posttoday

เพื่อนบ้านเร่งตุนวัคซีน ไทยควรรีบตามหรือไม่?

13 มกราคม 2564

ในบรรดาประเทศอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงที่สุด

อินโดนีเซียยังมีประชากรที่หนาแน่น และมีจำนวนประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก อินโดนีเซียจึงถูกบีบให้เร่งกว้านวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน วัคซีนที่ได้มาคือ CoronaVac จากบริษัท Sinovac ของจีน

สำนักงานควบคุมอาหารและยาของอินโดนีเซียบอกว่าจากข้อมูลเฉพาะกาลหลังการทดสอบกับมนุษย์พบว่า CoronaVac มีประสิทธิภาพ 65.3% แต่หนึ่งวันหลังจากนั้นบราซิลซึ่งทดสอบใช้ CoronaVac เช่นกันบอกว่าประสิทธิภาพของมันแค่ 50.4% ต่ำกว่าตัวเลขที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่ามีประสิทธิภาพถึง 78%

50% อาจจะดูน่ากังขาอย่างมาก แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 50% จึงจะสามารถอนุมัติใช้วัคซีนได้ หมายความว่ามันก็ใช้ได้ แต่ต้องเผื่อใจไว้ด้วย

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ฉีดวัคซีนไป 100 คนจะมีแค่ 50 คนที่จะไม่ติดโรค ส่วนที่เหลือก็ต้องลุ้นกันไป

แต่ถึงจะไม่เต็มร้อยและช่วยได้แบบ 50/50 แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย สำหรับประเทศที่ระบบสาธารณสุขแบกรับไม่ไหวแล้ว การที่มีคนติดโรคลดลงไปกว่าครึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มองเห็นแง่มุมนี้ หลายคนรู้สึกว่าหากวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่เต็มร้อยก็ไม่ควรฉีดมัน ลักษณะแบบนี้จะทำให้การป้องกันการระบาดมีปัญหาขึ้นมา และอาจจะเข้าข่าย "กลุ่มต่อต้านวัคซีน" (anti-vaccination) เอาง่ายๆ

แต่ก็มีผู้เถียงว่าการไม่ไว้ใจวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าเป็นการต่อต้านมัน เพียงแค่รู้สึกว่ามันยังมีข้อมูลไม่ชัดเจน และยังไม่อุ่นใจกับว่าประสิทธิภาพ ประเด็นนี้จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละรัฐบาลจะต้องไปให้ความรู้ประชาชนกันเอง ประเทศไหนทำไม่สำเร็จ การหยุดยั้งการระบาดอาจจะยากสักหน่อย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วแพทย์ในอินโดนีเซีย เช่น สมาคมแพทย์แห่งอินโดนีเซีย (IDI) เตือนรัฐบาลว่าอย่ารีบร้อนผลักดันโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 และขอให้อดทนรอผลการทดสอบไปก่อน และชี้ว่ามีประเทศที่รอดูผลการทดสอบที่พิมพ์เผยแพร่แล้วเหมือนกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์ยังสัมภาษณ์แพทย์ชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งที่ชื่อยุสเดนี ลานาซักตี (Yusdeny Lanasakti) ที่บอกว่า "ผมไม่ได้ปฏิเสธวัคซีน แต่ผมปฏิเสธวัคซีนของ Sinovac" และแพทย์บางคนบอกกับรอยเตอร์สว่าเขาพร้อมจะฉีดวัคซีน แต่มันยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น ภูมิคุ้มกันจะยาวนานแค่ไหน และมันจะเสื่อมประสิทธิภาพในลักษณะไหน

ความกังขานี้ทำให้ดิกกี้ บูดิแมน (Dicky Budiman) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลียบอกว่า "ถ้ายังมีความกังขาในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข ก็หมายความว่ามันมีปัญหาที่ระดับรากเหง้า"

นักวิทยาศาสตร์ที่ออสเตรเลียก็มีปัญหากับวัคซีนเช่นกัน รอยเตอร์สรายงานว่านักวิทยาศาสตร์ที่นั่นกังขากับประสิทธิภาพของวัคซีนของ AstraZeneca ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพราะมีประสิทธิภาพ 62% เทียบกับของ Pfizer-BioNtech ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 90%

ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าออสเตรเลียจะมีปัญหากับวัคซีนจีนหรือไม่ เพราะแค่วัคซีนของตะวันตกที่เปอร์เซ็นต์น้อยพวกเขาก็ยังไม่ยอมรับ

ข้ามมาที่มาเลเซีย เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางเดือนมกราคมสถานการณ์ก็เลวร้ายถึงขีดสุดถึงกับรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ก่อนหน้าที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินมาเลเซียที่ละล้าละลังมาระยะหนึ่งก็รีบไปดีลวัคซีนจากหลายๆ

มาเลเซียใช้สูตรคล้ายๆ ไทย คือรับทั้งวัคซีนตะวันตก คือ Pfizer/BioNTech โดยสั่งเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า และสั่งจาก AstraZeneca ด้วย นอกจากนั้นยังดีลกับ Sinovac และ CanSino Biologics ของจีน แต่ที่ไม่เหมือนไทยคือไปเอาวัคซีนรัสเซียคือ Sputnik V มาด้วย

เป้าหมายของมาเลเซียก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้ประชากร 60% - 70%

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวจากบราซิลว่าวัคซีน CoronaVac มีประสิทธิภาพ 50.4% ทางการมาเลเซียก็ตอบรับในวันเดียวกันว่าจะศึกษาข้อมูลทางคลินิกของวัคซีนตัวนี้ก่อนจะอนุมัติการใช้งาน

แต่ถึงจะมีความจำเป็นเร่งด่วน มาเลเซียก็มีกลุ่มที่ติงเรื่องการใช้วัคซีนคือ Covid Research Centre ในกัวลาลัมเปอร์ที่บอกว่าวัคซีนของ Pfizer ไม่เหมาะกับมาเลซียและ "เป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุดในขณะที่อีกสองวัคซีนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสาธารณชน เพียงแต่จำเป็นต้องมีความโปร่งใสและข้อมูลมากกว่านี้"

กลายเป็นว่ากลุ่มนี้กังขากับวัคซีนตะวันตก แต่อ้างว่าชาวมาเลเซียยอมรับวัคซีนอีก 2 สูตรจากจีน

หากเป็นในเมืองไทยคาดเดาได้เลยว่าคนไทยจะต้องเชื่อใจวัคซีนตะวันตกมากว่าวัคซีนจากประเทศจีน

กลุ่มนี้มีจดหมายเปิดผนึกออกมาก่อนที่จะมีการเปิดเผยผลการทดสอบจากบราซิลว่าหนึ่งในวัคซีนจีนให้ผลแค่ 50.4% แต่ดูเหมือนว่าประเด็นของทางกลุ่มไม่ได้ที่ประสิทธิภาพของวัคซีน แต่อยู่กระบวนการผลิตมากกว่า

ทางกลุ่มชี้ว่า Pfizer/BioNTech ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีนคือเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้วิธีการฉีด RNA สังเคราะห์เข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวัคซีนของตัวเองขึ้นมา เทคโนโลยีใหม่นี้ทางกลุ่มยังไม่มั่นใจ ขณะที่วัคซีนของจีนใช้เทคโนโลยีแบบเดิมในการผลิตวัคซีนที่เรียกว่าวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) คือวัคซีนที่ประกอบขึ้นจากตัวไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อก่อโรคอื่นที่ถูกเพาะขึ้นแล้วทำให้ตายหรือไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้

ที่น่าสนใจก็คือในระหว่างที่บริษัทต่างๆ เร่งผลิตวัคซีนกันเอาเป็นเอาตาย แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง Merck กลับเงียบกริบ

ใครที่อยู่ในวงการธุรกิจยาย่อมทราบดีว่า Merck เป็นเจ้าตลาดโดยเฉพาะในเรื่องวัคซีน แต่คราวนี้ Merck กลับไม่มีผลงานอะไรเด่นชัด ปล่อยให้บริษัทอื่นซึ่งบางรายเป็นบริษัทระดับรองๆ ด้วยซ้ำลงมาเล่นในตลาดวัคซีนโควิด-19 คำถามก็คือทำไม?

