posttoday

ทำไมลาวได้วัคซีนก่อนไทย?

02 มกราคม 2564

ไม่ใช่แค่ลาว แต่เพื่อนบ้านบางประเทศในอาเซียนได้วัคซีนกันแล้ว แต่เหตุผลคืออะไร?

คนไทยให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวางหลังจากที่มีข่าวว่าประเทศ สปป.ลาว ได้รับวัคซีนจากป้องกันโควิด-19 จากบริษัท Sinopharm ของประเทศจีนแล้วจำนวน 2,000 โดส โดยจะทำการฉีดให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับบุคคลเหล่านี้

ข่าวนี้เปิดเผยโดย ดร.บุนกอง สีหาวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว ระหว่างการแถลงข่าวโดยศูนย์ปฏิบัติการคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล สปป.ลาว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมาโดยกล่าวว่า ทางการลาวได้ติดต่อกับประเทศมิตรสหายของลาว คือจีนและรัสเซีย และได้วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินได้ คือ Sinopharm จากจีน Sinovac จากจีน และ SPUTNIK V จากรัสเซีย

ในส่วนของวัคซีน Sinopharm จากจีน ดร.บุนกอง ยืนยันว่าเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และผลข้างเคียงน้อยได้ผล และศักยภาพของหน่วยงานใน สปป. ลาวสามารถเก็บรักษาไว้ได้ และในเวลานี้ทางจีนได้ส่งมาให้ สปป. ลาวเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และได้ฉีดรอบที่ 1 ไปแล้วให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยง

เบื้องต้นวัคซีนไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงกับผู้ที่ได้รับการฉีด ดร.บุนกองจึงกล่าวว่าจึงเป็นวัคซีนที่เชื่อถือได้ และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว

ส่วนวัคซีนจาก Sinovac ของจีนเช่นกันนั้น ยังอยู่ระหว่างการผลิตและทดลองระดับที่ 3 แต่คุณสมบัติกับผลข้างเคียงก็เหมือนกับ Sinopharm ทางกระทรวงสาธารณสุขลาวได้ติดต่อสอบถามไปทางบริษัทผู้ผลิต ซึ่งยังต้องเจรจากันในบางประเด็น เช่น ราคา

ดร.บุนกองกล่าวว่าสำหรับวัคซีน SPUTNIK V จากรัสเซีย ได้ปรึกษาหารือกับทางรัสเซียอยู่เช่นกัน โดยเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพเหมือนกันมีผลข้างเคียงน้อย โดยต้องฉีด 2 ครั้งสร้างภูมิคุ้มกันได้ 2 ปี เทียบกับของ Sinopharm จากจีนคุ้มครองได้ 3 ปี

วัคซีนของรัสเซียได้เดินทางมาถึงประเทศ สปป. ลาวในวันที่ 2 มกราคม 2021 โดยล็อตแรกจะช่วยฝ่ายลาวจำนวน 500 โดส เพียงแต่ต้องอาศัยการเก็บรักษาที่ยุ่งยาก

นอกจากนี้ ลาวยังได้รับความช่าวยเหลือจาก GAVI หรือพันธมิตรวัคซีน ในฐานะ 1 ใน 92 ประเทศกำลังพัฒนาและในปี 2021 จะได้รับวัคซีนสำหรับประชากร 20% หรือประมาณ 1.44 ล้านคน

แต่วัคซีนที่จะได้รับมาจะต้องผ่านการยืนยันคุณภาพทั้งหมดจากการทดลองขั้นที่ 3 แล้วและได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกแล้ว คาดว่าจะสามารถฉีดให้กับประชาชนชาวลาวได้ภายในเดือนมีนาคมหรือเมษายน

หลังจากที่มีข่าวเรื่องนี้ออกมา เว็บไซต์ข่าวใน สปป. ลาวได้มีชาวลาวเข้ามาแสดงความเห็นกันพอสมควร เช่น ในเพจเฟซบุ๊คของสำนักข่าว Tholakhong มีผู้เข้ามาตั้งข้อสงสัยว่า "กำหนดอย่างไรกับ 1,400,000 คน คนลาวมีเจ็ดล้านกว่าคน" อีกคนแสดงความเห็นว่า "ทำไมได้รับวัคซีนเพียง 1.4 ล้านคน ทำไมถึงไม่ได้รับทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพลเมืองส่วนเกินหรือ?"

ชาวลาวคนหนึ่งบอกว่า "ระวังเป็นหนูทดลองยานะ" ซึ่งความเห็นนี้มีผู้เข้ามาตอบว่า "ข้อยยอมได้ ยอมเป็นหนูทดลองยา ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรกับโรค XX นี้เลย"

ในประเด็นเรื่องที่กังวลว่าชาวลาวจะเป็นหนูทดลองยาให้กับจีนและรัสเซียนั้นถูกพูดถึงพอสมควร เช่น ในผู้แสดงความเห็นในเพจหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนของจีนกับรัสเซียนั้นประสิทธิภาพไม่ถึง 95% (เทียบกับของ Pfizer/BioNTechX และยังอ้างว่าคุณภาพวัคซีนของจีนและรัสเซียไม่ถึงขั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้

อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้ไม่ตรงกับความจริง เช่น Sinopharm มีประสิทธิภาพ 79% แต่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่อนุมัติใช้วัคซีนตัวนี้เผยว่ามีประสิทธิภาพ 86%

