posttoday

วัคซีนพาสปอร์ตจะฟื้นท่องเที่ยวไทยได้จริงหรือ?

03 มีนาคม 2564

ขณะที่ผู้นำหลายประเทศกำลังพิจารณาวัคซีนพาสปอร์ตก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน

หลังจากหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนต้าน Covid-19 ให้ประชาชน บรรดาผู้นำประเทศเริ่มนำแนวคิดเรื่องการใช้ “วัคซีนพาสปอร์ต” หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนมาพิจารณา ด้วยความหวังว่าวัคซีนพาสปอร์ตจะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก Covid-19

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษเผยว่า การใช้วัคซีนพาสปอร์ตเป็นประเด็นที่ลึกและซับซ้อน หากนำมาใช้อาจเป็นการกีดกันประชาชนที่ไม่สามารถฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางการแพทย์หรือความสมัครใจที่จะไม่ฉีด

ด้านนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์ ประกาศผ่านเฟซบุ๊คว่า สิงคโปร์กำลังหารือเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตกับประเทศอื่นๆ และเอ่ยว่าวัคซีนพาสปอร์ตเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของโลก

ขณะที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีเผยหลังการประชุมร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปว่า ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตในอนาคต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะคนที่มีพาสปอร์ตนี้เท่านั้นที่จะเดินทางท่องเที่ยวได้

เช่นดียวกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เผยว่าไทยกำลังพิจารณาวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศที่มีสัดส่วนถึง 11% ของจีดีพี

แนวคิดวัคซีนพาสปอร์ตได้รับการตอบรับอย่างดีในประเทศยุโรปตอนใต้ที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อาทิ สเปน กรีซ โดยกรีซและไซปรัสเตรียมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากอิสราเอลที่มีพาสปอร์ตวัคซีนในช่วงซัมเมอร์นี้ เช่นเดียวกับเดนมาร์กและสวีเดน

ขณะนี้มีประเทศอิสราเอลเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้วัคซีนพาสปอร์ตที่เรียกว่า “Green Pass” ซึ่งออกให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยพาสปอร์ตนี้จะมีอายุ 6 เดือน ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเข้าร่วมอีเว้นต์ต่างๆ ร้านอาหาร สระว่ายน้ำสาธารณะ เป็นต้น

สำหรับไทยที่หวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องเตรียมใจว่านักท่องเที่ยวอาจเข้ามาไม่มาก เนื่องจากการฉีดวัคซีนยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี หรือผู้มีโรคประจำตัว บวกกับหลายประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังฉีดวัคซีนได้ไม่ทั่วถึง เช่น จีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยเป็นอันดับต้นๆ ประกาศว่า ปีนี้จะฉีดวัคซีนได้เพียง 40% ของพลเมืองเท่านั้น และในจำนวน 40% นี้นับรวมทั้งคนที่ฉีดเข็มเดียวและสองเข็ม

หมายความว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมีวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อเดินทางเข้าไทยมีเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่แนะนำให้ประเทศต่างๆ ใช้วัคซีนพาสปอร์ตเป็นข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น และยังไม่แน่ชัดว่าประสิทธิภาพของวัคซีนคงอยู่ได้นานเท่าใด

นอกจากประเด็นเรื่องสุขภาพแล้ว หลายฝ่ายแย้งว่าวัคซีนพาสปอร์ตจะยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากพลเมืองในหลายประเทศต้องรอวัคซีนอีกหลายปี

รายงานของหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ Economist Intelligence Unit (EIU) ของนิตยสาร The Economist พบว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ในประเทศร่ำรวยจะได้รับวัคซีนราวกลางปีหน้า และระยะเวลาจะยืดออกไปจนถึงช่วงต้นปี 2023 สำหรับประเทศรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ และปี 2024สำหรับประเทศยากจน

ขณะนี้มีพลเมืองโลกได้รับวัคซีนเพียง 100 ล้านคนเท่านั้นจากประชากรทั้งหมด 7,780 ล้านคน และในไทยก็ยังไม่เริ่มฉีด หากไทยใช้วัคซีนพาสปอร์ตในการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ หรือใช้บริการในโรงแรม เข้าร่วมอีเว้นต์ต่างๆ คนอีกนับล้านที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีทางเลือกที่เรามีศักยภาพไม่แพ้การท่องเที่ยว นั่นคือ ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของชาว Digital Nomad หรือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตตามสถานที่ต่างๆ ของโลกโดยทำงานผ่านช่องทางออนไลน์

การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป จากที่เคยทำงานอยู่กับออฟฟิศก็หันมาทำจากที่บ้าน หรือจริงๆ ก็คือจะทำจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ เพียงแค่มีแล็ปท็อปและสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งบังเอิญเข้าทางชาว Digital Nomad

การสำรวจของบริษัทเทคโนโลยี MBO Partners พบว่า เมื่อปีที่แล้วชาวอเมริกันกว่า 10.9 ล้านคนเป็น Digital Nomad ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 50%

และเทรนด์นี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่าบรรดาบริษัทต่างๆ จะไฟเขียวให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้น ชาวอเมริกัน 19 ล้านคนเผยกับ MBO Partners ว่า พวกเขามีแผนจะผันตัวไปเป็นชาว Digital Nomad ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และอีก 45 ล้านคนบอกว่ากำลังพิจารณาตัวเลือกนี้อยู่

สำหรับไทย เว็บไซต์ France24 ระบุว่า เป็นสวรรค์สำหรับชาว Digital Nomad เพราะมีชายหาดที่สวยงามขึ้นชื่อในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หนึ่งในนั้นก็คือ เกาะพะงัน ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตของ ชาว Digital Nomad

ลอ มูมิวส์ Digital Nomad วัย 34 ปีจากกรุงปารีสที่ตัดสินใจเช่าห้องพักริมหาดบนเกาะพะงันเป็นที่ทำงานเผยกับ France24 ว่าเธอชอบที่นั่นมาก “ที่นี่คือสวรรค์สำหรับฉัน ฉันไม่เคยอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเท่านี้มาก่อนเลย”

หากรัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนเหล่านี้ อาทิ การออกวีซ่าพิเศษ คาดว่าไทยจะโกยเงินเข้าประเทศได้ไม่น้อยเช่นกัน เพราะนอกจากทำงานแล้ว คนกลุ่มนี้ยังต้องการเดินทางท่องเที่ยวหรือสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนฝูงเพื่อคลายเครียดด้วย