posttoday

ไต้หวันรับมือกับการคุกคามของจีนอย่างไร?

16 ตุลาคม 2563

รายงานเอ็กซ์คลูซีฟบทสนทนาทิศทางไทย ไต้หวัน และโลกกับดร. หลี่ หยิง หยวน ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป

โพสต์ทูเดย์ได้รับเกียรติจาก ดร. หลี่ หยิง หยวน ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทยที่เพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม หลังจากที่ต้องเลื่อนการเดินทางมายังไทยนานหลายเดือนเพราะติดการระบาดของโควิด-19 และเมื่อเดินทางมาถึง ดร. หลี่ยังต้องเข้ารับการกักตัวตามระเบียบก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในที่สุด

โพสต์ทูเดย์เป็นสื่อไทยรายแรกที่ได้รับโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองและเศรษฐกิจกับ ดร. หลี่ โดยประเด็นแรกกล่าวถึงคือความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไต้หวันกับประเทศไทย

ดร. หลี่กล่าวว่าในเวลานี้ไต้หวันกำหนดระยะเวลากักตัวเพียง 5 วันเท่านั้นและเสนอแนะว่ารัฐบาลไทยควรจะยืดหยุ่นระยะเวลากักตัวให้น้อยลงเพื่อกระตุ้นการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งในเวลานี้การท่องเที่ยวในประเทศไต้หวันกำลังบูมอย่างมาก ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างคึกคัก

ในประเด็นนี้ โพสต์ทูเดย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากรัฐบาลไทยร่วมมือทำฟองสบู่ท่องเที่ยว (Travel Bubble) กับไต้หวันแล้วจะช่วยสร้างความั่นใจให้กับคนไทยที่จะต้อนรับชาวต่างชาติมากขึ้น เพราะไทยและไต้หวันมีผลงานการควบคุมการระบาดที่ดีมาก หากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันเปิดรับนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจของกันและกันก่อนอาจจะเหมาะสมกว่าการเปิดรับชาวต่างชาติจากประเทศอื่น

หลังจากที่มีกระแสการโยกย้ายห่วงโซ่การผลิตสินค้าจากจีนกลับไปยังประเทศต้นทางการลงทุน เช่น ญี่ปุ่นมีการโยกย้ายการผลิตกลับมาประเทศตัวเองและโยกมากยังไทยและเวียดนาม ในเวลานี้ไต้หวันก็ดำเนินการแบบเดียวกัน ซึ่งโพสต์ทูเดย์ได้สอบถามว่าปรากฏการณ์นี้จะทำให้ไต้หวันลงทุนในไทยมากขึ้นหรือไม่?

ดร. หลี่กล่าวว่าไต้หวันจะโยกการลงทุนมายังไทยเพิ่มขึ้นและจากที่ได้ประเมินช่วง 2 เดือนกว่าที่เข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทยได้พบว่าธุรกิจไต้หวันในไทยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากหลายเท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการโยกย้ายห่วงโซ่การผลิต

นอกจากนี้ไต้หวันยังสนับสนุนการสร้างทรัพยากรบุคคลของไทยให้มีทักษะมากขึ้นโดยเน้นที่ทักษะที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยสนับสนุนทุนการศึกษาในสถาบันการศึกษาของไต้หวัน ซึ่งในอนาคตจะมีประโยชน์ต่อไทยที่ต้องยกระดับตัวเองมาเป็นภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น

ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันกล่าวแถลงเนื่องในวันรำลึกการสถาปนาสาธารณรัฐจีนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2020 ว่าจะมีการผลักดันให้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางทุนนานาชาติ ทักษะ ความสามารถพิเศษ และเทคโนโลยีดิจิทัลโดยชี้ว่าในอนาคตปัจจัยสำคัญในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตคือเงินทุน ความสามารถพิเศษ และเทคโนโลยีหลักสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล

ต่อข้อซักถามที่ว่าการเผชิญหน้ากับจีนจะส่งผลต่อการลงทุนของไต้หวันในจีนหรือไม่ ดร. หลี่กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องพึ่งพากันในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจของจีนมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชิป/เซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน

การคุกคามของจีนต่อไต้หวันที่มากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (โดยเฉพาะการส่งเครื่องบินล้ำเข้ามาในย่านฟ้าของไต้หวัน) ไม่ได้ทำให้คนไต้หวันหวั่นใจ แต่ ดร. หลี่กล่าวว่าเป็นการสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจเสียมากกว่า และเชื่อว่าจีนไม่มีเจตนาที่จะก่อสงคราม นอกจากนี้ ชาวไต้หวันยังเคยผ่านการคุกคามที่รุนแรงกกว่านี้มาแล้วในสมัยประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยได้รับตำแหน่งใหม่ โดยจีนทำการยิงขีปนาวุธข่มขู่ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะไต้หวันทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยเสียงของประชาชนเป็นครั้งแรก

