posttoday

เมื่อชาวเมียนมาเรียกหาสหรัฐและแอนตี้จีน

15 กุมภาพันธ์ 2564

ชาวเมียนมากำลังทำให้ประเทศของพวกเขากลายเป็นพื้นที่ชิงอิทธิพลของสหรัฐกับจีน

เมื่อย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการทำรัฐประหาร ขบวนประท้วงในเมียนมาเริ่มมีการกระจายข่าวลือว่ารัฐบาลจีนอยู่เบื่องหลังการยึดอำนาจของพลเอกมินอ่องหล่าย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ผู้ประท้วงไปชุมนุมกันที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในนครย่างกุ้ง พากันถือแผ่นป้ายเรียกร้องจีนไม่ให้สนับสนุนกองทัพเมียนมา

การประท้วงมาพร้อมกับข่าวลือสารพัดเกี่ยวกับจีน เช่น การลือกันว่าจีนส่งเจ้าหน้าด้านไอทีที่มาทางเครื่องบิน แต่ทางสถานทูตชี้แจงทางเฟซบุ๊คว่าเป็นเพียงเครื่องบินขนส่งสินค้าตามปกติ แต่ "ชาวเน็ต" เมียนมานอกจากจะไม่เชื่อแล้วยังบอกว่า "โกหก"

จนกระทั่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ความไม่พอใจจีนก็ยังรุนแรงพร้อมๆ กับข่าวลือที่ไม่มีมูลที่แพระกระจายต่อไป เช่น การลือกันว่ามินอ่องหล่ายหนีไปจีนแล้ว

ไม่ใช่แค่จีน แต่รัสเซียยังโดนด้วย มีผู้ประท้วงไปรวมตัวกันที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เรียกร้องไม่ให้รัสเซียร่วมมือกับกองทัพเมียนมา แต่บางคนก็ถือแผ่นป้ายประกาศความเชื่ออย่างชัดเจนว่า "การแทรกแซงของรัสเซีย ออกไป" สะท้อนว่าพวกเขาชื่อว่ารัสเซียหนุนหลังกองทัพเหมือนกับที่จีนโดนข้อหานี้เช่นกัน และผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัสเซียเดินตามรอยสหรัฐที่คว่ำบาตรกองทัพเมียนมาอย่างไม่รอช้า

ข่าวลือและกระแสต่อต้านจีน-รัสเซียไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล เพราะทั้งสองประเทศคัดค้านคำประณามของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อการทำรัฐประหาร และยอมให้สมัชชามีแถลงการณ์ออกมาได้โดยตัดคำว่า "รัฐประหาร" ออกไปให้เหลือแค่การเรียกร้องให้ปลอ่ยอองซานซูจี

ขณะที่กระแสต้านจีน-รัสเซียหนักข้อขึ้น กระแสโปรสหรัฐก็เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นในหมู่ประชาชน ถึงกับเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์มีการยกขบวนไปชุมนุมที่ด้านนอกสถานเอกอักครราชทูตสหรัฐในย่างกุ้ง พวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้ "รัฐบาลสหรัฐ" ช่วย แต่ถึงขนาดเรียกร้องให้ "กองทัพสหรัฐ" เข้ามาแทรกแซงกันเลยทีเดียว

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องบินของจีนที่เข้ามายังเมียนมาหลังการรัฐประหารและจีนบอกว่าเป็น "ซีฟู๊ด" (และคนเมียนมาสวนกลับว่า เราไม่เอาซีฟู๊ด เราจะเอาอะแหม่ซู (จี) คืนมา"

ช่วงที่ประเด็นนี้กำลังแรงๆ Mratt Kyaw Thu ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเมียนมาโพสต์ในทวิตเตอร์ของเขาว่า "มีเที่ยวบิน 5 เที่ยวจากคุนหมิง ประเทศจีนเดินทางมาถึงย่างกุ้งเมื่อวานนี้ (9 และ 10 กุมภาพันธ์) พยานหลายคนบอกว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิกด้านไอทีจำนวน 3 เครื่อง และเป็น "คาร์โก" อีก 2 เครื่อง"

