posttoday

สิ่งที่ไทยแพ้เวียดนามคือความเป็น "ชาตินิยม"

17 กุมภาพันธ์ 2564

คนไทย "บางคน" ชอบเปรียบไทยกับเวียดนามทั้งๆ ยังต่างชาติกัน แต่มีเรื่องหนึ่งที่เวียดนามเหนือชั้นกว่าไทย

เวียดนามไม่ถือเป็นประเทศระดับเดียวกับไทยในแง่ของรายได้ แต่เวียดนามมักจะถูกขึ้นมาเปรียบกับไทยหลายๆ เรื่องๆ ทั้งโดยคนไทยเองและคนเวียดนาม (สามารถส่องดูได้ตามโซเชียลมีเดียเช่น Facebook หรือ YouTube) ซึ่งเป็นการเปรียบที่ไม่ได้ลึกซึ้งหรือมีชั้นเชิงอะไร

ในแง่ของรายได้และระดับการพัฒนาแล้วไทยอยู่ในระดับที่พยายามจะให้หลุดจากกับดักประเทศปานกลางรายได้สูง หลุดจากนี้ไปได้ไทยจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งไทยมีเพื่อนอีกประเทศที่พยายามมานานแต่ไม่สำเร็จสักที คือมาเลเซีย

ดังนั้นถ้าจะเปรียบมวยแล้ว ควรเปรียบไทยกับมาเลเซียเพราะเป็นรุ่นเดียวกัน การเปรียบกับเวียดนามเป็นการวัดมวยคนละรุ่น ยากที่จะสมเหตุสมผล

แต่มีบางเรื่องที่เวียดนามได้เปรียบกว่าไทย อย่างเช่นมีประชากรคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากซึ่งจะเป็นพลังในการผลิตและใช้จ่าย ส่วนไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยที่มีกำลังการผลิตน้อยและคนใช้จ่ายน้อย หากไม่แก้จุดนี้ไทยจะเจริญแบบฮวบๆ แน่นอน

กับปัญหาจุดนี้ถึงแม้ว่าไทยจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเน้นกำลังซื้อภายในประเทศ แต่ถ้าคนในประเทศส่วนใหญ่เป็นคนชราที่ปลดเกษียณ กำลังซื้อก็จะชราภาพไปด้วย ธนาคารโลกเพิ่งจะเตือนว่า "ประชากรที่สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศไทย หมายความว่าส่วนแบ่งของวัยทำงานในกลุ่มประชากรจะลดลง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เรื่องนี้จะลดการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของ GDP ต่อหัวลง 0.86% ในปี 2020"

เทียบกับเวียดนาม จากรายงานสำมะโนประชากรปี 2019 พบว่า 55.5% ของประชากรมีอายุต่ำว่า 3 ปี ธนาคารโลกเตือนว่าเวียดนามกำลังเป็นสังคมคนชราอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่โชคยังดีที่ชนชั้นกลางที่ตอนนี้มีแค่ 13% จะกลายเป็น 26% ภายในปี 2026

เวียดนามไม่ได้มีแค่พลังของคนหนุ่มสาว แต่คนหนุ่มสาวยังมีพลังภายในคือความรู้สึกชาตินิยมที่หล่อหลอมตังแต่ชั้นเรียนไปจนถึงค่านิยมในสังคม

จะขอยกนิยามชาตินิยมเวียดนามที่นิยมไว้โดย Binh Le นักธุรกิจหนุ่มชาวเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ที่เขียนบทความแสดงความเห็นใน Nikkei Asia เขาบอกว่าในเวียดนามชาตินิยมเป็นความเชื่ออย่างถึงที่สุดในเอกลักษณ์ประจำชาติที่ถูกหล่อหลอมมาหลายพันปีเพื่อปกป้องมาตุภูมิจากผู้รุกรานที่ไร้ความปรานี "คุณจะไม่ภาคภูมิใจได้อย่างไรในเมื่อบทเรียนประวัติศาสตร์ทั้งหมดของคุณสอนให้คุณรู้ว่าประเทศเล็กๆ ของคุณเอาชนะผู้รุกรานทุกคนได้เสมอซึ่งมักจะมาจากกองทัพที่ทรงพลังที่สุดในโลกในเวลานั้นรวมถึง จีน, มองโกเลีย, ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา"