ทว่า แม้จะเผชิญกับการข่มขู่ครั้งล่าสุด ชาวไต้หวันก็เตรียมพร้อมอยู่เสมอดังจะเห็นได้ว่าไต้หวันทำข้อตกลงซื้ออาวุธจากสหรัฐ แต่ก็ทำให้จีนไม่พอใจมากขึ้นไปอีก ในระยะหลังรัฐบาลสหรัฐหันมากระชับความสัมพนธ์กับไต้หวันมากขึ้น โดยส่งเข้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีมาเยือนไต้หวันครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ซึ่งทำให้เป็นที่จับตาว่าไต้หวันจะฟื้นความสัมพันธ์ทางการกับสหรัฐหรือไม่ ดร. หลี่กล่าวว่านโยบายในระดับนี้ไม่ได้ริเริ่มจากฝ่ายไต้หวันเอง แต่เป็นการตัดสินใจทำโดยสหรัฐ

นอกจากนี้ ดร. หลี่ยังกล่าวว่าตลอดเวลาที่รับตำแหน่งมาทั้งสองสมัยประธานาธิบดีไช่อิงเหวินไม่เคยกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้า แต่เป็นฝ่ายจีนที่มีท่าทีเชิงรุกมาโดยตลอด ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลจีนต้องการที่จะเบี่ยงเบนความไม่พอใจในประเทศเกี่ยวกับปัญหาการระบาดใหญ่และปัญหาต่างๆ แล้วกระตุ้นความสนใจมาที่ภายนอกโดยมีไต้หวันเป็นเป้าหมาย

ดร หลี่เชื่อว่ารัฐบาลจีนต้องการที่จะแสดงให้โลกภายนอกเห็นว่าตนนั้นแข็งแกร่งจึงแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อไต้หวัน

ตรงกันข้าม ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินพยายามเสนอที่จะเจรจากับฝ่ายจีนโดยมีสุนทรพจน์เมื่อวันชาติที่ผ่านมาว่า "ฉันยังทราบว่าผู้นำอีกฝั่งหนึ่ง (สีจิ้นผิง) ได้กล่าวต่อสาธารณชนในข้อความวิดีโอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าจีนจะไม่แสวงหาอำนาจการขยายตัวหรือขอบเขตอิทธิพล ... เราหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง " และกล่าวว่า "เรามุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพข้ามช่องแคบ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ไต้หวันสามารถแบกรับได้เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย" แต่ฝ่ายจีนยังไม่มีการตอบรับ และที่จริงแล้วเป็นฝ่ายจีนที่ตัดการเจรจากับไต้หวัน

โพสต์ทูเดย์ได้ซักถามถึงโอกาสที่ไต้หวันจะกระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านความมั่นคงเพื่อรับมือกับภาวะที่น่าวิตกในเอเชียตะวันออก ดร. หลี่กล่าวว่าไต้หวันเคยไปมาหาสู่กับอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะมาตลอด แต่เนื่องจากภาวการณ์บางอย่างทำให้ไม่สามารถหารือกับอาเบะได้โดยตรง ผู้ที่รับหน้าที่ประสานงานคือโนบุโอะ คิชิ น้องชายของอาเบะ

ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของคิชิก็คือการส่งเสริมความสัมพันธ์ญี่ปุ่น - ไต้หวัน เขาช่วยจัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างนายกรัฐมนตรีอาเบะและไช่อิงเหวิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านของไต้หวัน ในปี 2015 หลังจากที่ไช่อิงเหวินได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยคิชิได้พบกับไช่อิงเหวินที่ไต้หวันในเดือนมกราคมปี 2020 

สิ่งที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับคิชิก็คือมีนโยบายที่แข็งกร้าวกับจีนเป็นอย่างมากและมีนโยบายเชิงรุกในด้านความมั่นคง ปัจจุบันคิชิดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรงกลาโหมของญี่ปุ่น ทำให้น่าจับตาว่าญี่ปุ่นและไต้หวันจะจับมือกันแน่นแฟ้นขึ้นหรือไม่ในด้านความมั่นคงเพื่อตอบรับกับท่าทีของจีน

ดร. หลี่ชี้ว่าขณะนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในภาวะที่ถูกโอบล้อมด้วยมหาอำนาจ และความขัดแย้ง (กรณีทะเลจีนใต้) และการฟอร์มพันธมิตร (เช่น ฝั่งมหาสมุทรอินเดียมีพันธมิตร Quad ที่ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น และสหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ นานา ดร. หลี่ หยิง หยวน สันติภาพและผลประโยชน์ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายปรารถนาที่สุด และสิ่งนี้สะท้อนออกมาจากท่าทีของไต้หวันที่ไม่เคยแสดงจุดยืนที่ก้าวร้าวเลย