posttoday

จลาจลคองเกรสให้บทเรียนอะไรกับประเทศไทย?

11 มกราคม 2564

วิเคราะห์แนวโน้มหลังความวุ่นวายในสหรัฐ ไทยควรจะเรียนรู้อะไรจากความวุ่นวายในดินแดนที่เรียกว่า "แม่แบบประชาธิปไตย"

1. เราจะเห็นได้ว่าผู้นำที่ได้รับเลือกจากกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องอย่างโดนัลด์ ทรัมป์อาจทำเรื่องที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยได้ ด้วยการปลุกระดมม็อบให้ทำลายสถาบันหลักของประเทศ (สภานิติบัญญัติ) บุคคลประเภทนี้เรียกว่า Demagogue คือ ผู้นำทางการเมืองที่แสวงหาการสนับสนุนโดยปลุกระดมมวลชนโดยใช้อารมณ์และข้อกล่าวหาที่เหมือนจะจริงแต่ไม่จริง (เฟคนิวส์) เพื่อหวังผลทางการเมือง นี่คือจุดอ่อนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ที่เสียงส่วนมากจะเลือกใครเข้ามาก็ได้แม้ว่าคนนั้นอาจมีปัญหาซีเรียสมากๆ แบบทรัมป์

2. ดังนั้นเพื่อป้องกันความหายนะจากนักการเมืองแบบ Demagogue นักปรัชญาการเมืองจึงพยายามจะบอกว่าแม้เราจะมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ถ้ามีคนใช้เสรีภาพคุกคามเสรีภาพคนอื่น เราจะไม่ทนเช่นกัน และตอนนี้สังคมอเมริกันจึงต้องปิดปากทรัมป์ในทันทีเพื่อไม่ให้คนแบบนี้มีปากมีเสียงเพื่อปลุกระดมคนให้ทำเรื่องเลวร้าย โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ จึงแบนทรัมป์จากการใช้งานและยังปิดเพจการเมืองสุดโต่งที่หนุนทรัมป์เพื่อป้องกันคนพวกนี้ระดมพลก่อความวุ่นวายอีก

3. แต่การปิดปากทรัมป์และพรรคพวกก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นการละเมิดหลักการเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือไม่ เพราะตามอุดมการณ์การเมืองของอเมริกานั้นเสรีภาพด้านการแสดงความเห็นไม่ว่าจะของใครก็ตามถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดและยังระบุไว้ในมาตราแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐด้วย คำถามก็คือ การปิดปากทรัมป์ชอบธรรมหรือไม่? แม้จะมีนักปรัชญาการเมืองอธิบายไว้ว่าการกำจัดคนที่เป็นภัยต่อเสรีภาพผู้อื่นเป็นความชอบธรรมก็ตาม 

4. แม้ว่าการกระทำของทรัมป์จะผิดหลักการและกฎหมาย แต่เพราะสังคมที่แตกแยกอย่างมาก (เหมือนในประเทศไทย) ผู้สนับสนุนทรัมป์รวมถึงฝ่ายที่ไม่หนุนทรัมป์แต่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาไม่เห็นว่าการปลุกระดมของทรัมป์เป็นเรื่องที่ผิด แต่ชี้ว่าสิ่งที่ผิดคือการไปปิดปากทรัมป์โดยฝ่ายตรงข้ามที่พวกเขาเรียกว่า "พวกฝ่ายซ้าย" ที่ทำลายหลักการของประเทศ จะเห็นว่าสังคมที่แตกแยกอย่างหนัก แต่ละฝ่ายจะไม่มีใครยอมรับว่าตนผิด และสังคมแบบนี้ง่ายมากที่จะเกิดปรากฎการณ์ "กลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำ"

5. เมื่อมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับทรัมป์ เกิดคำถามว่าแล้วทำไมโซเชียลเน็ตเวิร์กสัญชาติอเมริกันถึงไม่ยอมแบนนักการเมืองจอมปลุกระดมด้วยเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว, นักปลุกระดมทางการเมืองด้วยความเท็จ หรือข่าวปลอมในประเทศที่มีปัญหาความแตกแยกทางการเมืองรุนแรง จนทำให้การเสถียรภาพในประเทศนั้นๆ สั่นคลอนอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่มีการชุมนุมประท้วงและถูกสหรัฐเข้ามาแทรกแซงโดยอ้างเสรีภาพและประชาธิปไตย