เขาบอกว่าเพราะความเชื่อแบบนี้คนเวียดนามจึงคิดว่าอะไรก็ตามที่เป็นการรับใช้ผลประโยชน์ของชาติจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ขณะที่ในประเทศไทย ถึงแม้ว่าคนไทยทุกคนจะรักชาติเหมือนกันทุกคน (ด้วยวิถีที่แตกต่างกันออกไป) แต่เราไม่เหมือนคนเวียดนามที่รักชาติแบบ "เชื่อมั่นอย่างถึงที่สุด" และหลายกรณีคนไทยบางคนตั้งแง่กับประเทศตัวเองเพราะความรู้สึกสิ้นหวังหรือไม่รู้จะระบายความโกรธกับใครก็มาลงกับประเทศชาติของตัวเอง จนกลายเป็นที่มาของคำที่ใช้โจมตีกันว่า "ชังชาติ"

ดูเหมือนว่าคนไทยได้สูญเสียความ "เชื่อมั่นอย่างถึงที่สุด" ต่อประเทศตัวเองไปแล้ว ความเป็นชาตินิยมของเราจึงไม่มี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความสามัคคีที่ขาดแคลนอย่างยิ่งโดยเฉพาะนับตั้งแต่เราเริ่มต้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองยาวนานเกือบจะ 2 ทศวรรษแล้ว

ดังนั้นจึงไม่มีรัฐบาลไทยชุดไหนที่จะทำให้คนไทยสามัคคีกันได้สำเร็จ (และนับวันความแตกแยกยิ่งชัดเจน) บางรัฐบาลพยายามส่งเสริมชาตินิยมไทย แต่ก็ส่งเสริมกันด้วยวิธีการที่ล้าสมัยและทำให้คนที่ชิงชังรัฐบาลนั้นพลอยชิงชังประเทศตัวเองไปด้วย

ตรงกันข้ามกับรัฐบาลเวียดนามที่ใช้ชาตินิยมให้เป็นประโยชน์กับตัวเองอยู่เนืองๆ แม้แต่ในตอนนี้

ในช่วงที่มีการระบาดเวียดนามประโคมแนวคิดชาตินิยมอย่างหนักหน่วงผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย โดยใช้โวหารชาตินิยมที่กระตุ้นให้รักชาติและรักตัวเองในฐานะพลเมือง เช่น การณรงค์ให้เว้นระยะ เวียดนามมีแคมเปญว่า "ถ้าคุณรักประเทศของคุณและรักพี่น้องร่วมชาติของคุณ ก็โปรดอยู่ในที่ของคุณ"

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ "รักประเทศ" และ "เพื่อนร่วมชาติ" สองคำนี้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกผูกพันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับว่ากำลังต่อสู้ในสมรภูมิเดียวกัน

ข้อมูลเหล่านี้นำมาจากบทความของ Lena Le แห่ง Vietnam National University Hanoi ผู้เขียนบทความเรื่อง "ความเป็นชาตินิยม วีรบุรุษนิยม และสื่อในการทำสงครามกับโควิด-19 ของเวียดนาม" ผู้เขียนกล่าวว่า "ความเป็นชาตินิยม วีรบุรุษนิยมและโซเชียลมีเดียของรัฐบาล ช่วยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมเร่งกระบวนการติดตามการติดต่อและจำกัดการปิดกั้นพื้นที่ที่สงสัยว่าจะมีการระบาด การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันทางสังคมของสาธารณชนทำให้การแพร่กระจายของชุมชนลดลง"

นอกจากนี้เวียดนามใช้สื่อของตัวเองประโคมข่าวความสำเร็จเรื่องการรักษาชาวต่างชาติแบบทุ่มสุดตัว ผลของมันเริ่มชัดขึ้นหากสำรวจในโซเชียลมีเดียจะพบว่าชาวต่างชาติมีความหวังที่สดใสกับเวียดนามจนอยากจะย้ายมาทำงานที่นี่หากหมดวิกฤตโควิด-19 แล้ว

