posttoday

ไทยติดท็อป 10 ระบบรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

18 ธันวาคม 2563

ประเทศเอเชียไต่อันดับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพระบบรักษาสุขภาพจากการรับมือโควิด-19

บลูมเบิร์กจัดอันดับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพระบบรักษาสุขภาพ (Health-Efficiency Index) โดยประเมินจากอายุคาดเฉลี่ยและค่าใช้จ่ายในด้านการแพทย์ของแต่ละประเทศ โดยปีนี้มีการเพิ่มเกณฑ์ผลกระทบของโควิด-19 ต่ออัตราการเสียชีวิตและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขมากที่สุด จากทั้งหมด 57 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้เมื่อมีตัวแปรโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศในเอเชียไต่อันดับขึ้นมาเนื่องจากสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคได้ดี โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ขณะที่บราซิล รัสเซีย และสหรัฐต้องรั้งท้าย เพราะมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยบวกกับอัตรการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูง และแนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอลง

โดยหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับปี 2020 นี้ มีการเพิ่มเกณฑ์ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เชนเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่ GDP หดตัว 6% ในปีนี้ ก็จะถูกหัก 6 คะแนน ขณะที่ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 100,000 คน จะถูกหัก 11.5 คะแนน

ปูนัม เคอตาร์ปาล ซิง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้ตอกย้ำว่าสุขภาพทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับสุขภาพของประชาชน และยังขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนด้วย

หลักเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลให้ระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 8 ใน 10 ระบบของโลกอยู่ในเอเชียแปซิฟิก โดยสิงคโปร์และฮ่องกงติดอันดับต้นๆ ขณะที่ไต้หวัน นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ก้าวแซงหลายประเทศเนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี

ด้านประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุด ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 12 เมื่อมีการปรับหลักเกณฑ์ หลังจากที่ในการจัดอันดับครั้งที่ผ่านมาจีนอยู่ในอันดับที่ 25

สำหรับอันดับของฝรั่งเศส สเปน และเปรู ในปีนี้ร่วงลงมากที่สุดในบรรดา 57 ประเทศทั้งหมด

Photo by Patrick T. Fallon / AFP