วย ในเวลาต่อมาจึงค่อยไปปฏิบัติการในภาคตะวันตกเฉียงใต้ทั้งในรัฐยะไข่และในรัฐชิน

AA และกองทัพเมียนมาหรือ "ตะมะดอ" รบกันอย่างหนักหน่วงหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และถือเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุดกลุ่มหนึ่งในบรรดากองทัพชนกลุ่มน้อย แถมยังมีข่าวว่า AA ได้รับการสนับสนุนจากจีน แต่เท่าที่มีหลักฐานบยืนยันได้ AA นำเข้าอาวุธจากจีนเป็นหลักซึ่งคาดว่ามาจากตลาดมืด

ในเมื่อรบกันจะเป็นจะตายขนาดนี้แล้วทำไม "ตะมะดอ" ถึงยอมปลดชื่อ AA จากบัญชีผู้ก่อการร้าย?

กองทัพเมียนมาที่ไม่มีใครคบ

คำตอบก็คือ ตะมะดอต้องการหาพันธมิตรในช่วงเวลาที่ประชาชนทั้งประเทศลุกฮือต่อต้าน และกองทัพชนกลุ่มน่อยอื่นๆ ไม่สังฆกรรมกับตะมะดออยู่แล้ว และยังอาจจะร่วมมือกับประชาชนร่วมโจมตีตะมะดออีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาบางรายบอกว่าการที่ตะมะดอถอนชื่อ AA ก็เพราะต้องการให้ AA หยุดรบกวนเพื่อที่จะไปจัดการกับการลุกฮือของประชาชนได้เต็มที่

ในวันเดียวกับที่ตะมะดอประกาศปลดชื่อ AA จากบัญชีผู้ก่อการร้าย (วันที่ 11 มีนาคม) คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งและรวมตัวกันขึ้นเพื่อเป็นเสมือนตัวแทนประชาชนและเสมือนเป็นรัฐบาลประชาชนต่อต้านรัฐประหารได้ประกาศถอนชื่อ AA จากบัญชีผู้ก่อการร้ายเช่นกัน

ทั้งตะมะดอและ CRPH (ต่อไปนี้จะเรียกว่าสมัชชาประชาชน) ทำแบบเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าต่างฝ่ายต่างแย่ง AA มาเป็นพวกตัวเอง เพื่อฟอร์มพันธมิตรโจมตีกันเอง

ตั้งแต่การยึดอำนาจเกิดขึ้น AA ไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลยเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่คนยะไข่ก็ยกขบวนประท้วงตะมะดอกันอย่างไม่หยุดหย่อน ราวกับว่ากำลังรอดูสถานการณ์

จนมีกระแสคาดการณ์ว่า AA คงจะเลือกคบกับฝ่ายรัฐประหารแล้วกระมัง?

กองทัพเมียนมาที่ไม่มีใครคบ

ในขณะที่สมัชชาประชาชนเดินสายประชุมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะร่วมกันต่อต้านการทำรัฐประหารและปกป้องประชาชน ยืนยันในหลักการ "สหพันธรัฐ" ที่ชนชาติและรัฐต่างๆ ในเมียนมาจะมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน

จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม AA ก็แสดงท่าทีในที่สุด ซึ่งเป็นท่าทีที่ชัดเจนว่าพวกเขาเลือกเส้นทางไหน

กองทัพอาระกัน (AA) เลือกที่จะร่วมวงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในการประณามการรัฐประหารของกองทัพและการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงที่ตามมา

ข่าย ตุ๊ คะ (Khine Thu Kha) โฆษกของ AA กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่ผู้บริสุทธิ์ถูกยิงเสียชีวิตทั่วเมียนมา ... การกระทำของกองทัพและตำรวจเมียนมาในปัจจุบันเป็นเรื่องที่โหดร้ายและไม่สามารถยอมรับได้" และบอกว่า AA จะ "ร่วมกัน ... กับประชาชน"

นอกจากนี้พวกเขาจะ "เดินหน้าต่อไปเพื่อชาวยะไข่ที่ถูกกดขี่" และ "คนชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่โดยรวมจะยังคงต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากการกดขี่"

คำแถลงนี้ประณามกองทัพแต่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะร่วมจับมือการประสานพันธมิตรของสมัชชาประชาชนกับกองทัพชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตะมะดอหมดโอกาสที่จะสานพันธมิตรกับ AA