6. การกระทำแบบหลายมาตรฐานทำให้ชาวโลกได้ข้ออ้างที่จะสวนกลับสหรัฐและชาติตะวันตกบางประเทศ (เช่นเวียดนาม) ที่เร็วๆ นี้สหประชาชาติแสดงกังวลเรื่องการลงโทษนักข่าวสามคนและการที่รัฐบาลเวียดนามกดขี่เสรีภาพในการแสดงความเห็น ในเพจของสำนักข่าว Voice of America (ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสภาคองเกรส) มีชาวเวียดนามมาแสดงความเห็นว่า "สนใจเรื่องของคุณเถอะ ฉันเกรงว่าประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาไม่มีเสรีภาพในการพูด บัญชีโซเชียลมีเดียของเขาถูกระงับโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไปแล้ว"

7. อีกข้อถกเถียงกันก็คือ อิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่สามารถปิดปากใครก็ได้แม้แต่ "ผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก" และยังลามไปถึงกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนทรัมป์ ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยชี้ว่านายทุนโซเชียลเน็ตเวิร์กมีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ ถ้าเกิดว่าบริษัทเหล่านี้ต้องการจะชี้นำระบอบการเมืองหรือค่านิยมอะไรให้สังคม คนเหล่านี้ก็แค่ Boost โพสต์กลุ่มที่เห็นตรงกับพวกเขา แล้ว Ban พวกที่เห็นต่าง

8. เรื่องนี้จะกระทบประเทศอื่นๆ ด้วยในไม่ช้า (ในกรณีของไทยอาจเกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ) โซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีอำนาจในการ Boost และ Ban กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในประเทศใดก็ได้ที่ตนเห็นว่าให้ประโยชน์แก่นายทุนโซเชียล หรือในอนาคตนายทุนโซเชียลอาจจะร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐ/ชาติตะวันตกในการ Boost และ Ban ใครก็ตามที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนในประเทศไหนๆ ก็ตาม

9. ความกังวลนี้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของ Twitter ลดลง 7% หลังจากประกาศ Ban ทรัมป์ตลอดกาล นักวิเคราะห์บอกผ่านสำนักข่าว Bloomberg ว่าการทำแบบนี้เท่ากับโซเชียลเน็ตเวิร์กทำตัวเป็นตัวคัดกรองความเห็น ไม่ใช่สื่อที่เป็นสื่อกลางจริงๆ และเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลต้องจัดระเบียบโซเชียลเน็ตเวิร์ก คำถามก็คือหากประเทศอื่นจัดระเบียบ Twitter แล้ว ประเทศไทยควรทำตามหรือไม่? หรือหากไทยทำตามเราจะใช้มาตรฐานไหน? เพราะสหรัฐที่ทำตัวเป็นผู้กำหนดมาตรฐานโลกยังสับสนตัวเองอยู่ในเวลานี้

10. ในส่วนของวงการการเมือง มีบทเรียนหนึ่งที่ไทยน่าจะเรียนรู้ได้ ถึงแม้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา พรรครีพับลิกันจะเข้าข้างทรัมป์มาโดยตลอด แต่เมื่อทรัมป์ทำลายหลักการอันเป็นเสาหลักของประเทศ รีพับลิกกันก็หันหลังให้กับทรัมป์ในทันที และบางส่วนยังแสดงท่าทีสนับสนุนกกระบวนการถอดถอนทรัมป์ด้วย บทเรียนก็คือ เมื่อถึงที่สุดแล้วนักการเมืองจะต้องเลิกยึดติด "หัว" หากหัวจะพาประเทศชาติหรือแม้แต่พรรคล่มสลาย

11. ท่าทีของรีพับลิกันอาจมองได้ว่าเป็นการแสดงความเป็นนักการเมืองมืออาชีพที่ยึดกับหลักการมากว่าตัวบุคคล หากหลักการของประเทศถูกสั่นคลอน แต่ก็ยังอาจมองได้ว่าเป้นการรักษาตัวรอดเป็นยอดดีของพวกรีพับลิกัน เพราะการกระทำที่ล้ำเส้นของทรัมป์เสี่ยงที่จะทำให้รีพับลิกันสูญเสียคะแนนนิยมในระยะสั้น หากเป็นประเด็นหลังเท่ากับรีพับลิกันตัดหางปล่อยวัดพวกฝ่ายขวาสุดโต่งแล้ว

