posttoday

อาเซียนตบเท้าเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพเรือรับมือจีน

29 ตุลาคม 2563

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ไปแล้วกว่า 90% อาเซียนจึงนิ่งนอนใจไม่ได้

ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญกลายเป็นพื้นที่พิพาทที่เกิดขึ้นมายาวนาน เนื่องจากหลายประเทศต่างก็อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ และนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อจีนเริ่มเข้าครอบครองพื้นที่ที่อ้างว่าเป็นของตัวเองมากขึ้น

จนตอนนี้จีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วกว่า 90% ทั้งยังสร้างสิ่งปลูกสร้างและมีการเคลื่อนไหวทางทหารตามเกาะที่จีนครอบครองเต็มไปหมด

ข้อมูลของโครงการความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชีย (AMTI) ระบุว่า ปัจจุบันจีนมีฐานทัพบนหมู่เกาะพาราเซล 20 ฐาน บนหมู่เกาะสแปรตลีย์อีก 7 ฐาน และยังพยายามเข้าไปควบคุมพื้นที่บนหมู่เกาะสการ์โบโรด้วยการส่งเรือตรวจการณ์ชายฝั่งไปป้วนเปี้ยนบ่อยครั้ง

หลายประเทศในอาเซียนที่มีกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีนไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ก็ไม่ได้นุ่งนอนใจ พยายามอัพเกรดทั้งกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งเพื่อป้องกันพื้นที่ของตัวเองไม่ให้ถูกจีนรุกราน

ล่าสุด ทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ประกาศเตรียมเสริมกำลังกองเรือรบและเรือประมงไปลอยลำในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์เดียวกับที่จีนใช้ในพื้นที่พิพาทแห่งนี้

ปัจจุบันกองทัพเรือฟิลิปปินส์มีเรือประจำการทั้งหมด 114 ลำ อาทิ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LDP) 2 ลำและจะสั่งเพิ่มอีก 2 ลำ เรือฟริเกต 1 ลำและอีก 1 ลำรอส่งมอบ เรือลาดตระเวน 1 ลำและอีก 2 ลำที่สั่งซื้อไปแล้ว เรือลาดตระเวนนอกชายฝั่ง 10 ลำและอีก 6 ลำที่สั่งซื้อไปแล้ว และมีแผนซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำเนื่องจากฟิลิปปินส์ยังไม่มีเรือดำน้ำ

ด้านอินโดนีเซียเพิ่งรับมอบเรือลาดตระเวน 2 ลำที่ต่อโดยบริษัทสัญชาติอินโด ได้แก่ เรือ Karotang-872 และ Mata Bongsang-873 เข้าประจำการเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นเรือรบชั้น PC-40 ลำที่ 12 และ 13 ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย และมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการลาดตระเวนน่านน้ำของกองทัพเรือและเพิ่มความปลอดภัยให้กับน่านน้ำอินโดนีเซีย

กองทัพเรืออินโดนีเซียมีเรือรบประจำการ 236 ลำ อาทิ เรือดำน้ำ 5 ลำและอีก 3 ลำอยู่ระหว่างการต่อ เรือฟริเกต 7 ลำ เรือคอร์เวต 24 ลำ เรือเร็วโจมตี 31 ลำและอีก 2 ลำกำลังต่อ เรือตรวจการณ์ 29 ลำ

ขณะที่เวียดนามประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่า สถานการณ์ที่ซับซ้อนในทะเลจีนใต้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นกองทัพเรือซึ่งมีหน้าที่ปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศต้องสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่งและทันสมัยเพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าว

การเสริมแสนยานุภาพกองทัพเรือทำให้เวียดนามมีเรือประจำการรวม 119 ลำ อาทิ เรือดำน้ำ 6 ลำ เรือฟริเกต 9 ลำ เรือคอร์เวต 14 ลำ เรือลาดตระเวน 26 ลำ

ขณะที่เมียนมาก็เพิ่งเผยโฉมเรือดำน้ำ UMS Min Ye Thein Kha Thu ที่นำมาร่วมซ้อมรบด้วนเป็นครั้งแรกไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเรือรบลำนี้อินเดียได้ปรับปรุงเรือดำน้ำเดิมของตัวเองก่อนจะส่งมอบให้เมียนมาตามความร่วมมือด้านการทหารระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ กองทัพเรือเมียนมายังมีเรืออื่นๆ ประจำการอีก 125 ลำ เช่น เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LDP) อีก 1 ลำซึ่งเข้าประจำการเมื่อปีที่แล้ว เรือฟริเกต 5 ลำ เรือคอร์เวต 3 ลำ

ส่วนจีนนั้น รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐคาดการณ์ว่า จีนมีกองเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลกและยังต่อเรือลำใหม่ได้เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

รายงานของเพนตากอนระบุว่าจีนน่าจะมีเรือรบราว 350 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือตรวจการณ์ติดมิสไซล์ เรือคอร์เวต เรือฟริเกต และเรือพิฆาต รวมทั้งเรือดำน้ำนิวเคลียร์ 52 ลำ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีป 4 ลำ และเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ

แม้ประเทศอาเซียนที่มีกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีนจะพยายามเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพเรือ แต่ก็ยังดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการอัพเกรดกองทัพเรือของจีน แม้แต่เวียดนามที่มีกองทัพเรือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในบรรดาประเทศเหล่านี้ก็ยังห่างไกลจากจีนมาก

Photo by Cole SCHROEDER / Navy Office of Information / AFP