กองทัพเมียนมาที่ไม่มีใครคบ

ดูเหมือนว่าตะมะดอจะเหลือกองทัพชนกลุ่มน้อยไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ยังพบคบหากันได้ หนึ่งในนั้นคือ กองทัพรวมรัฐว้า (UWSA) ซึ่งมีแสนยานุภาพมาก (และมีรายงานว่าได้อาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน ซึ่งก็เช่นเดียวกับ AA คือยืนยันได้ได้ว่า "ทางการจีน" มอบให้ และในกรณีของ UWSA จีนปฏิเสธแข็งขันว่าไม่ได้ส่งอาวุธให้ แม้ว่าอาวุธเหล่านั้นจะไฮเทคมากจนยากจะได้มาง่ายๆ ก็ตาม)

ความพิเศษของ UWSA พวกเขาแกร่งมากจนกระทั่งเปลี่ยนสถานะตัวเองตามใจชอบจาก "เขตปกครองตนเองว้า" มาเป็น "รัฐว้า" ที่มีอำนาจปกครองตนเองราวกับ "รัฐซ้อนรัฐ" โดยที่รัฐบาลพลเรือนของเมียนมาได้ไม่เห็นชอบ แต่กองทัพเมียนมาเห็นชอบ

ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจก่อนว่า ก่อนที่ตะมะดอจะทำรัฐประหาร เมียนมาก็มิได้มีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่มีรัฐบาลพลเรือนที่ต้องแบ่งอำนาจกับกองทัพและกองทัพมีอำนาจเอกเทศแบบที่รัฐบาลไปแตะต้องอะไรไม่ได้ด้วย

ด้วยความที่ตะมะดอมีพวก UWSA เป็นพันธมิตร (และเป็นพันธมิตรที่แกร่งเอาการ) ตะมะดอจึงพอที่จะมีไม้มีมือเอาไว้คอยจัดการฝ่ายตรงข้ามได้บ้าง

นอกจากนี้ การฟอร์มพันธมิตรที่นำโดยสมัชชาประชาชนยังเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะในหมู่ชนกลุ่มน้อยก็มีความขัดแย้งกันเองสูง อย่างเช่นนั้นในรัฐฉาน มีทั้งรัฐซ้อนรัฐอย่างพวก UWSA ในทั้งกองทัพของชาวไทใหญ่ที่ทะเลาะกันเองคือ กองทัพรัฐฉานใต้ (SSA-S) ที่ดอยไตแลงกับกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) ที่ดอยแหลม

SSA-S คบหากับ AA แต่สู้กับ UWSA ของพวกว้าและกองทัพ TNLA ของชาวตะอางที่อยู่ในรัฐฉานทั้งคู่ แต่ SSA-N เป็นพันธมิตรกับ TNLA ซะยังงั้น

นี่คือความซับซ้อนของปัญหาชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งหากตะมะดอใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้ และพวกเขาคงจะใช้มันอย่างแน่นอน

ในกรณีของ AA ที่ตะมะดอปลดจากบัญชีก่อการร้ายนั้น ตะมะดอคงทำไปเพื่อ "โยนหินถามทาง" ไปยังพวกยะไข่ ปรากฎว่าพวกนั้นใช้เวลานานหลายวันกว่าจะคิดได้ว่าควรจะอยู่ฝั่งไหน คือฝั่งไม่เอากองทัพเมียนมานั่นเอง

กองทัพเมียนมาที่ไม่มีใครคบ

ถามว่าเรื่องนี้คาดเดาได้หรือไม่ ตอบว่าคาดเดาได้เพราะ AA รบกับตะมะดออย่างหนักหน่วงจนการคบหากันเป็นพันธมิตรแทบจะเป็นไปไม่ได้ และการถอนชื่อจากบัญชีก่อการร้ายก็ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่เย้ายวนใจนัก

ข้อเสนอจากตะมะดอนอกจากข้างต้นแล้วก็แค่บอกว่าต้องการหยุดยิงเพื่อ "สันติภาพที่ยั่งยืนนิรันดร" ซึ่งเป็นคำสัญญาเปล่าๆ เปลืองๆ มาก หากจะพิจารณาจากพฤติกรรมของตะมะดอในอดีต และพฤติการณ์สังหารประชาชนที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งที่ AA ต้องการนั้นคือการให้อำนาจปกครองตนเองและสถานะเหมือนรัฐว้า

