posttoday

"ทิเบต" หมากตัวต่อไปที่สหรัฐจะใช้ขยี้จีน

21 ตุลาคม 2563

หลังจากเปิดประเด็นเล่นงานจีนเรื่องซินเจียงกับฮ่องกงแล้ว จุดอ่อนต่อไปที่จะโดนเล่นงานคือทิเบต

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาจีนถูกโจมตีอย่างหนักจากชาติตะวันตกและพันธมิตรในประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง (กรณีค่ายกักกันชาวอุยเกอร์) และปัญหาในฮ่องกง

ปัญหาฮ่องกงดูเหมือนจะจบลงแล้วเมื่อจีนใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อสยบขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย-อธิปไตย สามารถปิดช่องไม่ให้ "กองกำลังจากภายนอก" เข้ามาแทรกแซงได้เกือบจะชะงัดแล้ว แม้จะต้องแลกกับการตอบโต้ของสหรัฐและเสียงติติงจากพันธมิตรของสหรัฐ

ส่วนซินเจียง แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่เนืองๆ เรื่องค่ายกักกันและมาตรการต่างๆ ที่จีน "อาจจะ" ใช้ควบคุมชนกลุ่มน้อยอุยเกอร์ แต่จนแล้วจนรอดจีนไม่ได้เดือนร้อนแล้ว ออกจาะนิ่งกว่าประเด็นฮ่องกงเสียอีก อาจเป็นเพราะซินเจียงอยู่ในมุมอับและเข้าถึงได้ยาก ทำให้ไม่ต้องกังวลจะมีมือที่สามเข้าไปก่อกวน

เว้นแต่แคนาดาที่ไม่ยอมรามือ จัสติน ทรูโดยังติหนิจีนเรื่องซินเจียงกับฮ่องกงต่อไปและจะไม่อดทนกับการทูตที่บีบบังคับของจีน แต่ท่าทีแข็งกร้าวของทรูโดย่อมมีเหตุและเหตุก็คือทูตจีนประจำแคนาดา คือ ฉงเผยอู่ เตือนไม่ให้แคนาดารับผู้ลี้ภัยจากฮ่องกง เพราะคนเหล่านี้เป็น "อาชญากรที่รุนแรง"

ฉงเผยอู่มีท่าทีแข็งกร้าวทางการทูตก่อน ทรูโดจึงค่อยสนองด้วยท่าทีรุนแรง นับว่าเข้าทำนองตาต่อตาฟันตาฟันกันดีแล้ว

แม้แคนาดาจะยังไม่รามือ แต่มันเป็นปฏิกิริยาเฉพาะกิจเพราะต้องการตอบโต้ทูตจีน ในระยะยาวแล้วดูเหมือนว่าสหรัฐ (และพันธมิตร) จะออกหมัดแย็บจีนให้เมาหมัดเรืองซินเจียงไม่ได้อีก เพราะจีนตั้งการ์ดได้มั่นคงหรือพูดง่ายๆ คือ "ด้านหมัด" แล้ว

เราจะเห็นว่าคู่กรณีของจีนพยายามบ่อนทำลายจีนด้วยการใช้จุดอ่อนในประเทศจีนเอง และเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่จีนเองก็มักทำตัวให้โลกภายนอกโจมตีอยู่เสมอ เช่น ล่าสุด คือกรณีที่มีข่าวว่าทางการจีนลดชั้นเรียนที่ใช้ภาษามองโกลในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทำให้โลกตะวันตกและมองโกเลียตำหนิจีนอย่างหนักว่ากดขี่ชนกลุ่มน้อยมองโกล

มองโกเลียนั้นเดือดร้อนเพราะชนกลุ่มน้อยในเขตมองโกเลียในก็คือชาวมองโกลซึ่งเป็นสายเลือดเดียวกับพวกเขา แต่การทำให้มองโกเลียเป็นเดือดเป็นแค้นยังเป็นผลเสียกับจีนที่พยายาม "ซื้อใจ" มองโกเลียให้เป็นมิตร จากเดิมที่มองโกเลียเป็น "มหามิตร" ของสหรัฐมาโดยตลอด

