posttoday

เมื่อเผด็จการอาเซียนตามรอยจีนตั้งไฟร์วอลล์สกัดเสรีอินเทอร์เน็ต

18 กุมภาพันธ์ 2564

ประเทศอาเซียนกำลังเดินตามรอยรัฐบาลจีนด้วยการตั้งไฟร์วอลล์สกัดและเฝ้าดูการใช้อินเทอร์เน็ตของคนในประเทศ

หลังจากทำรัฐประหารกองทัพเมียนมาก็ออกคำสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ บล็อกโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม รวมถึงออกร่างกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ ไปจนถึงการบล็อกเครือข่าย VPN หรือ เครือข่ายส่วนตัวเสมือนที่ช่วยให้ชาวเมียนมาเชื่อม ต่อกับอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ถูกบล็อก ทั้งยังสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไว้ 3 ปีและหากรัฐบาลสั่งให้ส่งมอบก็ต้องทำ โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ

แต่ไม่ว่าเหตุผลของกองทัพจะเป็นอย่างไร แมตต์ วอร์เรน จากมหาวิทยาลัย RMIT ของออสเตรเลียมองว่า กองทัพเมียนมาอาจจะยืมโมเดลการสร้างไฟร์วอลล์เพื่อควบคุมตรวจสอบข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมาจากรัฐบาลจีน เพราะโมเดลของจีนเป็นตัวอย่างการควบคุมพลเมืองในโลกออนไลน์ของรัฐบาลแดนมังกร

การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของจีน หรือ Great Firewall เกิดมาจากแนวคิดว่าอินเทอร์เน็ตคือ อำนาจอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต เป็นแนวคิดที่ว่าอินเทอร์เน็ตในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของจีน และควรอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนเอง

Great Firewall ของจีนเป็นการตรวจสอบและสกัดกั้นข้อมูลบนโลกออนไลน์ของจีน โดยเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องการสื่อลามกอนาจาร ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในประเทศ หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งบล็อกโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์จากต่างประเทศ อาทิ กูเกิล เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ แต่บางครั้งชาวจีนมุดหนีกำแพงนี้ด้วยการใช้บริการ VPN

ไม่เฉพาะจีนเท่านั้น ช่วงไม่กี่ปีมานี้หลายประเทศในอาเซียนเริ่มเข้ามาควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศมากขึ้น ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ปกป้องคนในประเทศจากการโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ กระตุ้นการสร้างนวัตกรรมในประเทศ หรือเพื่อให้รัฐบาลสอดแนมและเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตได้สะดวกขึ้น ซึ่งความสนใจส่วนใหญ่อยู่ที่เหตุผลข้อหลังสุด เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

นอกจากเมียนมาแล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกันกัมพูชาก็ออกกฎหมายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ (NIG) เพื่อควบคุมโลกออนไลน์ และยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่งรายงานการใช้อินเทอร์เน็ตให้ทางการทราบเป็นระยะๆ ด้วย

กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดความวิตกว่า รัฐบาลกัมพูชาซึ่งปราบปรามผู้เห็นผ่านทางออนไลน์มากขึ้น จะใช้กฎหมายนี้ในการสอดแนมและปิดกั้นพลเมืองจากการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้รวมศูนย์อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในประเทศให้ควบคุมได้ในจุดเดียว (single internet gateway) ในแบบเดียวกับ Great Firewall ของรัฐบาลจีน ไปจนถึงให้เปิดช่องให้รัฐบาลบล็อกคอมเม้นต์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นเครื่องมือให้ ฮุน เซ็น ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ดี พาย สีพัน โฆษกรัฐบาลโต้ว่า กฎหมายนี้จำเป็น เพราะอินเทอร์เน็ตในกัมพูชาไม่เป็นระเบียบ และยังยืนยันว่ากฎหมายของกัมพูชาก้าวก่ายน้อยกว่ากฎในสหรัฐหรืออังกฤษ

ขณะที่เวียดนาม ที่ฝั่งหนึ่งเปิดให้ใช้อินเทอร์เน็ตกันอย่างเสรี แต่อีกฝั่งหนึ่งก็ไล่ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามที่เคลื่อนไหวในโลกออนไลน์อย่างเอาเป็นเอาตาย บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2019

เนื้อหาก็คล้ายกับของเมียนมาคือ ให้อำนาจรัฐบาลในการจับตาดูข้อมูลและการสื่อสารบนโลกออนไลน์ในประเทศ รวมถึงการบล็อกหรือลบเนื้อหาต่างๆ และกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้บริการในเวียดนามเกิน 10,000 คนต้องตั้งสำนักงานตัวแทนในท้องถิ่นและเก็บข้อมูลผู้ใช้ไว้ในเวียดนาม

ในขณะนั้นมีการแสดงความกังวลว่า กฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์จะกลายเป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และคนที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในโลกออนไลน์

แม้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Great Firewall ของจีน แต่กำแพงของเวียดนามไม่สูงเท่าของจีน เนื่องจากทางการเวียดนามไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของต่างชาติ

นักวิเคราะห์บางคนเปรียบเทียบกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ของเวียดนามกับ Great Firewall ของจีนที่องค์กรด้านประชาธิปไตย Freedom House จัดอันดับให้เป็นประเทศที่ละเมิดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกหลายปีซ้อน โดยพบว่าแม้กำแพงของเวียดนามจะไม่สูงเท่าของจีน เพราะไม่ได้ปิดกั้นเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าการควบคุมอินเทอร์เน็ตของเวียดนามเจริญรอยตามจีน

ขณะที่การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของไทยเริ่มจากการบล็อกเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ลามกอนาจาร และเว็บไซต์การพนัน จนกระทั่งปัจจุบันที่บังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง

เมื่อต้นปีที่แล้วบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี Comparitech ของอังกฤษ สำรวจการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ 174 ประเทศทั่วโลกเพื่อจัดอันดับว่าประเทศใดเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตเข้มงวดมากที่สุดในโลกประจำปี 2020 โดยยิ่งได้คะแนนสูงการเซ็นเซอร์ยิ่งเข้มงวด

ปรากฏว่าไทยได้ 6 จาก 10 คะแนน เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม

โดยรายงานระบุว่า ไทยจำกัดและแบนการเข้าถึงทอร์เรนต์ จำกัดและเซ็นเซอร์สื่อที่เกี่ยวข้องหรือนำเสนอประเด็นทางการเมืองอย่างหนัก โดยไม่ได้แบนการเข้าถึงสื่อลามก รวมถึงการใช้สื่อโซเชียลและ VPN ทั้งหมด