posttoday

รู้หรือไม่เบื้องหลังวัคซีนมาจากร่างทารกถูกทำแท้ง

22 ธันวาคม 2563

เปิดเส้นทางการผลิตวัคซีน กว่าจะได้มาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักวาติกันโดยการอนุมัติของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสประกาศไปยังชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกว่า การใช้วัคซีน Covid-19 “เป็นที่ยอมรับได้ในทางศีลธรรม” แม้ว่าขั้นตอนการผลิตวัคซีนจะใช้เซลล์สายพันธุ์ที่ได้จากเนื้อเยื่อของทารกที่ถูกทำแท้ง หากไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า เนื่องจากนิกายโรมันคาทอลิกไม่สนับสนุนการทำแท้ง  

กรณีนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าวัคซีนที่หลายประเทศเริ่มฉีดไปแล้ว และที่คนไทยกำลังรอคอยอยู่นั้นมีเนื้อเยื่อของทารกที่ถูกทำแท้งเป็นส่วนประกอบด้วยหรือ   

ใช้มานานแล้ว  

วงการพัฒนาวัคซีนเริ่มใช้เซลล์เนื้อเยื่อของทารกที่ถูกทำแท้งในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยมีหลายวัคซีนที่บางคนอาจเคยฉีดไปแล้วใช้วิธีการผลิตนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหัดเยอรมัน อีสุกอีใส ไวรัสตับอักเสบเอ งูสวัด รวมถึงใช้ในการผลิตยารักษาโรคเลือดไหลไม่หยุดและไขข้ออักเสบ

ก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยใช้เซลล์จากสัตว์แต่ในขั้นตอนสุดท้ายกลับได้วัซีนที่ปนเปื้อนแบคทีเรียหรือไวรัสจากสัตว์ อย่างเช่นการผลิตวัคซีนโปลิโอในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ใช้เซลล์จากลิง แต่ก็พบเชื้อไวรัส SV40 ในลิง โชคดีที่ไวรัสนี้ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์   

นอกจากนี้ เชื้อโรคบางอย่าง อาทิ ไวรัสอีสุกอีใส เจริญเติบโตได้ไม่ดีในเซลล์สัตว์ อีกทั้งเซลล์ที่ได้จากมนุษย์ยังช่วยให้นักวิจัยทดลองและพัฒนาวัคซีนได้ง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง และเสถียรกว่าเซลล์จากสัตว์ นับแต่นั้นมาเซลล์จากมนุษย์จึงเป็นกุญแจสำคัญในการวิจัยวัคซีน

และสำหรับวัคซีน Covid-19 อันเดรีย แกมบอตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านวัคซีนจากวิทยาลัยการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กเผยว่า เซลล์สัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองก็สามารถผลิตโปรตีนเช่นเดียวกับที่เซลล์จากมนุษย์ แต่โปรตีนที่ได้จากเซลล์สัตว์จะเคลือบด้วยโมเลกุลน้ำตาลที่ไม่เหมือนเซลล์มนุษย์ ซึ่งในกระบวนการผลิตวัคซีน มีความเสี่ยงที่การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันจะล้มเหลว

วัคซีน Covid-19 ส่วนใหญ่ไม่ใช้เซลล์จากมนุษย์

วัคซีนส่วนใหญ่ที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ไม่ได้ใช้เซลล์เนื้อเยื่อจากทารกที่ถูกทำแท้ง เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) โดยทั้งสองเจ้านี้ใช้เทคโนโยลี mRNA ซึ่งเป็นวิธีใหม่ในการผลิตวัคซีนสังเคราะห์ โดยใช้ดีเอ็นเอต้นแบบที่ได้จากห้องทดลอง

อย่างไรก็ดี มีวัคซีนอย่างน้อย 5 ตัวที่ใช้เซลล์จากทารกที่ถูกทำแท้งในการผลิต อาทิ แคนซิโนไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics), แอสตราเซเนกา, มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก และอิมมินิตีไบโอ (ImmunityBio) ที่ใช้เซลล์ HEK 293 ซึ่งเป็นเซลล์สายพันธุ์ที่ได้จากไตของทารกที่ถูกทำแท้งอย่างถูกกฎหมายที่เนเธอร์แลนด์ในปี 1973

