posttoday

แพลตฟอร์มข้ามชาติสั่นสะเทือน ได้เวลาเก็บภาษีดิจิทัล

26 พฤศจิกายน 2563

หลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายเก็บภาษีดิจิทัลจากบริษัทเทคโนโลยีออนไลน์ข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. กระทรวงการคลังฝรั่งเศสระบุว่าจะมีการเรียกเก็บ "ภาษีดิจิทัล" จากบริษัทด้านเทคโนโลยีออนไลน์สำหรับรายได้ในปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในสหรัฐอเมริกาอย่างกูเกิล, แอมะซอน, เฟซบุ๊ก และแอปเปิล

ขณะที่สหรัฐมองว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม และเตือนว่าอาจตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศสเช่นกัน

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายภาษีดิจิทัลในปี 2019 ซึ่งเรียกเก็บเงิน 3% ของผลกำไรที่ได้จากธุรกิจออนไลน์ รวมถึงการโฆษณาดิจิทัล และการขายข้อมูลส่วนตัว แต่ได้บรรลุข้อตกลงกับฝ่ายบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อระงับการเก็บภาษี

โดยมีการหารือข้อตกลงภาษีดิจิทัลทั่วโลกภายใต้ความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา OECD ระบุว่าจะยังไม่บรรลุข้อตกลงในการเก็บภาษีดิจิทัลระดับโลกในปีนี้ เนื่องจากสหรัฐคัดค้านข้อเสนอ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต้องเผชิญกับมาตรการทางภาษีที่เข้มงวดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซียได้ออกมาประกาศในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ว่าให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่มีรายได้มากกว่า 1.28 ล้านบาท ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 10%

โดยมีรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล, เฟซบุ๊ก, แอมะซอน, แอปเปิล, เน็ตฟลิกซ์ และติ๊กต็อก เป็นต้น

เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ก็ได้มีมติเห็นชอบในการร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 12% จากบริษัทเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่มีการออกกฎหมายภาษีดิจิทัลใหม่ อาทิ ออสเตรเลีย เรียกเก็บภาษี 10% จากบริษัทอี-คอมเมิร์ซต่างประเทศ, ญี่ปุ่น เรียกเก็บภาษี 10% , อินเดีย เรียกเก็บภาษี 18%, รัสเซีย กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 20%, ตุรกี เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 18% สำหรับสินค้าและบริการดิจิทัลที่ขายให้กับผู้บริโภคชาวตุรกี, เกาหลีใต้ กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% และไต้หวัน เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับบริการดิจิทัลโดยธุรกิจต่างชาติ เป็นต้น

รวมถึงประเทศไทยเองก็มีการร่างกฎหมายภาษีอี-เซอร์วิส ที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ เช่น กูเกิล และเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ การที่นานาประเทศออกมาตรการเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเหล่านี้เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการในประเทศที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

โดยมองว่าบริษัทในประเทศเสียเปรียบต่อแพลตฟอร์มข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นรายได้หรือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างสมดุลให้แก่ทั้งสองฝ่ายมากขึ้น

Photo by Denis Charlet / AFP