posttoday

วอลลิส ซิมป์สัน หญิงหม้ายอเมริกันผู้ทำให้กษัตริย์อังกฤษต้องสละบัลลังก์

09 มีนาคม 2564

เมแกน มาร์เคิล ไม่ใช่ผู้หญิงอเมริกันคนแรกที่แต่งงานกับราชวงศ์อังกฤษและไม่ใช่อเมริกันคนแรกในราชวงศ์อังกฤษที่ทำให้โลกต้องตะลึง

เรื่องราวความรักของเจ้าชายแฮร์รี่ และเมแกน มาร์เคิล ที่นำมาสู่การประกาศสละยศถาบรรดาศักดิ์และออกจากการเป็นสมาชิกราชวงศ์ มีความคล้ายคลึงกับความรักที่สั่นคลอนราชบัลลังก์อังกฤษของหญิงชาวอเมริกันที่ชื่อว่า วอลลิส ซิมป์สัน และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน

วอลลิส ซิมป์สัน เป็นสาวสังคมชาวอเมริกันจากเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ ก่อนที่จะครองคู่กับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เธอผ่านการแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง และแต่ละครั้งก็ค่อนข้างโลดโผน

สามีคนแรกของเธอคือ เอิร์ล วินฟิลด์ สเปนเซอร์ นักบินของกองทัพเรือสหรัฐ ทั้งคู่อยู่กินด้วยกัน 11 ปี โดยระหว่างนี้มีการแยกกันอยู่เป็นระยะ ก่อนที่จะกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งหลังจากสเปนเซอร์ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการเรือรบยูเอสเอส แพมแพงกา (USS Pampanga) โดยระหว่างนี้ วอลลิส ซิมป์สัน ยังแอบมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ เฟลิเป เด เอสปิล นักการทูตอาร์เจนตินา

วอลลิสมีโอกาสตามสามีไปทำงานที่ประเทศจีน และที่แห่งนี้เองที่เธอนอกใจสามีอีกครั้ง จากปากคำของ มิลตัน อี. ไมล์ส ภรรยาของเพื่อนร่วมงานของสเปนเซอร์ วอลลิสได้พบกับ กาลีอัซโซ เชียโน ซึ่งภายหลังได้เป็นบุตรเขยของมุสโสลินี อดีตผู้นำฟาสซิสต์ของอิตาลี ที่กรุงปักกิ่ง

ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันจนกระทั่งวอลลิสตั้งครรภ์ และมีข่าวลือว่าเธอต้องแอบไปทำแท้งจนทำให้เธอไม่สามารถมีลูกได้อีกตลอดชีวิต ทว่าข่าวลือนี้ไม่เคยได้รับการยืนยัน แม้แต่ เอ็ดดา มุสโสลินี ภรรยาของเชียโนก็ปฏิเสธเช่นกัน

ก่อนหย่ากับสามีคนแรกวอลลิสได้พบกับ เออร์เนสต์ อัลดริช ซิมป์สัน ผู้บริหารบริษัทขนส่งทางเรือผู้มั่งคั่ง หลังจากวอลลิสหย่า ซิมป์สันจึงหย่ากับภรรยาที่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คนเพื่อมาแต่งงานกับวอลลิส โดยเธอตอบโทรเลขขอแต่งงานของซิมป์สันมาจากเมืองคานส์ของฝรั่งเศส

เรื่องราวความรักสุดซับซ้อนและสั่นคลอนบัลลังก์อังกฤษเริ่มขึ้นระหว่างการแต่งงานครั้งที่สองของวอลลิส

วอลลิสได้รู้จักกับเลดี้เฟอร์เนส ภรรยาเก็บของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ปรินซ์แห่งเวลส์ (ยศในขณะนั้นของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8) ผ่าน คอนซูเอโล ธอว์ เพื่อนของเธอซึ่งเป็นพี่น้องกับเลดี้เฟอร์เนส และเลดี้เฟอร์เนสนี่เองที่ทำให้วอลลิสได้พบกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี 1931

