posttoday

ไม่ใช่แค่ไทย 'แอสตราเซเนกา' ร่วมมือกับใครบ้าง?

19 มกราคม 2564

นอกจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ของไทยแล้วยังมีอีกหลายบริษัททั่วโลกที่ร่วมมือกับแอสตราเซเนกา

หลังจากที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าออกมาตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford) โดยมีการแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?"

โดยเนื้อหาในไลฟ์มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดคนไทยจึงได้รับการฉีดวัคซีนช้าและปริมาณวัคซีนที่จะได้รับไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรในประเทศ ในขณะที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการที่วัคซีนอยู่ในมือของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงแห่งเดียวว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทรายใดรายหนึ่งหรือไม่ และรัฐบาลจะรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เมื่ออนาคตของประเทศไทยฝากไว้กับบริษัทแห่งเดียว

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์โดยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในคำวิจารณ์ดังกล่าว

“เราต้องการมุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบของเราในการผลิตวัคซีนให้ทันเวลามีคุณภาพด้วยปริมาณที่เหมาะสม” ดร.ทรงพลกล่าวกับรอยเตอร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ตกลงที่จะจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากแอสตราเซเนกาซึ่งร่วมมือกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการผลิตวัคซีนสำหรับแจกจ่ายในประเทศผ่านการประสานงานของเอสซีจี ซึ่งเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลไทยในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนด้วยวงเงิน 6 พันล้านบาท

โดยรัฐบาลไทยมีการสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะได้รับในเดือนมิ.ย. และครม.ยังมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส

ขณะเดียวกันแอสตราเซเนกายังได้ร่วมมือกับอีกหลายประเทศในการผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 อาทิ ในเดือนสิงหาคม อาร์เจนตินาและเม็กซิโกแถลงว่าจะร่วมมือกันผลิตวัคซีนที่คิดค้นโดยแอสตราเซเนกาเพื่อแจกจ่ายให้กับประชากรในแถบละตินอเมริกา

โดยมีการลงนามในข้อตกลงระหว่างบริษัทแอสตราเซนกาและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ mAbxience of the INSUD Group เพื่อถ่ายทอดเทคโลโลยีสำหรับผลิตวัคซีนจำนวน 150 ล้านโดส

แอสตราเซเนกายังมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกับมูลนิธิของการ์ลอส สลิม มหาเศรษฐีของเม็กซิโกในการผลิตวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะจัดส่งได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021

รวมถึงสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ก็ได้ตกลงที่จะผลิตวัคซีนที่พัฒนาโดยแอสตราเซเนกาในประเทศอินเดียด้วยเช่นกัน ซึ่งมีข้อตกลงที่จะผลิตวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 1 พันล้านโดส

นอกจากนี้แอสตราเซเนกายังได้ลงนามร่วมกับสถาบันวิจัยกามาเลยา (Gamaleya Research Institute) ของรัสเซียซึ่งเป็นสถาบันที่พัฒนาวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูล และทดลองใช้วัคซีนของแอสตราเซเนการ่วมกับสปุตนิก วี หลังได้รับคำแนะนำจากนักวิทยาศาสตร์ว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนได้

ทั้งนี้ เป็นการร่วมมือกับบริษัทยาอาร์-ฟาร์ม (R-Farm) และกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund : RDIF) ด้วย

Photo by JUSTIN TALLIS / AFP