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 เคน เฟรเซียร์ (Ken Frazier) ซีอีโอของ Merck และผู้ทรงอิทธิพลชั้นนำระดับโลกด้านการพัฒนาวัคซีนได้เตือนถึงอันตรายจากการเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน เขาบอกว่า "ก่อนอื่น (การพัฒนาวัคซีน) ต้องใช้เวลามาก…ทำไมน่ะหรือ? (เพราะ) ต้องมีการประเมินทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวด"

ส่วนโรเจอร์ เพิร์ลมัตเตอร์ (Dr. Roger Perlmutter) หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Merck บอกว่าเขากังวลกับการลงไปเสี่ยงดวงกับเทคโนโลยีวัคซีนที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด Merck ก็พัฒนาวัคซีนแข่งกับรายอื่นๆ ในที่สุด แต่ก็ยังไม่วายที่เคน เฟรเซียร์จะบอกว่ายาและวัคซีนสำหรับโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งการการระบาด เราจะยังคงต้องสวมหน้ากากป้องกันกันต่อไปในปีนี้

สำหรับประเทศไทย ช่วงก่อนปลายปีก่อนการระบาดอีกรอบ รัฐบาลได้ประกาศดีลกับบางบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และเผยว่าวัคซีนบางตัวจะนำมาใช้ได้ช่วงปลางปี 2021 โดยที่ไม่ได้มีบรรยากาศของความจำเป็นเร่งด่วนนัก เพราะในเวลานั้นไทยค่อนข้างที่จะคุมอยู่ จนกระทั่งสถานการณ์เปลี่ยนไปช่วงปลายปี

หลังจากที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับการได้ยินข่าวคราวว่าเพื่อนบ้านได้รับวัคซีนจากจีนและรัสเซีย ทำให้สาธารณชนเริ่มตั้งคำถามว่า "ทำไมรัฐบาลถึงเชื่องช้านักในการซื้อวัคซีน"

แรงกดดันนี้ทำให้รัฐบาลต้องรีบขยับด้วยการเร่งไปดีลกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ เพิ่มเติม ในช่วงแรกๆ ไทยเน้นดีลกับบริษัทตะวันตก จนกระทั่งไปดีลกับบริษัทจีนมาด้วย

แต่หลังจากนั้นสาธารณชนก็เริ่มตั้งคำถาม (อีกครั้งว่า) วัคซีนจีนมีประสิทธิภาพจริงหรือ? และบางคนยังตั้งคำถามเรื่องประเด็นการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจเบื้องหลังการดีลกับจีนด้วย

แต่ในเมืองไทยยังถกเถียงกันน้อยเรื่องที่ว่าเราควรรอผลการทดสอบก่อนหรือไม่ ส่วนหนึ่งเพราะความรู้สึกว่าเราไม่สามารถแบกรับการล็อคดาวน์ได้อีกต่อไปแล้ว (แม้ว่ารัฐบาลจะเลี่ยงใช้คำว่าล็อคดาวน์ก็ตาม) เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักหน่วงเกินไป ถึงขนาดบอกกันว่า "ยอมติดโควิดดีกว่าอดตาย" และวัคซีนจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เราต้องล็อคดาวน์อีก

ลองดูที่ออสเตรเลีย แม้ว่ารัฐบาลจะถูกดดันอย่างหนักเหมือนที่รัฐบาลไทยกำลังเจอ แต่นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสันบอกว่าจะไม่ยอมเสี่ยงโดยไม่จำเป็นเพราะ "ออสเตรเลียไม่ได้อยู่ภาวะฉุกเฉินเหมือนสหราชอาณาจักร ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้ทางลัด"

บางทีหากรัฐบาลไทยสามารถควบคุมการระบาดครั้งล่าสุดไว้ได้ เราควรจะรอดูผลการใช้ในประเทศอื่นก่อนหรือไม่? แทนที่จะเร่งรีบไล่ตามเพื่อนบ้านให้ทัน ทั้งๆ ที่มันไม่ควรเป็นการแข่งขัน และหากเป็นการแข่งขัน มันก็เป็นการแข่งขันที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Gent SHKULLAKU / AFP