เวียดนามลงทุนนิดหน่อย พอมีความสำเร็จแล้ว โลกได้เห็นเวียดนามที่สามารถควบคุมโควิด-19 สื่อทั่วโลกช่วยประโคมให้ฟรีๆ โดยที่รัฐบาลเวียดนามไม่ต้องเสียเงินสักด่อง มันช่วยให้เวียดนามเป็นที่สนใจของนักลงทุนขึ้นมามากมาย แน่นอนว่าเมื่อประเทศแล้วใครๆ ก็อยากจะมาที่นี่ก็เพราะเชื่อว่ามาแล้วจะปลอดภัย

ขณะที่ไทยได้รับคำชมเช่นกันแต่ในวงจำกัด สะท้อนถึงความล้มเหลวในการประชาสัมพันธ์ตัวเองของรัฐบาล ที่ไม่ได้เตรียมการ "สร้างภาพ" เอาไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ

ส่วนพี่น้องคนไทยไม่ชาตินิยมบางคนยังเยาะเย้ยชาตินิยมว่าล้าหลัง ทั้งๆ ที่ชาตินิยมกำลังสร้างเวียดนาม (รวมถึงจีน) ให้แแข็งแกร่งขึ้นมา

ชื่อของแคมเปญควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลไทย เช่น ไทยชนะอีกและอะไรชนะๆ อีกมากมาย สะท้อนถึงแนวคิดชาตินิยมเช่นกัน แต่ "นักวิจารณ์" ในบ้านเราไม่ชอบและบางคนตำหนิว่าการเรียกบุคคลากรแพทย์ว่า "นักรบเสื้อกาวน์/นักรบชุดขาว" เป็นความหามกมุ่นเรื่องสงครามและการเอาชนะเสียอย่างนั้น!

รัฐบาลยังถูกเยาะเย้ยเมื่อรัฐบาลจะจัดงบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อทำหนังรักชาติ สำหรับคนที่นิยมรัฐบาลเมื่อได้ยินแล้วรู้สึกพอใจ แต่คนที่ชังรัฐบาลได้ยินแล้วพลอยไม่อยากจะรักชาติไปด้วย และบอกว่าควรเอาเงินไปใช้อะไรที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้

ความคิดส่งเสริมชาตินิยมถือว่า "โอเค" แต่วิธีการของรัฐบาล "ผิด" เพราะไม่ดูตาม้าตาเรือว่าคนไทยจำนวนมากไม่ชอบรัฐบาลด้วยและหงุดหงิดกับการถูกบังคับให้รักประเทศตัวเองจากรัฐบาลที่พวกเขาไม่พอใจ

คนไทยไม่เหมือนเวียดนามที่สั่งหันซ้ายหันขวาได้ คนไทยรักอิสระเหนือสิ่งอื่นใด สมกับคำกล่าวว่า "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้"

หากจะทำก็ควรทำอย่างเป็นธรรมชาติ ขณะที่คนมาเลเซียภูมิอกภูมิใจกับภาพยนต์ที่กระตุ้นความรักชาติโดยไม่ต้องบังคับโดยรัฐบาล เช่น เรื่อง Paskal ว่าด้วยกองทัพเรือมาเลซียเมื่อปี 2018 แต่มาดังอีกครั้งเมื่อฉายทาง Netflix เมื่อ 2 ปีที่แล้วปลุกกระแสความรักชาติของคนมาเลเซียให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

Paskal มีการนำเรือดำน้ำที่มาเลเซียเพิ่งซื้อมาเข้าฉากด้วย ขณะที่ไทยยังเถียงกันไม่ตกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเรือดำน้ำดี

ในเวลานี้ ประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นแค่สังคมคนชราที่กำลังลดน้อยถอยลงเท่านั้น แต่เรากำลังเป็นสังคมที่คนไม่นิยมชมชอบประเทศตัวเองอย่างหนักหน่วง ทำให้เสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เหมือนประเทศกำลังหมดสิ้นพลังของคนหนุ่มสาว ขณะเดียวกันก็ไร้พลังแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะพุ่งไปข้างหน้า เป็นประเทศที่อ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ในเวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น เวียดนามเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติครั้งที่ 13 เพื่อคัดเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ ในระหว่างการประชุม "เหงียน ฟู้ จ่อง" ประธานาธิบดีคนที่ 9 ของประเทศเวียดนามและเป็นเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกล่าวว่า "โลกาภิวัตน์และการรวมกลุ่มทั่วโลกกำลังดำเนินไปอย่างถูกต้อง แต่ก็พบกับการขยายตัวของชาตินิยมสุดขั้วการแข่งขันเชิงกลยุทธ์และสงครามการค้า"

