posttoday

สหรัฐเข้ามาช่วยหรือฉวยโอกาส? เมื่อแม่น้ำโขงต้องมีพันธมิตร

16 กุมภาพันธ์ 2564

แม่น้ำโขงกลายเป็นสมรภูมิขยายอิทธิพลระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน

หลังจากที่ชะล่าใจจนจีนเข้ามาขยายอิทธิพลในพื้นที่เขตลุ่มน้ำโขงอยู่นาน กระทั่งจีนสามารถสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนได้ถึง 11 เขื่อนจนแทบจะกลายเป็นผู้กุมชะตาน้ำของประเทศท้ายน้ำไปแล้ว ในที่สุดสหรัฐก็หันกลับมาให้ความสนใจภูมิภาคนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้วเราจะเห็นว่าสหรัฐรุกหนักขึ้น

เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้วรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดศึกชิงลุ่มน้ำโขงกับจีนด้วยการนำข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา มาต่อยอดใหม่เป็นกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ (Mekong-US Partnership) กับประเทศท้ายน้ำโขง 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย โดยเพิ่มความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงที่ยังขาดไปในสมัยโอบามาในความร่วมมือครั้งล่าสุดนี้

ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ สหรัฐมอบความช่วยเหลือรวมแล้วกว่า 52 ล้านเหรียญสหรัฐ ในด้านสาธารณสุข มนุษยธรรม เศรษฐกิจ และการพัฒนาในภาวะฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้โรค Covid-19 ใน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง และอีก 6 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อกิจการต่างๆ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ช่วยให้ประเทศลุ่มน้ำโขงมีข้อมูลที่ครบถ้วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง

ต่อมาในเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน สหรัฐรุกหนักด้วยการเปิดตัวโครงการดาวเทียม (Mekong Dam Monitor) สำหรับติดตามตรวจสอบระดับน้ำในเขื่อนของจีนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งมาในช่วงเวลาที่ประเทศลุ่มน้ำโขงกำลังเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยและกักน้ำอย่างโปร่งใส

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างศูนย์สังเกตการณ์แม่น้ำโขง สติมสัน เซ็นเตอร์ (Stimson Center) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และอายส์ออนเอิร์ธ (Eyes On Earth) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำของสหรัฐ โดยจะจับตาเขื่อน 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนที่จีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง และอีก 15 เขื่อนบนแม่น้ำสายย่อย

หลังจากก่อตั้ง โครงการนี้ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำจากเขื่อนที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนจีน รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการจัดการน้ำของประเทศท้ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ

ในขณะที่จีนแม้จะแจ้งการปล่อยน้ำจากเขื่อนเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาตามที่รับปากไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เรียลไทม์พอให้ประเทศท้ายน้ำจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะระดับน้ำยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วชนิดตั้งรับไม่ทัน จนคณะกรรมาธิการต้องเรียกร้องให้จีนแบ่งปันข้อมูลน้ำอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ สหรัฐยังขยับไปร่วมมือกับเวียดนามจัดการประชุม Friends of the Mekong Policy Dialogue ครั้งแรกภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ โดยสหรัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคง ความเปิดกว้าง และความมั่งคั่งของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การประชุมครั้งนี้เป็นหลักฐานได้อย่างดีว่าสหรัฐลงเล่นในสนามรบในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเต็มที่ และยังชี้ให้เห็นว่าเวียดนามหันไปซบสหรัฐเต็มตัว ในขณะที่ลาว เมียนมา และไทยยังสงวนท่าที ส่วนกัมพูชาเลือกฝั่งจีน

อย่างไรก็ดี หากเลือกได้ประเทศลุ่มน้ำโขงคงไม่มีใครต้องการพึ่งพาจีนมากเกินไป

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 หวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนของจีนอาจทำให้แม่น้ำโขงตอนล่างแห้งแล้ง และยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จีนใช้การปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจในอาเซียน

“สิ่งที่สหรัฐมีให้คืออำนาจในการถ่วงดุลและตอบโต้ ไม่มีประเทศไหนใน CLMTV ถูกจีนครอบงำ” ศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าวถึงประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5

มาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่าอะไรทำให้สหรัฐกลับมาให้ความสนใจภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกครั้ง

คาร์ล เธเยอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียเผยว่า สหรัฐมีแรงจูงใจ 3 ข้อในการก่อตั้งกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ ได้แก่ 1) จัดการปัญหาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อาทิ การรับมือโรคระบาด การบริหารจัดการน้ำข้ามแดน

2) เพิ่มความร่วมมือของสหรัฐกับ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับอาเซียน  และ 3) เพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีนและเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกแข่งกับโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative) ของจีน

ขณะที่มุมมองจากฝั่งจีนมองว่า สหรัฐเข้ามาเพื่อแทรกแซงความสัมพันธ์ของประเทศลุ่มน้ำโขงกับจีน

บทความเรื่อง US manipulation can't divide Lancang-Mekong countries (การแทรกแซงของสหรัฐไม่สามารถสร้างความแตกแยกในประเทศล้านช้าง-แม่โขง) ของกัวเหยียนจวิน จากสถาบันเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย China Foreign Affairs ระบุว่า จีนรับปากว่าจะแบ่งปันข้อมูลแม่น้ำโขงกับประเทศลุ่มน้ำโขงแล้ว แต่สหรัฐพยายามหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้งด้วยการขอให้จีนแบ่งปันข้อมูลน้ำ โดยกำหนดว่าต้องแบ่งปันผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เท่านั้น

กัวเหยียนจวินระบุว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐคือ การใช้ประเด็นเรื่องแม่น้ำโขงสร้างความวุ่นวายทางการเมือง เพาะสร้างความบาดหมางระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และบ่อนทำลายความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

ศาสตราจารย์รายนี้ยังบอกอีกว่า สหรัฐยังทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนเป็นตัวร้ายและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยการสร้างภาพให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจควบคุมแม่น้ำโขง ทว่าความพยายามของสหรัฐกลับไร้ประโยชน์ ในขณะที่กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีความก้าวหน้าในหลายด้าน รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูลน้ำ

ส่วนคำถามว่าสหรัฐเข้ามาช่วยหรือฉวยโอกาสจากภูมิภาคนี้ หากมองจากเป้าหมายที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ Mekong-US Partnership ที่บอกว่า “เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในภูมิภาค และ “เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายสำคัญของภูมิภาค” ก็สามารถมองได้ว่าสหรัฐต้องการเข้ามาช่วยเหลือประเทศลุ่มน้ำโขงที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนของจีน

แต่อีกมุมหนึ่ง เป้าหมายเหล่านี้ก็อาจตีความได้ว่า นอกจากช่วยเหลือประเทศลุ่มน้ำโขงแล้ว สหรัฐยังทำเพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่กลายเป็นสนามรบระหว่างทั้งสองมหาอำนาจไปแล้วด้วย

และดีไม่ดีเหตุผลนี้อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สหรัฐกลับมาให้ความสำคัญกับประเทศลุ่มน้ำโขงอีกครั้ง

โดย จารุณี นาคสกุล

Photo by Suchiwa PANYA / AFP