posttoday

เอกราชประเทศไทยในกำมือบริษัทโซเชียลมีเดีย

18 มกราคม 2564

ประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรง ไม่ไกลตัวคนไทย เพราะมันส่งผลกระทบต่อชีวิตเราไปเรียบร้อยแล้ว แต่เราสนใจมันน้อยเกินไปหรือไม่?

หลังจากจลาจลที่คองเกรสนำไปสู่การระงับบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐ ด้วยข้อหาที่ว่าเขาปลุกระดมให้เกิดการจลาจลที่ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศสหรัฐ

การปิดปากทรัมป์ทำให้ฝ่ายเสรีนิยม/เดโมแครตเห็นด้วยสุดลิ่มทิ่มประตู แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม/รีพับลิกันไม่พอใจอย่างแรง และเริ่มถอนตัวจากโซเชียลเน็ตเวิร์กที่แบนทรัมป์ โดยชี้ว่าการปิดปากทรัมป์เท่ากับขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความเห็น

หลังจากนั้นผู้นำและรัฐบาลทั่วโลกบางส่วนที่ก็มีปฏิกริยาคล้ายๆ กัน เช่น อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีบอกว่าการแปิดปากทรัมป์ "เป็นปัญหา" เพราะ"เสรีภาพในการแสดงความเห็นคือความสำคัญพื้นฐาน" การแบนทรัมป์จึงเป็นปัญหาด้วยประการฉะนี้

แมร์เคิลเป็นผู้นำโลกตะวันตกที่น่านับถือคนหนึ่ง ไม่มีฝักฝ่าย และค่อนข้างสุขุม การที่แมร์เคิลแสดงความกังวลแบบนี้ออกมามันสะท้อนว่าโซเชียลมีเดียเป็นปัญหาจริงๆ

หลังจากเกิดการแบนทรัมป์ผู้คนเริ่มพูดกันมาถึงอิทธิพลของบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กที่จะสั่งแบนใครก็ได้ ในกรณีรของทรัมป์พวกบริษัทเหล่านี้ไม่ใช่แค่พร้อมใจกันแบนทรัมป์ แต่แบนแพลทฟอร์มฝ่ายขวากันยกใหญ่ยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่านายทุนโซเชียลมีเดียใดอำนาจปิดปากคนมากเกินไปหรือไม่?

แม้แต่บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกอย่างทรัมป์ยังถูกปิดปาก ประสาอะไรกับตาสีตาสาธรรมดา หากวันหนึ่งพูดอะไรไม่ถูกใจแอดมินโซเชียลมีเดียขึ้นมาก็จะถูกปิดปากเอาง่ายๆ

แน่นอนว่าบริษัทโซเชียลมีเดียไม่ได้สร้างแพลตฟอร์มมาใช้กันฟรีๆ แต่พวกเขาทำขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไร และก่อนจะใช้ผู้รับบริการจะต้องยอมรับเงื่อนไขการบริการเสียก่อน ซึ่งหมายความว่าถ้าไปขัดเงื่อนไขเข้าบริษัทพวกนี้ก็แบนได้

แต่เงื่อนไการรับบริการนี่แหละที่เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะถูกวิจารณ์ว่า "ยาวและซับซ้อนเกินไป" ทำให้ผู้ใช้บริการเลือกที่จะอ่านข้ามๆ แล้วกดยอมรับ เพียงพอที่จะถูกบริษัทพวกนี้ตักตวงข้อมูลส่วนตัวไปใช้หากิน และบางครั้งถึงกับได้รับอนุญาตให้ปิดปากพวกเขาด้วยซ้่ำหากทำผิด

บริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงมีอำนาจเหมือน "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ที่รัฐบาลต่างๆ ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะประชาชนผู้ใช้งานยอมตามเงื่อนไขเอง

แต่ในระยะหลังเพื่อทวงคืน "อธิปไตย" ของตนเอง ประเทศต่างๆ เริ่มกดดันให้บริษัทโซเชียลมีเดียเขียนเงื่อนไขการใช้บริการที่ง่ายขึ้น และแจ้งให้ชัดตามกฎหมาย