12. อย่างไรก็ตาม สังคมที่แตกแยกอย่างหนักยากที่จะประสานได้ง่ายๆ ทรัมป์ได้ปลดปล่อยพวกสุดโต่งที่ถูกเก็บอาการมานาน หลังจากนี้คนเหล่านี้ก็จะยังจะเป็นแบบเดิมต่อไป (เช่นขู่ว่าจะไปป่วนงานสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน) และในอนาคตรีพับลิกันอาจจะใช้ประโยชน์จากคนกลุ่มนี้ต่อไปโดยอาจหาตัวแทนที่สุดโต่งน้อยกว่าทรัมป์ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นสาวกที่เหนียวแน่นของการเมืองฝ่ายขวา จนเปลี่ยนมาเป็นอีกด้านได้ยาก

13. ในระดับการเมืองโลก ไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเห็นเหตุการณ์ที่วอชิงตัน ดีซี. แล้วรู้สึกกังวล และเตือนว่าประชาธิปไตยของสหภาพยุโรปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในสหรัฐ ดังนั้นเขาจึงเสนอให้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยในวงกว้างโดยให้สหรัฐและสหภาพยุโปรเป็นแกนนำเรียกว่า 'Marshall Plan for democracy' หรือแผนมาร์แชลล์เพื่อประชาธิปไตย เลียนแบบชื่อแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan) ที่สหรัฐช่วยฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

14. สิ่งสำคัญที่ไฮโก มาสบอกก็คือ "เราจะต้องไม่ยอมอ่อนข้อให้กับศัตรูของประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal democracy) ซึ่งก็คือประชาธิปไตยแบบประเทศตะวันตก คำพูดนี้ทำให้นึกถึงความพยายามของประเทศตะวันตกที่จะยัดเยียดให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีระบอบการปกครองแบบตะวันตก หากประเทศไหนไม่ปฏิบัติตามจะถูกคว่ำบาตร ซึ่งสิ่งที่คนไทยต้องตรึกตรองให้ดีก็คือ ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีข้อดี แต่มันก็มีข้อเสียเช่นกัน ในขณะที่มันมีค่านิยมสากลที่เราต้องปฏิบัติ เช่น สิทธิมนุษยชน มันก็มีค่านิยมเฉพาะของตะวันตกที่ไม่เข้ากับสังคมไทยและไทยต้องทบทวนให้ดีว่าไทยควรจะคล้อยตามหรือไม่

15. แต่ในแง่หนึ่งก็อาจมองว่าประเทศตะวันตกเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะรู้สึกหวั่นใจว่าระบอบของตนถูกบ่อนทำลายจากภายดินแดนของตนนั่นเองเพราะแม้แต่นอกสหรัฐผู้คนยังเสียงแตกกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเสรีนิยม ดังนั้นหลังจากนี้ประเทศตะวันตกจะเกิดกลไกป้องกันตนเองขึ้นมา ด้วยการเร่งยัดเยียดประชาธิปไตยตามใบสั่ง เพื่อกลบเกลื่อนความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในดินแดนตัวเอง

17. หมายเหตุท้ายเรื่อง - หลังจากที่บทความนี้เขียนเสร็จไม่กี่ชั่วโมงโฆษกของอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีซึ่งถือเป็นเสาหลักหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกกล่าวว่า การ Ban ทรัมป์จาก Twitter เป็นเรื่องที่มีปัญหา (problematic) และเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอีกและชี้ว่าการปิดปากทรัมป์นั้นเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐานนี้สามารถแทรกแซงได้ แต่ต้องทำตามกฎหมายและอยู่ในกรอบที่กำหนดโดยฝ่ายนิติบัญญัติ - ไม่ใช่โดยการตัดสินใจของผู้บริหารแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” คำกลา่วนี้อาจนำไปสู่การควบคุมโซเชียลมีเดียที่มีอำนาจล้นฟ้าจนเสี่ยงต่อสถานะของระบอบประชาธิปไตย

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by SAUL LOEB / AFP