ก่อนหน้านี้เปรูรับวัคซีนของ Sinopharm ไปทดลองและระงับการทดลองโดยบอกว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงต่ออาสาสมัคร 1 รายช่วงกลางเดือนธันวาคม แต่ไม่กี่วันต่อมาเปรูสั่งวัคซีนของ Sinopharm กลับมาทดลองใหม่อีกครั้ง หลังจากเคลียร์เรื่องผลข้างเคียงแล้ว

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติ0uoอนุมัติให้มีการใช้วัคซีนของ Sinopharm ทั่วประเทศ และคาดว่าจะครอบคลุม 60 - 70% ของประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เนื้่องจากวัคซีนของจีนได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพความปลอดภัย แต่ทางการจีนยังไม่เปิดเผยว่าจะเริ่มการฉีดเมื่อใด

ในส่วนของวัคซีนจาก Sinovac ของจีนเช่นกันนั้น ได้เดินทางไปถึงอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมแล้วจำนวน 1.8 ล้านโดส รวมกับ 1.2 ล้านโดสที่ได้รับไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าว่าจะฉีดให้กับประชากร 267 ล้านคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยเริ่มจากบุคคลากรทางการแพทย์ก่อน

จะเห็นได้ว่าจำนวนวัคซีนที่อินโดนีเซียได้รับมีสัดส่วนน้อยกว่าจำนวนประชากรอย่างลิบลับ เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรลาวแล้ว วัคซีนที่ลาวจะได้รับในช่วงเดือนมีนาคมยังมีมากกว่าเสียอีก

ชาวลาวบางคนยังแสดงความเห็นว่า การที่อินโดนีเซียรับวัคซีนจากจีนก็เท่ากับยอมเป็นหนูลองยา ประเด็นนี้ถึงแม้จะเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีมูล แต่สะท้อนความเห็นของผู้วิจารณ์บางคนเกี่ยวกับการที่อินโดนีเซียพึ่งพา Sinovac มากเกินไปโดยที่ Sinovac ยังไม่มีข้อมูลรวบยอดเกี่ยวกับประสิทธิภาพ

เบื้องต้นบราซิลเผยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมว่ามีประสิทธิภาพ 50% แต่ทางบริษัทขอร้องไม่ให้เปิดข้อมูลทั้งหมด ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องความโปร่งใส แต่ตุรกีที่ใช้ Sinovac เช่นกันเผยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมว่าประสิทธิภาพถึง 91% แต่จำนวนผู้ทดลองในตุรกีน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่นมากทำให้ผลของมันยังไม่ชัวร์เข้าไปอีก

สาเหตุที่ สปป. ลาวได้รับวัคซีนในสัดส่วนน้อยมากในช่วงแรกจึงอาจทำให้บางคนคิดว่าน่าจะเป็นการทดลองประสิทธิภาพแบบเดียวกับบราซิลและตุรกี แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือลาวมีประชากรน้อยและเบาบาง ระดับความจำเป็นเร่งด่วนจึงไม่เหมือนประเทศอื่น กลุ่มเสี่ยงที่เป็นบุคลากรแพทย์ก็ไม่มากเท่าประเทศอื่น

เจียงไจ้ตง เอกอัครราชทูตจีนประจำเวียงจันทน์กล่าวเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2021 ว่าฝ่ายจีนตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ลาวจำเป็นจะต้องใช้วัคซีน

ที่ผ่านมาลาวไม่ได้มีการระบาดในวงกว้าง และเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดน้อยที่สุด ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนนี้อาจเกี่ยวกับการที่โควิด-19 กลับมาระบาดในวงกว้างในประเทศไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของลาวด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไทยแล้ว การรับวัคซีนของไทยเป็นวาระเร่งด่วนมากกว่า และล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมว่าได้เจรจาขอซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนทุกราย จนสามารถรับประกันได้มาจำนวน 2 ล้านโดสเป็นล็อตพิเศษที่จะมาถึงเดือนกุมภาพันธ์-เมษยน เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยงคือบุคคลากรการแพทย์ก่อน

นอกจากนี้ยังได้เจรจากับบริษัท AstraZeneca เพื่อขอซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 26 ล้านโดส รวมของเดิมเป็น 52 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนตัวนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้อุมัติให้ใช้แล้ว โดยมีประสิทธิภาพ 70%

โดยสรุปแล้ว สปป. ลาวได้ทำการ "ทดลอง" ฉีดให้กับบุคคลากรทางแพทย์แล้วปรากฎว่าได้ผลน่าพอใจ แต่กว่าจะได้รับล็อตใหญ่ก็จะเป็นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

ส่วนประเทศไทยจะได้วัคซีนในจำนวนมากกว่าในเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากสถานการณ์ที่คับขันมากกว่าและหากควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ก็ต้องรออีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีน

แต่ไม่ว่าประเทศไหนจะได้วัคซีนก่อนหรือหลังไม่สำคัญเท่ากับว่าประเทศทั่วโลกยังมีโควิดระบาดในวงกว้างหรือไม่ เพราะหากประเทศอื่นยังระบาด ประเทศไทยก็ยังลำบากไปด้วย เพราะเราไม่สามารถปิดประตูประเทศเราได้นานไปกว่าปีนี้แล้ว

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by JACK GUEZ / AFP