posttoday

ฮีโร่ในวันนั้นกลายเป็นนางมารร้ายในวันนี้

02 กุมภาพันธ์ 2564

ครั้งหนึ่งอองซานซูจีเคยถูกยกให้เป็นฮีโร่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ในวันที่เธอถูกทหารควบคุมตัวอีกครั้งกลับไม่หลงเหลือความสงสารเห็นใจเลย เพราะการเพิกเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา  

อองซานซูจีใช้เวลาหลายทศวรรษในการเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับเมียนมาที่ถูกปกครองโดยกองทัพมายาวนาน ระหว่างนี้ตัวเธอเองถูกทหารควบคุมตัวไว้ในบ้านพักรวมกันนานถึง 15 ปีในฐานะนักโทษทางการเมืองในช่วงระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 1990-2010

การต่อสู้ของอองซานซูจีทำให้เธอมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และยังเป็นแรงบันดาลใจในการเรียกร้องความยุติธรรมและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษชนเป็นวงกว้าง จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991 ในขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านพักชานเมืองย่างกุ้ง และยังถูกยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของพลังของผู้ที่ไร้อำนาจ และในเมียนมาเองเธอยังมีสถานะของ “มารดาแห่งประชาธิปไตยสมัยใหม่ของเมียนมา”

ทว่า ชื่อเสียงของอองซานซูจีเริ่มมีมลทินหลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015 เนื่องจากท่าทีนิ่งเฉยของอองซานซูจีในฐานะมุขมนตรีแห่งเมียนมาต่อการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจาอย่างหนักของกองทัพ ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮีนจากว่า 740,000 คนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

อองซานซูจีปฏิเสธมาตลอดว่าความป่าเถื่อนที่กองทัพเมียนมาทำกับชาวโรฮีนจา ทั้งการฆ่า ทรมาน ข่มขืน เผาหมู่บ้านในรัฐยะไข่จนราบเป็นหน้ากลองเป็นเรื่องเข้าใจผิด ทำให้เธอถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทว่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นฮีโร่ของซูจีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในสายตาชาวโลกคือ การที่เธอเป็นตัวแทนเมียนมาในการขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ต้jอสู้คดีที่กล่าวหาว่ากองทัพเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาเมื่อปี 2017

แม้จะมีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพเมียนมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา แต่ระหว่างขึ้นศาลอองซานซูจีก็ยังปฏิเสธหัวชนฝาว่าทหารที่ครั้งหนึ่งเคยจับเธอขังไว้ในบ้านไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นเพียงการตอบโต้ที่เหมาะสมต่อความไม่สงบภายในประเทศที่จุดชนวนขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจาที่โจมตีป้อมของทางการก่อน โดยไม่มีการเอ่ยถึงการข่มขืนชาวโรฮีนจาแต่อย่างใด

หลังการขึ้นศาลจึงเกิดการเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบล (แต่ทางผู้ให้รางวัลแจ้งว่าไม่สามารถยึดคืนได้ เนื่องจากกฎไม่ได้ระบุไว้) ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์หนาหูขึ้น รวมทั้งจากบาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นกันว่า “หากราคาทางการเมืองจากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในเมียนมาคือความเงียบของคุณ ราคานี้คงสูงมาก”

ต่อมาสภาท้องถิ่นเมืองออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษยังมีมติยึดคืนรางวัลเสีภาพแห่งเมืองออกซ์ฟอร์ดคืนจากอองซานซูจี เนื่องจากไม่พอใจท่าทีของเธอต่อการกดขี่ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ และบ็อบ เกลดอฟ นักร้อง นักดนตรี และนักเคลื่อนไหวชาวไอริชได้คืนรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองดับลินเพื่อประท้วงท่าทีของอองซานซูจี  เพราะเธอก็ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน ทำให้ต่อมาสภาเมืองดับลินมีมติถอดถอนรางวัลนี้จากอองซานซูจีในที่สุด

นอกจากนี้ หลังจากอองซานซูจีถูกทหารเมียนมาควบคุมตัวอีกครั้งหลังจากการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีโรฮีนจาก็กลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง อาทิ ในเฟซบุ๊คของสำนักข่าวรอยเตอร์สที่รายงานข่าวดังกล่าว

เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า Sandra Edobor บอกว่า “พาดหัวของคุณควรเปลี่ยนเป็นผู้หญิงที่ใครๆ มองว่าเป็นนักบุญกลายเป็นปีศาจสำหรับชาวโรฮีนจา ขอให้หล่อนเน่าตายในคุกหรืออะไรก็ตามแต่ที่พวกเขาจัดการกับหล่อน”

ส่วน Sanjay Rah บอกว่า “เธอไม่ควรได้รับความสงสารเห็นใจใดๆ เพราะเธอต้องรับผิดชอบกับชะตากรรมของชาวโรฮีนจาด้วย”

Tima Starr บอกว่า “ดี ขอให้เธอถูกทรมานเหมือนกับที่เธอก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาตินะ”

Mahmoud Ali คอมเม้นต์ว่า “หวังว่าเธอจะได้รับรู้รสชาติของความเจ็บปวดที่เธอทำไว้กับมุสลิมโรฮีนจานะ”

Arman Saify บอกว่า “อย่าลืมว่าตอนอยู่ในอำนาจ เธอไม่แม้แต่จะยกนิ้วเพื่อหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา นั่นคือการตอบแทนที่ร่วมมือกับนายพลที่คอร์รัปชั่นและเป็นฆาตกร”

Simon Knowles Winnard บอกว่า “เธอนำพาประชาธิปไตยมาด้วยวิธีการเดียวกับที่รัสเซียนำพาการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมมา เธอมันขยะในร่างมนุษย์ เธอเป็นอาชญากรสงครามกับสิ่งที่ทำไว้กับชาวโรฮีนจา เธอไม่เคยแม้แต่จะควบคุมกองทัพ เธอขอร้องให้ยูเอ็นเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ได้หลายครั้งแต่ก็ไม่ทำ เธอปฏิเสธว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอยู่ในคุกใหม่ให้สนุกนะ”

Wagdy Mansour บอกว่า “ก็สมควรแล้วแหละหลังจากที่ได้เห็นหนึ่งในการสังหารหมู่ที่เขย่าขวัญที่สุดในยุคสมัยใหม่ คนได้รางวัลโนเบลไม่เกี่ยวข้องกับสันติภาพอยู่ละ และมันน่าผิดหวังที่เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนี้และยังได้รางวัลด้วย แต่ก็นั่นแหละ คณะกรรมการโนเบลมอบรางวัลเดียวกันนี้ให้นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย แม้ว่าเขาจะพยายามขัดขวางสันติภาพในแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือก็ตาม โลกกับบรรดาสถาบันต่างๆ จริงๆ แล้วก็เป็นแค่เรื่องตลกนั่นแหละ”

Faheem Nazeem  คอมเม้นต์ว่า “ครั้งหนึ่งผมเคยเขียนคำร้องให้ปล่อยตัวเธอครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตอนนี้ไม่รู้สึกสงสารซูจีที่เป็นปากเสียงต่อสู่เรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้ทหารเลย นี่คือยาขมที่ต้องกลืนสำหรับเจ้าของรางวัลโนเบลที่ก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติ”

ส่วนในเฟซบุ๊คของสำนักข่าวบีบีซีก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน อาทิ Olungboyega Olausanya บอกว่า “ผมคิดว่าเธอสมควรได้รับมันแล้ว การเป็นผู้ร่วมรู้เห็นต่อกรณีของชาวโรฮีนจาของเธอทำให้ผมไม่ค่อยโอเค มันน่าตกใจมากที่ได้รู้ว่าคนพวกนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง และยังต้องเจอกับอะไรอยู่ในตอนนี้ที่โรคกำลังระบาด”

Kamil Abdul-Rahaman บอกว่า “ถูกกักตัวยังดีกว่าถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เธอเป็นหนึ่งในคนที่ปฏิเสธว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา”

Faisal Akhtar บอกว่า “สมควรละ เธอเสียเครดิตไปตั้งแต่ที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจาทั้งๆ ที่มันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเธอแล้ว กงกรรมกงเวียนจ้ะที่รัก”

Photo by Christophe ARCHAMBAULT / AFP