ตวัน มรัต นายง์ (Twan Mrat Naing) ผู้บัญชาการของ AA เคยตอบการสัมภาษณ์กับ The Irrawaddy ถึงสิ่งที่เขาต้องการเอาไว้ว่า "ไม่ว่าจุดประสงค์คือเพื่อให้ได้มาซึ่งสหพันธรัฐ, ประชาธิปไตย หรือสถานะสมาพันธ์ที่เป็นอิสระมากขึ้น เช่นเดียวกับรัฐว้า เป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มคือการได้รับสถานะสมาพันธ์สำหรับรัฐยะไข่ และเราชอบสถานะที่เป็นพันธมิตรกันเช่นเดียวกับรัฐว้า ซึ่งมีส่วนแบ่งอำนาจมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญ”

คำว่า "สมาพันธ์" (confederate status) ที่เขาเอ่ยถึงคือสถานะแบบ "รัฐซ้อนรัฐ" ที่พวกว้ามีซึ่งรัฐบาลพลเรือนไม่ยอมรับ แต่กองทัพให้ได้ คำถามก็คือตอนนี้กองทัพมีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วจะยอมให้สถานะนี้พวกยะไข่หรือไม่

ท่าทีของ AA ค่อนข้างชัดแล้วว่าพวกตะมะดอไม่ยอมให้แน่ๆ

ตอนนี้เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่พวกยะไข่ต้องการคือระบอบการปกครองแบบ Confederation ซึ่งรัฐต่างๆ รวมตัวกันหลวมๆ และมีอำนาจปกครองตนเองมาก ต่างจากระบบ Federation ที่เป็นการรวมตัวของรัฐต่างๆ เช่นกัน แต่อำนาจปกครองตนเองน้อยกว่า

ตอนนี้สมัชชาประชาชนกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ชูธง Federation กันอยู่ ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมของการก่อตั้งประเทศเมียนมา แต่ถูกกองทัพทำลายหลักการนี้ไปและกุมอำนาจโดยกดขี่ชนกลุ่มน้อย เมียนมาจึงเป็นสหพันธรัฐหรือสหภาพแต่ชื่อ ในทางปฏิบัติมันคือรัฐเดี่ยวที่ทหารกุมอำนาจแต่ลำพัง

กองทัพเมียนมาที่ไม่มีใครคบ

เพื่อที่จะดึงดูดกองกำลังชนกลุ่มน้อย สมัชชาประชาชนจะต้องชูหลักการเดิมของชาติคือ Federation เพื่อสร้างกองทัพสหพันธรัฐ หรือ Federal army เพื่อรวมตัวกันต่อต้านตะมะดอ พร้อมกับประกาศให้ตะมะดอเป็นผู้ก่อการร้าย แสดงว่าแรวร่วมนี้ตั้งตนเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลแล้ว

ในขณะที่ตะมะดอไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยอื่นมีอำนาจปกครองตนเองจริงๆ ตามหลัก Federation พวกเขากลับใช้ไพ่ Confederation กับรัฐว้าและดูเหมือนว่ากองทัพอาระกันต้องการมันด้วย แต่คงไม่ได้สมใจจึงไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย

กองทัพเมียนมาหรือตะมะดอมีแสนยานุภาพมาก พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ไพ่นี้แบบฟุ่มเฟือย เพียงแค่ใช้มันกับว้าก็พอเพราะในรัฐฉานเองพวกไทใหญ่ก็ยังทะเลาะกันเอง

ในเวลานี้ กองกำลังที่รัฐคะฉิ่น (KIA) และกะเหรี่ยง (KNU) เริ่มปะทะกับตะมะดอแล้ว เราต้องจับตากันต่อไปว่าการเคลื่อนไหวนี้จะช่วยเสริมแรงให้ Federal army ต่อต้านเผด็จการหรือไม่ หรือว่าจะมีเหตุไม่คาดฝันทำให้ชนกลุ่มน้อยขัดขากันเองอีก?

สถานการณ์ตอนนี้คล้ายกับหลังการกวาดล้างของกองทัพหลังการลุกฮือกรณี 8888 คือนักเคลื่อนไหวรวมถึงนักข่าวที่หลบหนีระบอบการปกครองของทหาร หลายร้อยคนได้ลี้ภัยในพื้นที่ที่ควบคุมโดยกองทัพชนกลุ่มน้อยในรัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา รัฐมอญ และรัฐฉานตามแนวชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมากับไทย

มันเหมือนกันตรงที่มีการหนีจากเมืองเข้าป่ามาจับปืนและมีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลสู้กับทหาร แต่สุดท้ายรัฐบาลเฉพาะกาล (แบบเดียวกับสมัชชาประชาชนตอนนี้) ไม่มีประสิทธิภาพจนต้องสลายตัวไปในที่สุด

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by STR / AFP