ส่วนวัคซีนของแจนเซน รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ (Janssen Research & Development) บริษัทในเครือของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ใช้เซลล์ PER.C6 จากทารกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ที่ถูกทำแท้งในปี 1985

แอสตราเซเนกาแจงข่าวลือ

สำหรับแอสตราเซเนกานั้นมีแถลงการณ์ชี้แจงหลังจากมีข่าวลือเมื่อเดือน พ.ย.ว่า วัคซีนของบริษัทมีเซลล์เนื้อเยื่อปอดของทารกเพศชายที่ถูกทำแท้งในช่วงศตวรรษที่ 1960 เป็นส่วนประกอบ ว่าไม่ได้ใช้เซลล์เนื้อเยื่อปอดเป็น “ส่วนประกอบ” ตามข่าวลือแต่ใช้เซลล์เนื้อเยื่อจากไตของทารกที่ถูกทำแท้งในการ “พัฒนาวัคซีน”  

โดยหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งเซลล์ HEK 293 และ PER.C6 ถูกโคลนนิ่งและถูกทำซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้นเซลล์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันจึงเป็นลูกหลานที่ห่างไกลจากเซลล์ดั้งเดิม ไม่ใช่เซลล์เนื้อเยื่อดั้งเดิมของทารกที่ถูกทำแท้ง

เซลล์ของทารกถูกนำมาใช้อย่างไร

เป็นเรื่องปกติที่วัคซีนจะพัฒนาในห้องทดลองโดยใช้เซลล์ที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองที่ได้จากเซลล์เนื้อเยื่อดั้งเดิมของทารก เซลล์ที่เพาะเลี้ยงนี้จะทำหน้าที่เป็นโรงงานขนาดเล็กที่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่พันธุ์ หลังจากเชื้อไวรัสขยายจำนวนแล้วเชื้อเหล่านี้จะถูกทำให้บริสุทธิ์ และเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจะถูกแยกออกจากวัคซีน

เฮเลน เพตูซิส แฮร์ริส อธิบายกับ AAP FactCheck ว่า ไม่มีเซลล์ใดๆ หลงเหลืออยู่ในการผลิตวัคซีนขั้นสุดท้าย 

สรุปก็คือ

ไม่มีวัคซีน Covid-19 ตัวไหนที่มี “ส่วนประกอบ” ของเซลล์เนื้อเยื่อจากทารกที่ถูกทำแท้ง และแม้จะมีการใช้เซลล์สายพันธุ์ (cell line) จากทารกที่ถูกทำแท้งในการพัฒนาวัคซีนของแอสตราเซเนกากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ตัววัคซีนไม่มีส่วนประกอบของเซลล์จากทารกที่ถูกทำแท้ง

ขณะที่วัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และโมเดอร์นาเป็นวัคซีนสังเคราะห์ที่ได้จากการจัดเรียงของคอมพิวเตอร์ในห้องทดลอง และไม่มีการใช้เซลล์เนื้อเยื่อของทารกที่ถูกทำแท้งในกระบวนการผลิต

วาติกันเคยไฟเขียว 

สถาบันสังฆราชเพื่อชีวิตของสำนักวาติกันเคยประกาศเมื่อปี 2005 และยืนยันอีกครั้งในปี 2017 ว่า หากไม่มีทางเลือกชาวโรมันคาทอลิกสามารถรับวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เซลล์สายพันธุ์จากทารกที่ถูกทำแท้งได้ เนื่องจากเซลล์ที่ถูกนำมาใช้อยู่ห่างไกลจากการทำแท้งเดิมมาก และไม่ถือว่าเป็นการสนับสนุนการทำแท้ง  

แต่หลังจากมีความกังวลเกิดขึ้นอีกในยุค Covid-19 สำนักวาติกันจึงยืนยันอีกครั้ง