บางประเทศใช้วิธีเรียกเก็บภาษีบริษัทพวกนี้ ทางหนึ่งเพื่อหยุดการตักตวงแบบข้ามพรมแดน และอีกทางหนึ่งอาจเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า "พวกคุณหากินกับประเทศเรา ก็ต้องทำตามกฎของเรา

ด้วยความที่บริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่ถือสัญชาติอเมริกัน เมื่อประเทศต่างๆ เก็บภาษีพวกนี้ รัฐบาลสหรัฐ (ยุคทรัมป์) จึงไม่พอใจและข่มขู่ต่างๆ นานา แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนการแบนทรัมป์ ไม่ว่าหลังจากแบนทรัมป์แล้ว คนในรัฐบาลทรัมป์คงนึกอยากจะจัดระเบียบพวกนายทุนโซเชียลบ้างแน่ๆ

แม้ว่าทรัมป์จะพ้นตำแหน่งไป แต่พลพรรครีพับลิกันไม่มีทางปล่อยนายทุนโซเชียลแน่ๆ เท็ด ครูซ แกนนำสำคัญของรีพับลิกันก็เคยเรียกเจ้าของบริษัทกลุ่มนี้มาให้การต่อสภาคองเกรสแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้เขายังบอกว่า “ผมคิดว่า Google เป็นบริษัทที่อันตรายที่สุดในโลก Google เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดเนื่องจากมันใหญ่ที่สุด มันมีพลังมากที่สุด มันควบคุมการค้นหาส่วนใหญ่ของผู้คน” 

แม้แต่สหรัฐยังถูกล้วงลูก ประเทศอื่นๆ เห็นแล้วสันหลังวาบ เพราะไม่รู้วันไหนนายทุนโซเชียลมีเดียจะใช้อำนาจที่มีปิดปากพวกตนแล้วหันไปโปรโมทฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตน

มันเป็นไปแล้วที่โซเชียลมีเดียที่เอียงเข้าข้างกลุ่มการเมืองหนึ่งๆ จะปิดการเข้าถึงหรือทำการลบบัญชีของกลุ่มการเมืองหนึ่ง เหมือที่แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้บริหารของ Twitter บอกกับพนักงานว่า การกวาดล้างหลังจากการแบนทรัมป์จะใหญ่กว่านี้ และจะดำเนินต่อไปหลังจากไบเดน สาบานตนรับตำแหน่งแล้ว โดยชี้ว่าการกวาดล้างเกี่ยวกับความรุนแรงในโลกความเป็นจริง

แต่ Twitter มีอำนาจในการตัดสินมากแค่ไหนกัน? แม้แต่ผู้พิพากษายังต้องขัดเกลาคุณสมบัติมากมายกว่าจะชี้ขาดคนๆ หนึ่งได้ พนักงานธรรมดาของ Twitter จะสามารถชี้ขาดบัญชีใดๆ ได้เลยหรือว่าเป็นภยันตรายโดยไม่มีอคติ คำถามต่อมาคือหากมันเป็นอันตรายจริง มันอันตรายต่อสาธารณชน หรืออันตรายเฉพาะกลุ่มที่พนักงาน Twitter เอนเอียงไปทางนั้น

แจ็ค ดอร์ซีย์ก็บอกว่าเองว่า "สหรัฐแตกแยกอย่างหนักมาก แพลตฟอร์มของเราแสดงให้เห็นถึงสิ่งนี้ทุกวัน และหน้าที่ของเราคือการปกป้อิงเอกภาพของการเสวนา และสิ่งที่เราทำคือทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครตกอยู่ในอันตรายเพราะสิ่งนั้น"

ความกว้างใหญ่ไพศาลและซับซ้อนของโลกการเมืองใน Twitter นั้นแค่สหรัฐเองมันก็ทำให้แตกแยกอย่างหนักแล้วไม่อาจที่จะเยียวยาได้ง่ายๆ สิ่งที่ดอร์ซีย์ต้องยอมรับไม่ใช่การทำตัวเหมือนศาล แต่ยอมรับว่าโซเชียลมีเดียเองนั่นและที่ทำให้สังคมแตกแยกถึงขนาดนี้ และควรจะพัฒนาเทคโนโลยีอะไรสักอย่างที่ตรวจจับการคุกคามจริงๆ โดยเหมารวมไปหมด

