posttoday

ปิดโรงเรียน: ปัญหาระดับโลกอาจทำเด็กหลุดออกจากระบบถึง 24 ล้านคน

28 มกราคม 2564

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบอันเลวร้ายต่อทั่วโลก รวมถึงระบบการศึกษาซึ่งกระทบนักเรียนถึง 90% ทั่วโลก

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางหรืองดออกจากบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึง "โรงเรียน" ก็มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นแบบ "ออนไลน์"

หลายคนคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่เมื่อต้นปีที่แล้ว และสถานการณ์เหมือนจะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ แต่สุดท้ายการเรียนออนไลน์ก็กลับมาอีกครั้งท่ามกลางเสียงสะท้อนจากทั้งนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์จำนวนมากที่ออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านประสิทธิภาพในการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และปัญหาความเหลื่อมล้ำในเด็กที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนในรูปแบบออนไลน์

รวมทั้งรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาประท้วงและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักเรียนอันเนื่องมาจากการปิดโรงเรียน

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นแต่ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ออกแถลงการณ์ "เด็กๆ ไม่สามารถรับผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อไปได้อีกปี" ซึ่งระบุว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่หลักของการแพร่เชื้อ และมีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการปิดโรงเรียน

ซึ่งการปิดโรงเรียนในประเทศต่างๆ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก โดยเด็กนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้ และมีการประมาณการณ์ว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านคน

หลายประเทศในโลกกำลังประสบปัญหาจากการเรียนออนไลน์เช่นกัน อาทิ สหราชอาณาจักรที่ได้ขยายเวลาในการปิดโรงเรียนไปอีก จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดเป็นเดือนก.พ. แต่ต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นเดือนมี.ค. ซึ่งเด็กๆ พลาดการเรียนการสอนในห้องเรียนไปแล้วอย่างน้อย 111 วันจากทั้งหมด 190 วันนับตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา

การประกาศดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลอย่างมาก หลายฝ่ายรวมถึงผู้ปกครองเรียกร้องให้กลับมาเรียนตามปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด หรือย่างน้อยก็เริ่มจากเปิดเรียนให้เด็กประถมก่อน เนื่องจากนักรณรงค์เตือนว่าการอยู่แต่ในบ้านเป็นการทำลายโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กๆ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตและโรคอ้วน พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันเปิดโรงเรียนประถมโดยเร็วที่สุด

ด้านกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชนแห่งสหราชอาณาจักรยังรายงานว่า 1 ใน 6 ของนักเรียนทั้งหมดกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตอันเป็นผลมาจากการปิดโรงเรียน

เช่นเดียวกับมาเลเซียที่เริ่มมีการปิดโรงเรียนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม รวมถึงการสอบใบรับรองระดับอุดมศึกษาของมาเลเซีย (STPM) ก็ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งสร้างคามกังวลสับสนให้กับเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง

โรงเรียนในมาเลเซียต้องหันมาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เช่นกัน และแม้ว่ากระทรวงศึกษามาเลเซียจะจัดทำบทเรียนและออกอากาศทางช่องโทรทัศน์แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพของบทเรียนดังกล่าวและประสิทธิผลของการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้การเรียนออนไลน์มาเลเซียก็เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกันโดยนักเรียนบางส่วนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จำเป็น

รวมถึงเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองในการดูแลการศึกษาออนไน์ของบุตรหลาน ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการแพร่ระบาด เด็กๆ เองก็ต้องปรับตัวจากการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการไม่มีกิจกรรมอันเป็นผลมาจากการปิดโรงเรียน

ยูนิเซฟยังได้สรุปปัญหาที่เกิดจากการปิดโรงเรียนออกมาเป็นหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การเรียนหยุดชะงักลง, เด็กในครอบครัวยากไร้จะขาดโภชนาการที่ดี, คามสับสนและความเครียดของคุณครู, ผู้ปกครองไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ที่บ้าน, ความยากในการปรับปรุงการเรียนในรูปแบบออนไลน์, ช่องว่างในการดูแลเด็ก, ต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางรายไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากต้องดูแลเด็ก, แรงกดดันต่อโรงเรียนที่ยังคงเปิดอยู่, อัตราการลาออกกลางคันเพิ่มขึ้น, กลุ่มแสวงหาประโยชน์จากเด็กเพิ่มขึ้น อาทิ ใช้แรงงานเด็ก, เกิดการแยกตัวออกจากสังคม และความยากในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

ในแถลงการณ์ของยูนิเซฟยังระบุว่า "พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงและระบบสาธารณสุขกำลังแบกรับภาระอย่างหนัก ซึ่งอาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียน ก็ควรมีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเพื่อให้เด็กบางกลุ่มสามารถเรียนต่อได้ในห้องเรียน เช่น กลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในบ้าน หรือเด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารที่โรงเรียน หรือเด็กที่พ่อแม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน"

"นอกจากนี้ ควรจัดชั้นเรียนพิเศษเพื่อช่วยให้เด็กที่ไม่สามารถเรียนทางไกล สามารถเรียนตามทันได้ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากเด็กๆ ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนต่อไปอีก 1 ปี ก็จะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายรุ่นอายุทีเดียว"

Photo by Hector RETAMAL / AFP