เราไม่รู้ว่า "คาร์โก" ที่ขนมานั้นคืออะไร แต่ว่าสัปดาห์ต่อมากองทัพเมียนมาเริ่มใช้วิธีการรบแบบไซเบอร์ด้วยการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตช่วงค่ำเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เรื่องนี้อาจยิ่งทำให้คนเมียนมารู้สึกว่าบังเอิญเกินไปและทำให้กระแสต้านจีนยิ่งหนักขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนเมียนมาก็เชื่อกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่าของใน "คาร์โก" อาจเป็นเครื่องตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ตราบใดที่จีนไม่มีท่าทีชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร จีน (รวมถึงรัสเซีย) ก็จะต้องถูกข่าวลือและข้อสงสัยแบบนี้โจมตีไปเรื่อยๆ และผลเสียจะตกอยู่ที่คนจีนในเมียนมาก่อนเป็นกลุ่มแรก

ยิ่งถ้ากองทัพเมียนมาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงข่าวสารที่ถูกต้องก็จะยิ่งยาก ข่าวลือจะยิ่งแพร่หลาย

มีกรณีหนึ่งซึ่งจีนควรจะดีใจที่สัญญาณเน็ตยังมีอยู่ ก็คือข่าวลือที่แชร์กันว่ามีท่อก๊าซของจีนซ่อนอยู่ในไร่กล้วยของจีนที่รัฐกะฉิ่น ปรากฎว่าชาวเน็ตเมียนมาช่วยกันแก้ไขข่าวที่ถูกต้องว่าไร่กล้วยของจีนไม่มีท่อก๊าซ ไม่เช่นนั้นไร่กล้วยคงพินาศไปแล้ว

จีนอาจจะรู้สึกว่าไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในก็ได้ แต่ก็อาจเป็นอย่างที่คนเมียนมาคิดก็ได้นั่นคือจีนเลือกที่จะไม่แทรกแซงก็เพื่อผลประโยชน์กับรัฐบาลทหาร

"สมมติว่า" รัฐบาลจีน "อาจจะ" ดีดลูกคิดคำนวณแล้วว่าคบกับทหารอาจจะได้ประโยชน์กว่า แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าพลังการต่อต้านของประชาชนเมียนมามีพลังมาก เมื่อพวกเขาจะแบนอะไรก็จะแบนกันจริงจัง เมื่อพวกเขาสามัคคีกันถล่มภัยคุกคาม ต่อให้ทหารมีปืนพวกเขาก็จะสู้ต่อไปเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1988

หากจีนหนุนทหารก็เหมือนจีนจ่ายบอลเข้าเท้าสหรัฐไปเต็มๆ

จุดยืนของรัฐบาลไบเดนชัดเจนอยู่แล้วว่ายืนข้างประชาชนเมียนมา ประชาชนเมียนมาบางกลุ่มก็คิดว่าสหรัฐเป็นที่พึ่งของพวกเขา

ต่อให้ไม่ให้เข้าหาสหรัฐ กระแสต้านจีนที่หนักมากในตอนนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สหรัฐพอจะแทรกตัวเข้ามาในสถานการณ์เมียนมาได้

ตอนนี้สื่อบางแห่งจึงชี้ว่าเมียนมาได้กลายเป็นสมรภูมิอำนาจของสหรัฐกับจีนไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว

ศึกครั้งนี้แต่ละฝ่ายน่าจะมีของดีซ่อนอยู่ ในส่วนของสหรัฐเคยมีรายงานเมื่อปี 2013 (โดย Der Spiegel) ว่าสถานเอกอัครราชทูตที่ย่างกุ้งนั้นเป็นหนึ่งในไซต์ที่ CIA และ NSA ใช้สอดแนมโทรศัพท์และเครือข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก (ไซต์แบบนี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย) จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าไซต์สอดแนมแบบนี้ยังมีอยู่ที่สหรัฐ?

แต่มันมีความลักลั่นอยู่เรื่องหนึ่งก็คือประเด็นที่รัฐบาลเมียนมาไม่ว่าจะทหารหรือพลเรือนต่างก็ใช้แนวทางที่แข็งกร้าวต่อชาวโรฮิงยา ถึงขั้นที่ถูกประณามจากประชาคมโลก

ดังนั้นต่อให้เมียนมากลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกสหรัฐก็จะอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับเมียนมา เพราะจะช่วยก็ติดเรื่องโรฮิงยาอีก ขณะที่จีนไม่สนใจกรณีโรฮิงยาเอาเลย

อย่าลืมว่าอองซานซูจีแปรสภาพจากแม่พระประชาธิปไตยกลายเป็นตัวร้ายผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เพราะเรื่องโรฮิงยา

