posttoday

โลกมีความหวังหรือยังต้องรอไป? เมื่อวัคซีนเริ่มสกัดการระบาดได้

22 กุมภาพันธ์ 2564

จับตาวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหลังอิสราเอลฉีดให้ประชาชนไปแล้วเกือบครึ่งประเทศ เผยได้ผลดีมากลดความเสี่ยงลงกว่า 95%

1. อิสราเอลซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนสูงที่สุดในโลก โดยได้เริ่มฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ให้กับประชาชนไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเผยว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างมีนัยสำคัญ

2. โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลกล่าวว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 49 ของประชากรทั้งหมด 9 ล้านคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว และความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง 95.8% สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม นอกจากนี้วัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาถึง 98.9%

3. ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยในช่วงวันที่ 17 ม.ค. ถึง 6 ก.พ. ที่ผ่านมาชี้ว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส 89.4% ด้านไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคเผยว่ากำลังดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลการฉีดวัคซีนในอิสราเอลและจะเปิดเผยข้อมูลทันที่เมื่อการวิเคราะห์เสร็จสมบูรณ์แล้ว

4. อย่างไรก็ตามรองศาสตราจารย์โซอี้ แมคลาเรน จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์บัลติมอร์เคาน์ตี้กล่าวว่าการศึกษาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวัดประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างแม่นยำเนื่องจากใช้ข้อมูลการทดสอบระดับชาติโดยไม่ได้พิจารณาถึงความแตกต่างของอัตราการทดสอบระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หมายความว่าประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาดที่แท้จริงของวัคซีนอาจต่ำกว่า 89.4% แต่จะเป็นเท่าไรนั้นจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

5. ทั้งนี้ ผลการทดลองวัคซีนในเฟส 3 เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 95% เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม นอกจากนี้ยังพบว่าได้ผลดีกับผู้สูงอายุด้วย

6. เช่นเดียวกับผลการศึกษาที่จัดทำโดยศูนย์การแพทย์ชีบาในอสราเอล ซึ่งตีพิมพ์ลงบนวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนซิตระบุว่าจากการทดลองโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นบุคลากรทางการแพทย์ราว 7,000 คนพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัส 85% ภายใน 15 ถึง 28 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 95% เมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่สองโดยเว้นระยะจากเข็มแรก 21 วัน

7. ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสกอตแลนด์ได้เปิดเผยผลการศึกษาเปรียบเทียบประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกและประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยพบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาการเจ็บป่วยรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยภายใน 4 สัปดาห์หลังเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศพบว่าวัคซีนจากไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคและแอสตราเซเนกาสามารถลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 ได้ถึง 85% และ 94% ตามลำดับ

8. อย่างไรก็ตามเมื่อปลายปีที่แล้วสำนักงานกำกับดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขขององักฤษ (MHRA) เตือนว่าผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้รุนแรงไม่ควรฉีดวัคซีนดังกล่าวหลังพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 รายมีผลข้างเคียงรุนแรง

9. นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาองค์การยานอร์เวย์ (NoMA) แถลงว่าพบผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนดังกล่าวเช่นกันซึ่งมีทั้งผลข้างเคียงรุนแรงและไม่รุนแรงตลอดจนมีผู้เสียชีวิต 33 ราย จากผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกทั้งหมด 55,000 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

10. ในเดือนเดียวกันนั้นศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐ (CDC) ชี้ว่าผู้เข้ารับวัคซีน 4,393 รายมีผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โดย 175 รายอาจมีโอกาสเกิดอาการแพ้รุนแรง ซึ่ง CDC ระบุว่าอาการแพ้รุนแรงเป็นอาการที่รุนแรงถึงชีวิตแต่เกิดไม่บ่อยนักหลังการฉีดวัคซีน

11. ต่อมา CDC เปิดเผยข้อมูลใหม่อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหลังฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นาให้กับประชาชนรวมกว่า 13.7 ล้านโดส พบว่ามีผลข้างเคียงกับประชาชน 6,994 ราย โดย 640 รายมีผลข้างเคียงรุนแรงซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิต 113 ราย โดยผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทครุนแรงมีจำนวน 46 ราย

12. ด้านผู้ผลิตวัคซีนยอมรับว่าหลังการฉีดวัคซีนอาจเกิดผลข้างเเคียงคล้ายอาการของโรคโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงอย่างเช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือหนาวสั่น แม้จะเป็นอาการไม่พึงประสงต์แต่เแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัย

13. อย่างไรก็ตามผลการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่าวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคอาจมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ (B.1.351) โดยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวลดลงราว 2 ใน 3 หรือกว่า 66% เมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น

14. ด้านไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคแถลงว่ากำลังพยายามหาแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพวัคซีนเพื่อให้สามารถรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

15. ขณะนี้ประเทศที่อนุมัติวัคซีนดังกล่าวให้ใช้งานได้ทั่วไป ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เซอร์เบีย ซาอุดิอาระเบีย หมู่เกาะแฟโร และสหภาพยุโรป และอีก 32 ประเทศอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

Photo by STEVEN SAPHORE / AFP