เหมือนกับที่เท็ด ครูซ ที่เคยโต้เถียงกับแจ็ค ดอร์ซีย์อย่างเผ็ดร้อนระหว่างที่เรียกดอร์ซีย์มาให้การกับสภาคองเกรส ครูซบอกว่า “ผมถามคุณดอร์ซีย์ในการไต่สวนครั้งนั้นว่า 'ใครกันที่เลือกคุณและให้คุณเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เราต้องได้รับอนุญาตเสียก่อนถึงจะอ่านได้?"

โซเชียลมีเดียควรจะเป็น "มีเดีย" หรือสื่อกลาง แต่ตอนนี้พวกมันกับเจ้านายของพวกมันอาจจะกำลังใช้รสนิยมทางการเมืองมาชี้นำสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ต่อให้มีการข่มขู่จริงๆ แต่ไม่ใช่ที่สหรัฐ Twitter จะลงมือแก้ปัญหาให้ประเทศอื่นหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่น่าสงสัยอีก เช่นในกรณีของผู้ใช้ Twitter ในไทย จะขอยกตัวอย่างความเห็นที่เสนอให้ก่อความรุนแรงระหว่างการประท้วง เช่น

@srslypm (Oct 18, 2020) "ซักวันนึงมันต้องไปถึงขั้นทุบทำลาย, looting, พ่นสี, ล้มรูปปั้นอะ เลิกเอาคำว่าปัญญาชนมาใช้กับม็อบที หลายรอบแล้วที่คำนี้มัน excluded คนเกินครึ่ง ทั้งๆที่เขาก็อยากได้ประชาธิปไตยเหมือนพวกชนชั้นกลางที่ออกมาม็อบ"

@synxol (Oct 18, 2020) "แอคนี้สนับสนุน looting /graffiti/vandalism ค่า หมดเวลาที่จะประนีประนอม เลิกสู้ไปกราบไป ในเมื่อกฏหมายมันบิดเบี้ยวถึงขนาดยัดข้อหาให้คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดได้ ต่อไปก็ไม่ต้องไปเคารพกฏหมายของพวกมัน" 

คำว่า looting หมายถึงการปล้นข้าวของเวลาก่อจลาจล vandalism คือการทำลายข้าวของ แน่นอนว่าหลายทวีตก็ค้างในแพลตฟอร์ม "มาเป็นชาติแล้ว" ทั้งๆ ที่เป็นภัยชัดเจน แต่ก็ไม่ถูกลบจากเจ้าของแพลตฟอร์ม

ขณะที่ข้อความสนับสนุนการ looting นี้ถ้าไปอยู่ในสหรัฐมันจะถูกลบออกไป ในฐานะที่เป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย เช่น กรณีของทรัมป์ทวีตของเขาถูกซ่อน (แล้วตามด้วยการแบนบัญชีแบบไม่มีกำหนด) สาเหตุก็เพราะ Twitter เห็นว่าทวีตของทรัมป์ "ทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง" (glorifying violence)

ประเด็นนี้ ทิม คุก ผู้บริหารของ Apple  ก็ออกมาชี้แจงเรื่องที่เขาแบนแพลตฟอร์ม Parler ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งชุมนุมของพวกฝ่ายขวาผู้ก่อความรุนแรงว่า "เรามองไปที่การยั่วยุให้เกิดความรุนแรงที่นั่นและเราไม่คิดว่าการพูดอย่างเสรีและการยั่วยุให้จะมีจุดร่วมกันได้"

หากใช้มาตรฐานเดียวกัน Twitter และ Apple ก็ต้องแบนบัญชีในไทย (ซึ่งไม่มีตัวตนด้วยซ้ำหรือที่เรียกว่า "แอคหลุม") ฐานที่ทำให้ความรุนแรงดูเท่และเป็นเรื่องพึงกระทำ ควรจะเชือดมันทิ้งฐานที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงด้วย