สมมติว่าสหรัฐบอกว่าจะช่วยแทรกแซงเพื่อฟื้นประชาธิปไตยให้ชาวเมียนมา แต่ถ้ามีข้อแม้ว่าชาวเมียนมาจะต้องรับชาวโรฮิงยาในฐานะเท่าเทียมกัน เชื่อว่าชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยก็คงไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้

แต่สำหรับสหรัฐแล้วการได้คืบจะเอาศอกในสถานการณ์แบบนี้ย่อมเป็นเรื่องโง่เขลาเกินไป ความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือการดันอิทธิพลจีนให้พ้นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างที่แอนโทนี บลิงเคนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเพิ่งจะบอกผ่านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไปหมาดๆ ก่อนที่เมียนมาจะทำรัฐประหารเพียงไม่กี่วันว่า "ปฏิญาณที่จะยืนเคียงข้างการอ้างสิทธิ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการเผชิญหน้ากับแรงกดดันของจีน" ซึ่งในกรณีนี้เขาหมายถึงเรื่องพิพาททะเลจีนใต้

แต่มันจะมีข้อยกเว้นหรือไม่? ตอบว่ามี รัฐบาลเดโมแครต (ของโอบามาและที่มีไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี) เป็นรัฐบาลที่เข้าหารัฐบาลทหารเมียนมาก่อนในปี 2011 นำโดยฮิลลารี คลินตันที่เดินทางไปพบพลเอกเต็ง เส่ง ผู้นำเมียนมาในขณะนั้นด้วยตนเอง และในปีถัดมาก็ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาลง

สมมติอีกครั้งว่าถ้ากองทัพเมียนมาเลือกที่จะเมินสหรัฐและคบจีน จีนก็อาจจะต้องช่วยเหลือกองทัพเมียนมามากขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนและต้านการแทรกแซงของสหรัฐ เพราะเมื่อปี 2013 มีตัวอย่างมากแล้วว่ารัฐบาลสหรัฐให้ทุนองค์กรประชาสังคมในเมียนมาเพื่อกดดันให้รัฐบาลระงับการสร้างเขื่อนมยิตโซนที่กั้นแม่น้ำอิรวดีในรัฐกะฉิ่นซึ่งเป็นโครงการของจีน

ปรากฎว่ารัฐบาลเมียนมาระงับโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2011 หรือเพียง 2 เดือนก่อนที่ฮิลลารี คลินตันจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่เยือนเมียนมาครั้งแรกในรอบ 56 ปี แน่นอนว่าเรื่องนี้จะสร้างความไม่พอใจกับจีน และรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาต้องบินไปเคลียร์ที่ปักกิ่ง

มีหลายตัวอย่างที่สะท้อนว่ากองทัพเมียนมาไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติใดชาติหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งจีนและสหรัฐหรือรัสเซีย การที่กองทัพเมียนมาสนับสนุนโครงการจีนก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขายอมสยบกับจีนหรือมีจีนหนุนหลังการทำรัฐประหาร

การที่มีอาวุธของรัสเซียปรากฎในการทำรัฐประหารก็ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียหนุนหลัง และการที่รัสเซียกับจีนไม่ยอมประณามกองทัพเมียนมาแรงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร เพราะจีนกับรัสเซียก็มีท่าทีแบบนี้กับหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว คือไม่โจมตีและคว่ำบาตรเหมือนสหรัฐ และมักบอกแค่ว่า "จับตาและเป็นห่วง"

การที่สหรัฐประณามการทำรัฐประหารก็ไม่ได้หมายความว่าะพวกเขาจะไม่ยอมคบกับกองทัพเมียนมาไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย เพราะเคยมีมาแล้วที่สหรัฐสายเสรีนิยมที่ควรจะเกลียดเผด็จการทหารเข้าใส้กลับคลายมาตรการคว่ำบาตรทหารเมียนมาเสียเอง

บางครั้งดุลอำนาจระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่เหนือจะคาดเดาและเป็นศาสตร์และศิลป์ในการเลือกข้างให้ถูก

เรื่องนี้ไม่ใช่ไกลตัวไทย หากไทยวางตัวไม่ดี แม้ทหารเมียนมาอาจจะพอใจ แต่ประชาชนเมียนมาซึ่งมีมากกว่าจะจดจำเอาไว้ว่าไทยไม่เข้าข้างพวกเขา ในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดี

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by STR / AFP