posttoday

ส่องพิธีสาบานตนไบเดน แปลกสุดในประวัติศาสตร์

20 มกราคม 2564

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดน มาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในพิธีนี้และแตกต่างจากปีก่อนๆ อย่างไร?

1. การพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของโจ ไบเดน มีกำหนดการณ์เริ่มต้นในเวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 20 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น ณ อาคารรัฐสภา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

2. นอกจากไบเดนว่าที่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นตัวเอกของงานนี้แล้ว ยังมีกมลา แฮร์ริส ที่จะเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในพิธีนี้ด้วย ซึ่งความพิเศษของแฮร์ริสคือเธอเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และเอเชียน-อเมริกันคนแรกในตำแหน่งนี้

3. คณะกรรมการร่วมในพิธีประจำปีนี้ประกอบด้วย รอย บลันท์ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมาก และเควิน แมคคาร์ธี ผู้นำเสียงข้างน้อยจากพรรครีพับลิกัน ด้านพรรคเดโมแครตประกอบด้วย แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสเตนี โฮเยอร์ และเอมี โคลบูชาร์ ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมาธิการด้านกฎระเบียบและการบริหารของวุฒิสภา

4. คณะกรรมการได้กำหนดธีมงานครั้งนี้ในชื่อว่า "ประชาธิปไตยที่มั่นคงของพวกเรา : สร้างความเป็นปึกแผ่นที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น" (Our Determined Democracy: Forging a More Perfect Union) เพื่อเน้นย้ำถึงจุดเด่นของการปกครองและประชาธิปไตยของอเมริกัน รวมถึงการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ

5. เมื่อเปรียบเทียบกับพิธีในปีก่อนๆ ที่ผ่านมาคาดว่าในปีนี้จะใช้งบประมาณน้อยลงเนื่องจากมีการลดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งโดยปกติแล้วพิธีสาบานตนจะใช้งบประมาณราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในเดือนกันยายนทีผ่านมาได้คาดการณ์งบประมาณไว้อย่างน้อย 44.9 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามเหตุจลาจลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณในการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

6. โดยปกติแล้วพื้นที่ด้านนอกบริเวณอาคารรัฐสภาซึ่งเรียกว่าเนชันแนลมอลล์ จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับชมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ได้ แต่ในปีนี้เนื่องด้วยสถาการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงข้อกังวลด้านความปลอดภัยหลังเกิดเหตุจลาจลเมื่อต้นเดือน พื้นที่ตรงนั้นจึงปิดไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม

7. ในคืนวันที่ 19 มกราคม ไบเดนและจิล ภรรยาของเขาจะพักที่แบลร์เฮาส์ ซึ่งเป็นบ้านพักของของประธานาธิบดีหรือแขกคนพิเศษของสหรัฐ โดยตามธรรมเนียมแล้วในช่วงเช้าของวันที่จะเข้ารับตำแหน่ง ว่าที่ประธานาธิบดีจะต้องพบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้าหลังจากเข้าร่วมพิธีมิสซาที่โบสถ์ แต่ในปีนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เข้าร่วมพิธีด้วย

8. อย่างไรก็ตามไบเดนได้ส่งคำเชิญไปยังผู้นำสภาคองเกรส 4 คนจากทั้ง 2 พรรค ได้แก่ มิทช์ แมคคอนแนล และเควิน แมคคาร์ธี จากพรรครีพับลิกัน แนนซี เพโลซี และชัค ชูเมอร์ จากพรรคเดโมแครต

9. เมื่อเสร็จสิ้นงานในโบสถ์ก็จะเดินทางมายังอาคารรัฐสภาเพื่อเริ่มพิธีสาบานตน โดยในปีก่อนๆ สมาชิกสภาคองเกรสจะได้รับบัตรเข้าร่วมงานจำนวน 200,000 ใบ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าร่วมงาน แต่ในปีนี้สมาชิกสภาแต่ละคนจะได้รับบัตรเพียง 1 ใบ โดยจะมีประชาชนเพียง 3,000 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่รอบนอกอาคาร และอีก 1,000 คนที่ได้เข้าชมในงาน

10. คณะกรรมการตัดสินใจกำจัดการเข้าร่วมงานโดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ส่งผลให้พิธีในปีนี้เป็นครั้งที่ "เล็กที่สุด" นับตั้งแต่พิธีสาบานตนของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ในปี 1945 ที่มีผู้ชมเพียงพันคนเนื่องจากปัญหาสุขภาพและสงครามโลก

11. แม้ทรัมป์จะไม่ได้มาร่วมในพิธีแต่ไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีของเขาจะมาร่วมงาน รวมถึงอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามาด้วย ขณะที่อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งโรซาลินน์ คาร์เตอร์ ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้

12. รอย บลันท์ จะทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงาน ขณะที่แอนเดรีย ฮอลล์ จะเป็นผู้นำในการปฏิญาณตน อีกทั้งยังมีเลดี้ กาก้า, เจนนิเฟอร์ โลเปซ และการ์ธ บรูกส์ เหล่าศิลปินชื่อดังมาร่วมแสดงในพิธีด้วย รวมถึงวงดนตรีของกองทัพสหรัฐก็จะร่วมบรรเลงเพลงเปิดงานด้วยเช่นกัน ก่อนที่ไบเดนและแฮร์ริสจะเริ่มสาบานตน

Photo by Angela Weiss / AFP