ถามว่ารัฐบาลไทยไปสั่งให้ Twitter ลบบัญชี้นี้ไหม? รัฐบาลไทยก็คงไม่สนใจนักเพราะแม้แต่ทวีตที่ "เป็นปัญหา" มากกว่านี้ก็ไม่ได้รับสนใจแต่อย่างใด

และถ้าหากไปขอให้ทำอะไรสักอย่าง Twitter จะยอมหรือไม่ เพราะถือว่าตนมีอำนาจการตัดสินใจของตนเอง หรือ "มีอำนาจนอกเหนืออาณาเขตของไทย" นั่นเอง

และการที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองปล่อยให้แพลตฟอร์มพวกนี้เป็นเวทีในการเสนอให้ก่อจลาจลทำลายข้าวของ โดยไม่ทำอะไร (หรือทำอะไรไม่ได้) หมายความว่าทางการบ้านเราไม่มีอำนาจอธิปไตยแล้วหรือ?

คำถามเหล่านี้คงไม่มีคำตอบ เพราะแม้ต่สถาการณ์ในสหรัฐ โซเชียลมีเดียพวกนี้ก็ตอบคำถามหลายๆ คำถามไม่ได้ จนทำให้ผู้นำหลายๆ ประเทศต้องมีแอกชั่น

เช่น รัฐบาลโปแลนด์เสนอกฎหมายที่ห้ามโซเชียลมีเดียลบเนื้อหาหรือสั่งแบนผู้ใช้งาน หากผู้ใช้งานนั้นๆ ไม่ได้ละเมิดกฎหมายของโปแลนด์ และกฎหมายที่เสนอจะมีการจัดตั้ง "สภาเสรีภาพในการแสดงความเห็น" เพื่อสั่งให้ Facebook หรือ Twitter ต้องกู้คืนบัญชีที่ลบไป หากโซเชียลมีเดียละเมิดข้อนี้จะถูกปรับเป็นเงินถึง 13.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

การกระทำของโปแลนด์อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของนายทุนโซเชียล หรือเรียกว่าเป็นการกอบกู้อธิปไตยออนไลน์ของตนก็ได้ เพราะหากให้นายทุนโซเชียลฯ มีอำนาจเหนือกฎหมายโปแลนด์ไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถชี้นำอนาคตของโปแลนด์ได้ในที่สุด

พูดง่ายๆ คือหากประเทศไหนปล่อยให้ทำแบบนั้น ก็เท่ากับตกเป็นเมืองขึ้นของบริษัทโซเชียลมีเดียไปแล้ว

หลังจากนั้นประธานาธิบดีเม็กซิโกก็มีแอกชั่นตามมาติดๆ อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประกาศว่าจะเป็นผู้นำประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับการเซนเซอร์ของโซเชียลมีเดีย และหากมีการประชุม G20 เมื่อไรเขาจะเสนอเรื่องนี้ทันที

โอบราดอร์บอกว่า “ถูกต้อง ไม่ควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปลุกระดมความรุนแรงและอื่นๆ แต่ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการระงับเสรีภาพในการแสดงออกได้ ... บริษัทจะทำตัวราวกับว่ามันมีอำนาจ มีอิทธิพลทุกอย่างจนเหมือนกับศาลไต่สวนศาสนาของสเปนในสิ่งที่แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างไร”

ศาลไต่สวนศาสนาของสเปน หรือ Spanish Inquisition เป็นศาลในศตวรรษที่ 15 ที่ตัดสินผู้ที่ถูกกล่าวหาว่านอกรีต มักจะลงโทษผู้เห็นต่างจากศาสนจักรอย่างรุนแรง และมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจหลายครั้ง

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจลาจลคองเกรสและการแบนทรัมป์และการกวาดล้างบัญชีฝ่ายนิยมทรัมป์อย่างขนานใหญ่ มันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต่างๆ เริ่มเห็ฯภัยคุกคามจากนายทุนโซเชียลมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อจากนี้ มันไม่ใช่แค่สงครามระหว่าง "ไอโอ" (Information operation) ของกลุ่มการเมืองต่างๆ อีกต่อไป แต่ต่อจากนี้มันคือการประกาศให้โลกได้รู้ว่าใครคือผู้มีอำนาจตัวจริง

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Olivier DOULIERY / AFP