posttoday

ไฮเปอร์ลูปก้าวไปอีกขั้น แต่จะไปได้ถึงฝันหรือไม่?

11 พฤศจิกายน 2563

เผยสาเหตุที่ไฮเปอร์ลูปยังไม่สามารถไปได้ไกลถึงฝั่งฝัน

เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป บริษัทเทคโนโลยีคมนาคมขนส่งในของสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการทดสอบขนส่งแคปซูลโดยสาร (Pod) ขนส่งผู้โดยสารเป็นครั้งแรกของโลก

โดยมีผู้เข้าร่วมการทดสอบ 2 คนโดยสารใน Pod ซึ่งวิ่งในอุโมงค์สูญญากาศระยะทาง 500 เมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 15 วินาที และผู้โดยสารทั้งสองไม่มีอาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้แต่อย่างใด

ความสำคัญครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาระบบขนส่ง และบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาให้ไฮเปอร์ลูปสามารถจุผู้โดยสารและขนส่งสินค้าจำนวนมากได้ โดยต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างน้อย 966 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยความต้องการระบบขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ระบบขนส่งนี้จะสามารถไปถึงฝันได้จริงหรือไม่

โดยข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อร่างกายผู้โดยสารนั้น จอร์จ จีเจิล รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมของไฮเปอร์ลูปวัน กล่าวถึงโครงการไฮเปอร์ลูปที่จะบรรทุกผู้โดยสารและสินค้าด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเร็วกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 747 ถึง 30% ว่า "ประสบการณ์ของผู้โดยสารจะไม่แตกต่างไปจากการเดินทางด้วยเครื่องบินทั่วไป ไม่มีการคลื่นไส้อาเจียน หรือแม้กระทั่งคนชราหรือสัตว์เลี้ยงก็สามารถเดินทางได้" เนื่องจากเป็นระบบที่สร้างแรงเร่งด้วยแรง G 

เช่นเดียวกับ ลี สโตน นักวิจัยจากนาซาอาเมสกล่าวว่าการเดินทางด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเราสามารถแม้กระทั่งดื่มเครื่องดื่มหรือทำะอไรก็ได้ที่เราต้องการ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการอยู่บนรถบัส

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเตือนว่าเร่งความเร็วของแคปซูลอาจทำให้เกิดแรง G ในระดับที่ทำให้ผู้โดยสารเป็นอันตรายได้ แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตไฮเปอร์ลูปจะมั่นใจว่าการเดินทางจะปลอดภัยและให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการขึ้นลิฟต์หรือเครื่องบิน

สำหรับโอกาสที่ไฮเปอร์ลูปจะสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง คาร์โล ฟาน เดอ ไวเยอร์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าระบบขนส่งต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างอีซี่เจ็ท, ฟลิกซ์บัส และอูเบอร์เนื่องจากพวกเขาเข้ากับระบบขนส่งเดิมที่มีอยู่ แต่การสร้างระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปนั้นต้องการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด

"เราไม่ได้ต้องการระบบขนส่งที่พาเราเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้นหากมันไม่สามารถรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ได้" ไวเยอร์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจร กล่าวว่ามีหลายประการที่จะทำให้ไฮเปอร์ลูปยังไปได้ไม่ถึงฝัน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาอาจสูงกว่าราคาที่เสนอ ซึ่งผลตอบแทนอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

รวมถึงตัวท่ออาจทรุดตัวไม่เท่ากัน ทำให้ท่อร้าวหรือแตกหักได้ และตั้งคำถามว่าหากอากาศไหลเข้าสู่ท่อสูญญากาศจะเกิดอะไรขึ้น และหากมีแรงสั่นสะเทือนในท่อจะส่งผลต่อการทรงตัวของแคปซูลบรรทุกผู้โดยสารหรือไม่ นอกจากนี้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจะอพยพผู้โดยสารออกจากแคปซูลได้อย่างไร

ระบบขนส่งจะมีสถานีกลางทางน้อยเนื่องจากต้องวิ่งด้วยความเร็วสูงมาก ทำให้โอกาสในการพัฒนาพื้นที่ข้างทางมีน้อยจึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในแนวเส้นทางได้มาก

การเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟในปัจจุบันหรือรถไฟความเร็วสูงในอนาคตนั้นทำได้ยาก เนื่องจากมีระบบขนส่งที่ไม่เหมือนกัน ผู้โดยสารไฮเปอร์ลูปอาจไม่ได้รับความสะดวกส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารอาจมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

รวมไปถึงไม่สามารถมีห้องน้ำไว้ฝห้บริการแก่ผู้โดยสาร และไม่สามารถชมวิวทิวทัศน์ด้านนอกได้

อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์มองว่าการพัฒนาระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปจะต้องคำนึงถึงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตก่อสร้าง รวมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ขนส่งขนาดใหญ่ ขณะที่นักพัฒนากล่าวว่าเราควรจะมองหาวิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาคมนาคมขนส่งได้