ระหว่างปี 1931-1934 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ปรินซ์แห่งเวลส์ พระโอรสในพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี่ หรือแมรี่ ออฟ เท็ค และเป็นมกุฎราชกุมารของราชวงศ์อังกฤษ ได้พบกับสองสามีภรรยาซิมป์สันในงานปาร์ตี้หลายครั้ง

กระทั่งเมื่อเดือน ม.ค. 1934 ขณะที่เลดี้เฟอร์เนสเดินทางไปนิวยอร์กของสหรัฐ วอลลิสได้ตกเป็นภรรยาเก็บของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด แต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดปฏิเสธกับพระบิดาแม้จะมีคนในวังเห็นทั้งคู่อยู่บนเตียงด้วยกันและ มีหลักฐานว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันก็ตาม

แต่สุดท้ายแล้ววอลลิสก็มาแทนที่เลดี่เฟอร์เนส ส่วนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ตีตัวออกห่างจาก ฟรีดา ดัดลีย์ วอร์ด สาวคนสนิทซึ่งเป็นทายาทนักธุรกิจสิ่งทอชาวแองโกลอเมริกัน จนเหลือเพียงวอลลิสที่อยู่ข้างกาย

จากคำบอกเล่าของผู้เขียนบันทึกชีวประวัติ ช่วงปลายปี 1934 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดหลงใหลวอลลิสมากถึงขั้นที่ผู้เขียนใช้คำว่า เจ้าชายทรงเป็น “ทาส” ของวอลลิส ส่วนวอลลิสระบุว่าเธอตกหลุมรักเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดระหว่างล่องเรือยอชต์ Rosaura กับเจ้าชายเมื่อเดือน ส.ค. 1934

ปี 1934 ในงานปาร์ตี้ตอนค่ำที่พระราชวังบักกิงแฮม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงแนะนำวอลลิสกับสมเด็จพระราชินีแมรี่พระมารดาซึ่งทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 กริ้วมาก เนื่องจากประวัติการแต่งงานที่ผ่านมาของวอลลิส เพราะตามธรรมเนียมหญิงที่ผ่านการหย่าร้างจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชสำนัก

ทว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกลับไม่แคร์ ทั้งยังทรงปรนเปรอทั้งเงินและเครื่องประดับต่างๆ ให้วอลลิส เมื่อปี 1935 ทั้งคู่เดินทางไปเที่ยวยุโรปด้วยกันถึง 2 ครั้ง ซึ่งทำให้ทางสำนักพระราชวังเริ่มไม่พอใจ เนื่องจากความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มกระทบกับการปฏิบัติพระกรณียกิจของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

เหตุการณ์พลิกผันของราชวงศ์อังกฤษเกิดขึ้นหลังจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 สวรรคตเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 1936 ทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระบิดา และยืนยันว่าจะทรงอภิเษกสมรสกับวอลลิส ทว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีแล้วพระองค์ไม่สามารถอภิเษกสมรสกับหญิงที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้วและอดีตสามียังมีชีวิตอยู่ และขณะนั้นวอลลิสกำลังดำเนินการหย่ากับสามีคนที่ 2  

ขณะนั้นมีเสียงซุบซิบกันว่าวอลลิสต้องการแต่งงานกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เพราะต้องการเงินและยศฐาบรรดาศักดิ์มากกว่าเพราะความรัก และมีการคัดค้านเป็นวงกว้าง หากพระองค์ยังดึงดันจะทรงอภิเษกสมรสแล้วยกย่องวอลลิสให้เป็นพระราชินี คณะรัฐบาลจะต้องลาออกทั้งคณะ ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ

หนทางเดียวที่พระองค์จะได้ครองคู่กับวอลลิสก็คือการสละบัลลังก์ และแล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ก็ทรงทำในสิ่งที่ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วในเดือน ธ.ค. 1936  หลังจากนั้นเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุคแห่งยอร์ก พระอนุชา จึงขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อในนาม พระเจ้าจอร์จที่ 6