ประเทศมองโกเลียนั้นของเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง มีชื่อทางการว่า "มองโกเลียนอก" (ไว่เมิ๋งกู่) อีกส่วนคือมองโกเลียใน (เน่ยเมิ๋งกู่) เมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลาย มองโกเลียนอกก็ประกาศเอกราช และสาธารณรัฐจีนพยายามยึดคืนมา แต่พวกโซเชียตรัสเซียเข้าช่วยเหลือพวกคอมมิวนิสต์มองโกลจนสามารถขับไล่จีนออกไป และทำให้มองโกเลียเป็นเอกราชได้

มองโกเลียเป็น "รัฐบริวาร" ของสหภาพโซเวียตนับแต่นั้นจนถึงปี 1991 หลังจากนั้นมองโกเลียก็ยังระแวงจีนและคบหาสหรัฐมากกว่า ในช่วงไม่กี่ปีนี้เองที่จีนพยายามที่แยกมองโกเลียจากสหรัฐ ซึ่งเราคงมองได้ไม่ยากว่าเป็นการลดภัยคุกคามจากมือที่สามต่อจีนนั่นเอง

เมื่อซินเจียงใช้ไม่ได้ มองโกเลียในก็ไม่สะดุ้ง ฮ่องกงก็กลายเป็นหมากที่ไล่ไม่จนมุม จะมีไม้ไหนอีกบ้างที่สหรัฐจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือบ่อนทำลายจีน?

คำตอบก็คือ "ทิเบต"

ในทัศนะของโลกตะวันตกและพันธมิตร แม้ว่าจีนจะครอบครองทิเบตและยอมรับการครอบครองนี้ในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยพวกเขายังปฏิบัติกับทิเบตแบบพิเศษโดยให้การตอบรับหรือสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต หรือในบางกรณีถึงขั้นให้ความช่วยเหลือขบวนการเรียกร้องเอกราชทิเบต

เช่นเดียวกับมองโกเลียนอก (ประเทศมองโกเลีย) ในสมัยราชวงศ์ชิงทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนมีสถานะเป็นประเทศราช (ภาษาจีนเรียกว่าฟานปู้) ถ้าเทียบกับการปกครองโบราณของไทย ฟานปู้มีลักษณะคล้ายเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีเจ้าประเทศราชปกครองกึ่งๆ จะเป็นอิสระแต่ต้องขึ้นกับส่วนกลางที่กรุงเทพด้วย

เขตปกครองแบบฟานปู้ประกอบด้วยมองโกลเลีย (แบ่งเป็น 8 เขต รวมถึงมองโกเลียนอก) ชิงไห่ (แบ่งเป็น 3 เขต) ทิเบตหรือซีจั้ง (แบ่งเป็น 6 เขต) ซินเจียง (แบ่งเป็น 2 ภาครวม 13 เขต) และเฮยหลงเจียง (แบ่งเป็น 2 เขต) เขตเหล่านี้มีอำนาจปกครองตนเองระดับหนึ่ง แต่ต้องขึ้นกับกรมการปกครองประเทศราช (หลี่ฟานหยวน)

หลังจากราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลง ประเทศราชเหล่านี้พยายามแยกตัวเป็นเอกราช ในจำนวนนี้คือซินเจียง มองโกเลียนอก และทิเบต แต่ที่ทำสำเร็จมีแค่มองโกเลียนอกเท่านั้น

ปัจจุบันทิเบตกับซินเจียงยังคงมีขบวนการเอกราชอยู่ซึ่งเป็นการสืบทอดมาจากยุคเอกราชช่วงสั้นๆ หลังสิ้นสุดราชวงศ์ชิงนั้นเอง

