posttoday

บลูมเบิร์กตีแผ่ท่องเที่ยวไทยในวันที่ไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติ

16 มกราคม 2564

“เราปิดประเทศตลอดไปไม่ได้ แต่ก็ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่ควบคุมไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการเปิดแบบควบคุม”

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในบทความเรื่อง Thailand Sold Itself As A Paradise Covid Retreat. No One Came (ไทยชูจุดขายการเป็นสวรรค์สำหรับเลี่ยงโควิด แต่กลับไม่มีใครมา) ไว้น่าสนใจว่า กว่า 3 เดือนที่บรรดาโรงแรมและรีสอร์ทกลับมาเปิดบริการอีกครั้งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่กลับพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้า แม้จะคาดการณ์ตัวเลขไว้ต่ำสุดแล้วก็ตาม

จากข้อมูลของบริษัท Thailand Longstay ตัวแทนจัดทำวีซ่าพิเศษพบว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยด้วยวีซ่าพิเศษเฉลี่ยเดือนละ 346 คน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 1,200 คน และนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวก่อนที่ Covid-19 จะระบาดซึ่งอยู่ที่กว่า 3 ล้านคน

ความซบเซานี้ทำให้ไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวตกที่นั่งลำบาก

ไทยตั้งเป้าว่าจะดึงนักท่องเที่ยววัยเกษียณที่หนีความหนาวเย็นของฤดูหนาวในยุโรปและนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น โดยนักท่องเที่ยวต้องผ่านการกักตัว 2 สัปดาห์ซึ่งสามารถพักที่โรงแรมหรูที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ได้ และหลังจากนั้นสามารถพำนักอยู่ในไทยได้ถึง 9 เดือน

บลูมเบิร์กระบุว่า โครงการที่มีผู้สนใจน้อยยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางให้สอดคล้องกับทั้งผู้ประกอบการที่เรียกร้องให้ผ่อนคลายระยะเวลากักตัว ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เตือนว่าไม่ควรเอาความปลอดภัยของประชาชนมาเสี่ยง

ระหว่างนี้บรรดากิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทยอยปิดกิจการต่อเนื่อง หนำซ้ำยังเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ในประเทศอีก

Bhummikitti Ruktaengam นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเผยกับบลูมเบิร์กว่า “การถ่วงดุลระหว่างความต้องการของธุรกิจท่องเที่ยวกับคนในท้องถิ่นเป็นเรื่องท้าทายมาก ผมเข้าใจดีว่ามันน่าเบื่อที่ต้องติดอยู่ในห้อง 14 วัน ผมกักตัวมาแล้ว แต่ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน เพราะนักท่องเที่ยวมาแล้วก็ไป แต่คนท้องถิ่นต้องอยู่ที่นี่ตลอด”

6 เดือนที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลย ตามด้วยอีกหลายเดือนที่นักท่องเที่ยวบางตาทำให้ภาคการท่องเที่ยวสาหัส การวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กนิวส์โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่า เมื่อปีที่แล้วกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างน้อย 931 แห่งต้องปิดกิจการ แต่ตัวเลขจริงๆ อาจสูงกว่านี้ เนื่องจากหลายบริษัทไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการ

ตามเกาะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังสถานการณ์ค่อนข้างแย่ อาทิ ภูเก็ตที่มีรายได้ในภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 90% ก่อนการแพร่ระบาด ซอยบางลาในป่าตองร้างผู้คนและเรียงรายไปด้วยธุรกิจที่ปิดกิจการ

Rungarun Loiluen พนักงานร้านอาหาร The Kitchen ในซอยบางลาเผยว่า “เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแถวนี้ก็ร้าง แทบจะไม่มีคนเดินเลย”

บลูมเบิร์กระบุต่อว่า แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวทั้งการสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักและค่าเดินทาง แต่นักท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งมักจะเดินทางเฉพาะช่วงวันหยุดก็ไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

Jessada Srivichian ผู้จัดการฝ่ายการเงินของโรงแรม Hotel Clover Patong Phuket ในภูเก็ตเผยว่า “อยู่ภูเก็ตมา 20 ปีไม่เคยเห็นภูเก็ตเงียบแบบนี้ เราต้องการนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราไม่ได้คิดแต่เรื่องกำไร แต่ให้ความสำคัญกับการลดการขาดทุน เพราะตราบใดที่ยังต้องกักตัวก็ไม่มีใครมา”

ด้าน Ron Cooper ช่างภาพและที่ปรึกษาธุรกิจชาวอเมริกันเผยว่า “ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องเพิ่มวันเดินทางเป็นสองเท่าเพื่อเข้ากักตัว ไหนจะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าพักโรงแรมในช่วง 2 สัปดาห์โดยเปล่าประโยชน์อีก ไม่ใช่ข้อเสนอที่น่าดึงดูดเลย”

บลูมเบิร์กยังระบุอีกว่า มาตรการของไทยต่างกับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอื่น อาทิ มัลดีฟส์ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือน ก.ค. โดยไม่ต้องกักตัว เพียงแต่ต้องมีผลตรวจ Covid-19 เป็นลบ และนับแต่นั้นก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามัลดีฟส์กว่า 172,000 คน แม้จะลดลงบ้างในช่วงที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มDirk de Cuyper ซีอีโอ S Hotels & Resorts เผยกับบลูมเบิร์กว่า “ถือเป็นความท้าทายที่มัลดีฟส์เปิดรับนักท่องเที่ยวซึ่งมากับความเสี่ยง” และนั่นอาจเป็นข่าวร้ายสำหรับไทย “นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกักตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีประเทศอื่นที่อ้าแขนต้อนรับและไม่ต้องกักตัว”

บลูมเบิร์กบอกว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการกักตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากคนท้องถิ่นอาศัยใกล้กับโรงแรมหรือรีสอร์ท ขณะที่โรงแรมและรีสอร์ทของมัลดีฟส์อยู่แยกออกมาตามเกาะต่างๆ ขณะที่บางคนมองว่าต้องรอวัคซีนก่อน

ทว่า ก็ยังมีคำถามว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะดำเนินไปอย่างไรหลังจากคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว

ซึ่งขณะนี้วัคซีนพาสปอร์ตกำลังถูกพูดถึงว่าจะเข้ามาตอบโจทย์นี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะบังคับใช้กันอย่างไร

อย่างไรก็ดี แม้จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตมองว่า แนวทางที่ถูกต้องสำหรับไทยคือเปิดประเทศด้วยความระมัดระวัง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบต้องรอวัคซีน

“เราปิดประเทศตลอดไปไม่ได้ แต่ก็ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่ควบคุมไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการเปิดแบบควบคุม” Bhummikitti กล่าว

Photo by Mladen ANTONOV / AFP