posttoday

ญี่ปุ่นเล็งตั้งฐานันดรใหม่ให้เจ้าหญิงหลังสมรสกับสามัญชน

25 พฤศจิกายน 2563

ก่อนหน้านี้เชื้อพระวงศ์หญิงของญี่ปุ่นจะต้องฐานันดรในทันทีที่สมรสกับสามัญชนและหลังจากนั้นต้องใช้ชีวิตแบบสามัญชนคนทั่วไป

แหล่งข่าวของรัฐบาลเผยกับสำนักข่าว Kyodo ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณามอบตำแหน่งเกียรติยศที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ให้กับสมาชิกราชวงศ์หญิงที่สูญเสียสถานะราชวงศ์หลังแต่งงานกับสามัญชน เพื่อให้พระราชวงศ์หญิงยังสามารถปฏิบัติภารกิจในฐานะพระราชวงศ์ได้

ความเคลือนไหวนี้มีขึ้นหลังจากที่กิดความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจำนวนสมาชิกราชวงศ์จะหดหายไป จนส่งผลให้พระราชวงศ์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจต่อประเทศชาติได้

หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐในฐานะผู้ชนะสงครามได้พยายามจำกัดบทบาทของพระราชวงศ์ลง และได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นมาในปี 1947 หรือ 2 ปีหลังสิ้นสุดสงคราม ซึ่งกำหนดไว้ว่าสมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงที่แต่งงานกับสามัญชนจะต้องออกจากราชวงศ์ คือสิ้นสุดฐานันดรศักดิ์เดิม

ล่าสุด มีการเสนอแผนที่จะถวายฐานันดรศักดิ์ที่เรียกว่า "โคโจ" แก่สมาชิกราชวงศ์หญิงที่แต่งงานแล้ว โดยถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอนุญาตให้พระราชวงศ์หญิงรักษาสถานะราชวงศ์ไว้ได้

การเสนอให้ถวายฐานันดีศักดิ์ใหม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ง่ายกว่าสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านการอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นครองบัลลังก์หรืออนุญาตให้สมาชิกราชวงศ์หญิงที่แต่งงานแล้วยังดำรงฐานันดรศักดิ์เดิมต่อไป

ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปไตยที่เคยเป็นรัฐบาลญี่ปุ่นระหว่างปี 2552 ถึง 2555 ยังได้สำรวจความเป็นไปได้ที่จะอนุญาตให้สมาชิกราชวงศ์หญิงปฏิบัติภารกิจของราชวงศ์หลังแต่งงาน

ตอนนี้ บุคคลใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุงะ ผู้นำรัฐฐาลญี่ปุ่นคนปัจจุบันและประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยกล่าวว่าแผนการล่าสุด “เป็นแนวคิดที่สามารถได้รับการสนับสนุนนอกเหนือไปจากพรรคการเมืองต่าง”

แหล่งข่าวของรัฐบาลยังเผยว่ารัฐบาลกำลังพิจารณากฎหมายพิเศษเพื่อสร้างฐานันดรใหม่แทนที่จะแก้ไขกฎมณเฑียรบาล

แหล่งข่าวเผยว่า เจ้าหญิงไอโกะพระราชธิดาของจักรพรรดินารุฮิโตะและจักรพรรดินีมาซาโกะตลอดจนพระราชธิดาของมกุฎราชกุมารฟุมิฮิโตะ คือเจ้าหญิงมาโกะและเจ้าหญิงคาโกะเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่จะได้รับตำแหน่งใหม่หลังแต่งงาน ส่วนซายาโกะ คุโรดะ (อดีตเจ้าหญิงซายาโกะ) พระขนิษฐาของจักรพรรดิที่ออกจากราชวงศ์เมื่อแต่งงานกับสามัญชนในปี 2548 ก็จะได้รับสิทธิ์เช่นกัน

รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความจำเป็นเร่งด่วนในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การสืบทอดราชบัลลังก์จักรพรรดิมีเสถียรภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีรัชทายาทเพียงสามคน คือมกุฎราชกุมารฟูมิฮิโตะวัย 54 ปี พระโอรสวัย 14 ปีของพระองค์ คือเจ้าชายฮิซาฮิโตะ และเจ้าชายฮิตาชิวัย 84 ปี ซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) ของจักรพรรดิ

Photo by HANDOUT / Imperial Household Agency of Japan / AFP