ประเด็นเรื่องเอกราชทิเบตเป็นจุดอ่อนที่ชาติตะวันตกเล่นงานจีนมาตลอด อาจจะเป็นประเด็นที่มีอายุนานกว่าซินเจียงด้วยซ้ำ (โลกตะวันตกเพิ่งจะหันมาใช้ซินเจียงเป็นประเด็นโจมตีเมือเร็วๆ นี้) แต่จีนไม่เคยยอมรับว่าทิเบตเป็นเอกราชเลย แม้แต่ในช่วงสิ้นสุดราชวงศ์ชิงมาเป็นสาธารณรัฐจีนและมีการยุบกรมการปกครองประเทศราช รัฐบาลจีนสาธารณรัฐก็ตั้ง "คณะกรรมาธิการกิจการมองโกลเลียและทิเบต" ขึ้นมาแทน

เมื่อรัฐบาลจีนสาธารณรัฐถูกโค่นล้มโดยสาธารณรัฐประชาชน "จีนแดง" ก็ตั้ง "คณะกรรมาธิการแห่งรัฐว่าด้วยการกิจชนกลุ่มน้อย" ขึ้นมาแทน

ส่วนรัฐบาลสาธารณรัฐย้ายไปปักหลักที่ไต้หวันและยังคงรักษาคณะกรรมาธิการกิจการมองโกลเลียและทิเบตเอาไว้ พร้อมกับแผนที่ของจีนที่รวมเอามองโกเลียทั้งประเทศ ทิเบต และซินเจียงเอาไว้ จนกระทั่งปี 2017 รัฐบาลไทเปหรือไต้หวันจึงยุบคณะกรรมาธิการกิจการมองโกลเลียและทิเบตไป พร้อมยุติการอ้างสิทธ์เหนือมองโกเลีย

ที่ยกประวัติศาสตร์การปกครองทิเบตขึ้นมาก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าประเด็นเรื่องเอกราชของทิเบตมีแง่มุมที่ซับซ้อนและ "จีนมองคนละมุมกับสหรัฐ" จีน (ซึ่งรวมไต้หวันด้วย) มองว่าทิเบตไม่เคยเป็นเอกราช แต่สหรัฐยืนยันทิเบตเป็นประเทศเอกราชที่จีนไปรุกรานและผนวกมาเป็นดินแดนตน

สหรัฐได้ประโยชน์มากกว่าหากยืนยันว่าทิเบตไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน หลังจากที่จีนคอมมิวนิสต์ผนวกทิเบต (หรือเข้ามาทวงคืน) แล้ว รัฐบาลสหรัฐโดย CIA ก็ให้ความช่วยเหลือขบวนการกองโจรเอกราชทิเบตทั้งการฝึกรบและอาวุธเพื่อปฏิบัติการตามแนวชายแดนจีน-อินเดีย

แต่ในที่สุดสหรัฐก็วางมือเรื่องทิเบตไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังจากที่ฟื้นคืนสัมพันธกับจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลสหรัฐก็ไม่สนับสนุนทิเบตอย่างโจ่งแจ้งอีก และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า "สหรัฐรับรองให้เขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า "ทิเบต" เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน นโยบายอันยาวนานนี้สอดคล้องกับมุมมองของประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ดาไลลามะได้ปฏิเสธอย่างชัดแจ้งถึงความตั้งใจที่จะแสวงหาอำนาจอธิปไตยหรือเอกราชของทิเบตและระบุว่าเป้าหมายของท่านคือการปกครองตนเองของชาวทิเบตในจีน"

แต่สภาคองเกรสไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลสหรัฐไปทุกเรื่อง ดังนั้น สภาจึงผ่านกฎหมายที่ชื่อ Tibetan Policy Act (ปี 2002) เพื่อจี้ให้รัฐบาลกระตุ้นให้จีนเจรจากับดาไลลามะ อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ระบุให้แต่งตั้งผู้แทนประสานงานระหว่างสหรัฐ-จีน-ทิเบต เพื่อดูแลประเด็นสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวทิเบต

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต คือ ลอบซัง ซังเก (Lobsang Sangay) ได้ทวีตภาพของเขากับรอเบิร์ท เดสโตร (Robert Destro) ผู้ประสานงานประเด็นทิเบต (Coordinator for Tibetan Issues หรือ CTA) ของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งตำแหน่งนี้ว่างมาตั้งแต่ปี 2017 แต่เพิ่งมาแต่งตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมปีนี้