เป็นเรื่องที่ฟังดูแปลกพิลึกที่ผู้นำเวียดนามพูดถึง "การขยายตัวของชาตินิยมสุดขั้ว" ทั้งๆ ที่รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมชาตินิยมมากโดยตลอด

แต่เหงียน ฟู้ จ่องพูดถูก เพราะชาตินิยมที่พอดีสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนประเทศได้ แต่ถ้ามันสุดโต่งเกินไปมันจะทำให้คนในประเทศหลงตัวเองอย่างบ้าคลั่งและเหยียดประเทศอื่น ในทางเศรษฐกิจมันจะทำให้ปิดตัวเองจากโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเวียดนามก็เหมือนกับไทยที่ต้องการเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า

แม้แต่คนธรรมดาสามัญอย่าง Binh Le นักธุรกิจหนุ่มชาวเวียดนามผู้ที่เขียน Nikkei Asia ยังสามารถแยกได้ว่าชาตินิยมของเวียดนามนั้นเป็นชาตินิยมที่เป็นคุณ ไม่เหมือนชาตินิยมตะวันตกที่มองชาติอื่นต่ำกว่าและแสวงหาประโยชน์บทความย่อยยับของคนอื่น

พวกเขารักชาติและทำเพื่อชาติก็เพราะในประวัติศาสตร์นับพันปีคนเวียดนามต้องพบกับการรุกรานจากมหาอำนาจอยู่เสมอ ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังรู้สึกถึงการคุกคามจากจีน ทำให้ยิ่งต้องรักชาติและทำเพื่อชาติ ต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาเทคโนโลยี และทำประเทศให้ดูเสน่ห์น่าลงทุน

แน่นอนว่าการสร้างภาพของรัฐบาลเวียดนามจะหมายถึงการกดขี่สิทธิมนุษยชาติและปิดปากเสียงวิจารณ์รัฐบาลด้วยการโยนเข้าคุก ซึ่งคนไทยหลายคนเวลาชมเวียดนามจะลืมนึกถึงเรื่องนี้

หันมาดูที่เมืองไทยที่เปิดโอกาสให้วิจารณ์กิจการบ้านเมืองอย่างเสรี แต่ไทยไม่เคยมีแรงกดดันจากภายนอก เรามีแต่ความขัดแย้งภายในที่บ่อนทำลายเราเอง ไม่มีชาตินิยม ไม่มีความสมานฉันท์ ถ้าประเทศไทยยังเดินอยู่บนเส้นทางนี้ อนาคตของเราคงมีแต่ความมืดมน

ไม่เพียงเท่านั้นในประเทศไทยดูเหมือนคำว่า "ชาตินิยม" จะเป็นของแสลงของหลายๆ คน เพราะคิดไปว่ามันคือตัวการความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยไม่ทันคิดว่ามันมีชาตินิยมที่ผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าโดยไม่ต้องเหยียดประเทศอื่นได้เหมือนกัน

และการเป็นชาตินิยมไม่ได้หมายความว่าเราจะตั้งคำถามกับประเทศชาติตัวเองไม่ได้ มันจะยิ่งดีถ้าเราวิพากษ์ประเทศตัวเองเพื่อสร้างสิ่งที่ดีขึ้นมา และทบทวนตัวเองว่าความรัชาติของเราทำให้เราหลงตัวเองและทำร้ายคนอื่นหรือไม่ หรือที่เรียกว่า "พวกคลั่งชาติ"

ถ้าเราไม่นิยมประเทศเอง เราจะไปแข่งกับใครได้? ประสาอะไรกับการชอบเปรียบเทียบไทยกับเวียดนามโดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอะไรที่เราขาดแคลน แต่พวกเขามีมันอย่างเต็มเปี่ยม

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Nhac NGUYEN / AFP