การหย่าร้างกับสามีคนที่ 2 ของวอลลิสเสร็จสิ้นในเดือน พ.ค. 1937 ทั้งคู่เสกสมรสกันเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ในปีเดียวกันที่ฝรั่งเศสโดยไม่มีสมาชิกครอบครัวของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมาร่วมงานสักคน

แม้ว่าพระเจ้าจอร์จที่ 6 จะทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเป็นดยุคแห่งวินด์เซอร์ก่อนที่ทั้งคู่จะเสกสมรสกัน ซึ่งทำให้วอลลิสได้เป็นดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ไปด้วย แต่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฐานันดร Royal Highness

นอกจากนี้ ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ยังไม่ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์อังกฤษทั้งพระราชินีแมรี่ พระมารดาของดยุคแห่งวินด์เซอร์ พระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ หรือต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ พระราชชนนี (The Queen Mother) พระมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ พระราชชนนีทรงไม่พอพระทัยที่การสละราชบัลลังก์ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำให้พระสวามีของพระองค์ต้องขึ้นเป็นกษัตริย์แบกภาระหน้าที่อันใหญ่หลวง

ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งดยุคและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าสนับสนุนกลุ่มนาซี เนื่องจากทรงเดินทางไปพบกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เยอรมนีในปี 1937 และยังถูกสื่ออังกฤษวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการช็อปปิ้งอย่างฟุ่มเฟือยในสหรัฐในขณะที่อังกฤษประสบปัญหาจนต้องมีการปันส่วนและขาดแคลนไฟฟ้า

วอลลิส ซิมป์สัน หญิงหม้ายอเมริกันผู้ทำให้กษัตริย์อังกฤษต้องสละบัลลังก์

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดยุคและดัชเชสทรงเลือกพำนักอยู่ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส จนกระทั่งดยุคแห่งวินด์เซอร์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1972

หลังจากนั้นดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ได้ใช้ชีวิตตามลำพังและไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชน โดยอาศัยเงินจากทรัพย์สินของดยุคแห่งวินด์เซอร์และเงินช่วยเหลือจากสมเด็จพระราชินี

ปี 1980 วอลลิส ซิมป์สัน เริ่มพูดไม่ได้ และในช่วงบั้นปลายเธอต้องนอนติดเตียงโดยไร้ญาติมิตรไปเยี่ยมเยียน นอกจากแพทย์และพยายาล กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 1986 ที่บ้านในกรุงปารีสในวัย 89 ปี

ขณะที่ เมแกน มาร์เคิล นักแสดงชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายแอฟริกันก็เคยผ่านการแต่งงานกับ เทรเวอร์ เองเกลสัน โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ก่อนจะหย่าร้างกันในปี 2013 และเดทกับ โครี วิทิเอลโล เชฟชื่อดังชาวแคนาดาเกือบ 2 ปี ก่อนจะเลิกรากันในปี 2016 และเริ่มความสัมพันธ์กับเจ้าชายแฮร์รี่ในเดือน มิ.ย.ปีเดียวกัน

ช่วงแรกๆ เมแกนเป็นที่ชื่นชอบของสื่ออังกฤษ เพราะเธอคือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แต่หลังจากนั้นมาร์เคิลกลับเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกสื่อแท็บลอยด์อังกฤษวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

เมแกนถูกโจมตีทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะพระตำหนักฟร็อกมอร์ที่ประทับที่ใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาล การวางตัวในที่สาธารณะ หรือแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดีย จนนำมาสู่การประกาศสละฐานันดรศักดิ์และออกจาการเป็นสมาชิกราชวงศ์เมื่อปีที่แล้วตามรอยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 

ต่างกันเพียงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 คือกษัตริย์ของอังกฤษ แต่เจ้าชายแฮร์รี่ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 6 การแต่งเข้าราชวงศ์ของมาร์เคิลอาจไม่กระทบกับราชบัลลังก์เท่ากับกรณีของวอลลิส 

ภาพ Le Nouvelliste d'Indochine, 14 novembre 1937 (Public Domain)