ทำไมจู่ๆ สหรัฐมาสนใจทิเบตเอาตอนนี้

ไมค์ ปอมปีโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐผู้แต่งตั้งเดสโตรกล่าวว่า "สหรัฐยังคงกังวลกับการปราบปรามชุมชนทิเบตของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งรวมถึงการขาดอำนาจปกครองตนเองอย่างจริงจัง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในพื้นที่ทิเบตและการจำกัดเสรีภาพทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของชาวทิเบตในจีน ”

จีนดูเหมือนจะได้กลิ่นตุๆ จ้าวลี่เจียนโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนจึงแถลงว่า CTA เป็น "องค์กรแบ่งแยกดินแดนทางการเมือง"

จะว่าไปแล้วการที่สหรัฐหยุดรามือกับจีนเรื่องทิเบตเพราะมีข้อตกลงพ่วงมากับการยอมรับให้จีนเข้ามาเป็นสมาชิกในตลาดโลกตามกฎหมาย U.S.–China Relations Act of 2000 ซึ่งเปิดทางให้จีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ โดยที่จีนต้องรับประกันว่าจะ "ธำรงรักษาศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของทิเบต"

ดังนั้นสหรัฐสามารถคว่ำข้อตกลงกับจีนได้โดยอ้างว่าจีนกดขี่ชาวทิเบต ซึ่งหมายความว่าสหรัฐกำลังจะใช้ข้ออ้างเรื่องทิเบตเปิดฉากสงครามการค้ากับจีนอีกครั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดคือสหรัฐอาจจะหันมาสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตโดยไม่หลบๆ ซ่อนๆ อีก

เรื่องนี้จะมีนัยสำคัญต่อการเมืองโลกอย่างมาก เพราะการสนับสนุนเอกราชทิเบตจะมีผลสอดคล้องไปถึงการที่สหรัฐกำลังฟอร์มพันธมิตรต้านจีนในแถบมหาสมุทรอินเดีย โดยอินเดียคือผู้โอบอุ้มรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตและกำลังมีปัญหาด้านพรมแดนกับจีน

คำถามก็คือชาวทิเบตถูกกดขี่ด้านสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพด้านศาสนาหรือไม่? คำถามนี้ยากจะตอบให้ชัด เพราะปัญหาสิทธิมนุษยชนในทิเบตมีข่าวออกมาเนืองๆ แต่ระยะหลังเริ่มเงียบไป และขณะเดียวกันก็มีภาพที่ออกมาให้เห็นเช่นกันว่าชาวทิเบต "อยู่ดีกินดี มีเสรีภาพศาสนา (ในระดับหนึ่ง)" ภายใต้การบริหารของรัฐบาลจีน

เมื่อย้อนกลับไปช่วงที่จีนคอมมิวนิสต์เข้ามาปกครองทิเบต สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขบวนการกองโจรเอกราชทิเบตที่สนับสนุนโดย CIA ปฏิบัติการไม่สำเร็จก็เพราะเมื่อมีการส่งคนทิเบตจากอินเดียเข้าไปปฏิบัติในทิเบตอีกครั้ง กลับถูกคนในทิเบตส่งตัวให้ทางการจีนเสียอย่างนั้น แทนที่จะร่วมมือกันต่อสู้เพื่อเอกราช

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า วัดวาอาราม พระสงฆ์และผู้คนจำนวนมากถูกทำลายและจับกุมหรือสังหารไปมากมายโดยรัฐบาลจีนในยุคก่อนๆ แต่สถานการณ์แบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ ตรงกันข้าม ในทิเบตมีการสร้างและบูรณะวัดวาอารามอย่างขนานใหญ่ แต่เป็นไปตามการควบคุมของรัฐบาลจีนอย่างเข้มงวดเช่นกัน

เราต้องมาจับกันต่อไปว่ารัฐบาลสหรัฐจะใช้ข้ออ้างไหนในการเล่นงานจีนผ่านทิเบต

AFP PHOTO / BEN STANSALL