posttoday

องค์กรสิทธิฯ ห่วงข้อตกลงค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกกระทบเกษตรกร

14 พฤศจิกายน 2563

องค์กรสิทธิมนุษยชนกังวล ข้อตกลงการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกที่มีจีนหนุนหลังอาจส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายเล็กและแรงงานในประเทศยากจน  

ที่ประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีกำหนดลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีในวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.นี้ที่กรุงฮานอยของเวียดนามหลังจากเริ่มเจรจากันตั้งแต่ปี 2012

ข้อตกลงซึ่งจะลดภาษีระหว่างกันนี้จะกลายเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากสมาชิกทั้ง 15 ประเทศมีประชากรรวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันราว 30% ของจีดีพีโลก

ทว่ามูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์สระบุว่า บรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรต่างกังวลว่าข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายเล็ก ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดิน และทำให้แรงงานในประเทศยากจนตกที่นั่งลำบาก

เอเรียสกา คูรูนิอาวาตี จากองค์กรสิทธิมนุษยชน Solidaritas Perempuan ในอินโดนีเซียเผยว่า แม้ว่าข้อตกลงจะมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้า กระตุ้นการลงทุน และเปิดโอกาสให้สินค้าเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในภูมิภาค แต่ข้อตกลงยังขาดกฎเกณฑ์ที่ปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม และจะกระทบกับเกษตรกรรายเล็กและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19   อยู่แล้ว

ด้าน คาร์ทินี ซามอน นักวิจัยจากองค์กร GRAIN ที่ทำงานร่วมกับเกษตรรายเล็กเผยกับมูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์สว่า ข้อตกลงนี้อาจนำมาสู่การตกงาน การปิดกิจการของธุรกิจเล็กๆ การบั่นทอนสิทธิ์ของแรงงาน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งป่าและที่ดิน “หนึ่งในข้อกังวลของเราคือ มันอาจจะเอื้อให้ที่ดินเกิดการเปลี่ยนมือจากชุมชนชนบทไปสู่งค์กรต่างชาติ”

ซามอนยังห่วงอีกว่า ข้อตกลง RCEP มีแนวโน้มทำให้เกิดการจับจองที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ การตัดไม้ทำลายป่า และทำลายระบบนิเวศเพิ่มขึ้น

ส่วน รัศมี บันกา นักเศรษฐศาสตร์ของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) มองว่า การบังคับใช้ข้อตกลง RCEP ในช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับโรคระบาดจะทำให้ประเทศยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปราะบางมากขึ้น

“ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จะเผชิญกับการนำเข้าเพิ่มขึ้นแต่การส่งออกลดลง ซึ่งกระทบกับดุลการค้าและทำให้ฐานะทางการเงินของประเทศแย่ลง”

เมื่อปีที่แล้ว อินเดียถอนตัวออกจากข้อตกลง RCEP โดยอ้างความแตกต่างทางภาษีและนโยบายกีดกันอื่นๆ หลังจากเกษตรกรรวมตัวกันประท้วงข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากกลัวว่าสินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศอื่น อาทิ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะทะลักเข้าประเทศ