posttoday

เงื่อนงำการกลับมาของจอมพลก่อนการสังหารหมู่

06 ตุลาคม 2563

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีหลายอย่าง แต่หนึ่งในสาเหตุที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดคือการเดินทางกลับมาของจอมพลคนที่ถูกไล่ออกจากประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) จอมพลถอนม กิตติขจรผู้เป็นบุตรได้เล่าถึงบิดาเอาไว้ ตอนหนึ่งได้เท้าความถึงการป่วยของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ในระหว่างที่จอมพลถนอมต้องอัปเปหิตัวเองไปจากเมืองไทยอยู่ในต่างแดนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

หลังจากที่จอมพลถนมต้องเดินทางออกจากไทยก็ไม่มีช่องทางกลับมาง่ายๆ อีก เพราะนักศึกษาประชาชนไม่ปรารถนาจะให้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกในฐานะ "ทรราช" และ "เผด็จการมือเปื้อนเลือด" แต่เมื่อพ่อป่วยหนักจอมพลผู้ลูกก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้

จอมพลถนอมเล่าว่า

"เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2517 ผมได้รับทราบจากแต๋ว (ลูกสาวคนโต) ซึ่งได้ไปหาที่บอสตันว่า คุณพ่อป่วยหนักและพูดถึงผมอยู่เรื่อย ผมจึงตกลงใจเดินทางออกจากบอสตันในวันที่ 25 ธันวาคม 2517 โดยไม่เกรงกลัวจะถูกขัดขวางจากผู้ใดทั้งสิ้น มุ่งอยู่อย่างเดียวที่จะมาอยู่ดูแลพยาบาลคุณพ่อโดยใกล้ชิด"

ไม่ใช่แค่นักศึกษาและประชาชนที่ไม่อยากให้จอมพลถนอมกลับมา แต่คนในรัฐบาลก็ไม่อยากให้จอมพลกลับมา ในรายงานของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ระบุว่า "คณะรัฐมนตรีปฏิเสธคำขอเนื่องจากไม่ต้องการเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านของประชาชน มีความเป็นไปได้ที่เพื่อนสนิทของถนอมหลายๆ คน เช่น บุญชู (พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา) อาจจะสนับสนุนให้ถนอมกลับมา และอาจจะรับประกันกับเขาว่าจะไม่มีการแก้แค้นเขา"

จอมพลถนอมจึงตัดสินใจกลับไทยและเดินทางมาถึงในวันที่ 27 ธันวาคม 2517 "เวลาประมาณ 04.00 นาฬิกา เมื่อมาพบกับคุณพ่อรู้สึกท่านดีใจมาก แต่แล้วก็ถูกพวกที่คิดในทางร้ายต่อผมพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้ผมกลับออกไปอยู่นอกประเทศอีก ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนไทยแท้ตั้งแต่บรรพบุรุษทั้งฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่มาหลายชั่วอายุคน"

วันที่ 27 ธันวาคม เอกสารข่าวกรองของซีไอเอรายงานว่าเมื่อจอมพลถนอมเดินทางจากสหรัฐมาถึงไทยก็ถูกควบคุมตัวในบ้านพัก คนในรัฐบาลมีท่าทีแข็งกร้าวมาก นายประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์บอกกับแหล่งข่าวกรองของสหรัฐว่าจอมพลถอนมต้องถูกดำเนินคดีในกรณี 14 ตุลาฯ 2516

แต่ในเวลาเดียวกัน บรรยากาศในเวลานั้นเริ่มเปลี่ยนจากสนับสนุนนักศึกษามาเป็น "การกำราบ" มากขึ้นเรื่อยๆ ซีไอเอตั้งข้อสังเกตว่า การกลับมาของจอมพลถนอมอาจทำให้นักศึกษาที่เงียบไปพักใหญ่กลับมาประท้วงอีก และหากเกิดขึ้นจะสั่นคลอนรัฐบาลสัญญาอย่างมาก

แต่ "กองทัพและตำรวจหาช่องทางที่จะเป็นข้ออ้างในการกำราบการชุมนุมของนักศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว" 

ซีไอเอรายงานว่าในวันที่ 28 นักศึกษาประมาณ 10,000 คนชุมนุมกันในกรุงเทพเพื่อประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม นักศึกษากล่าวโทษรัฐบาลว่าเป็นตัวการให้จอมพลถนอมกลับมาและเรียกร้องให้นำตัวจอมพลมา "ขึ้นศาลประชาชน" (People's court โปรดสังเกตว่าเป็นศัพท์แสงของฝ่ายซ้าย) แต่การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ 

รายงานทั้ง 2 ฉบับเอ่ยถึงพลเอกกฤษณ์ สีวะรา รักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่ากำลังปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศและถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ ในทันที ซึ่งพลเอกกฤษณ์ สีวะราเป็น "จิ๊กซอว์" ตัวสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา และสหรัฐมองว่าเป็นตัวประสานผลประโยชน์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมช่วยให้รัฐบาลประชาธิปไตยยุคระหว่าง14 ตุลาและ 6 ตุลา ประคองตัวไปได้

ในเอกสารรายงานสรุปให้กับประธานาธิบดีสหรัฐระบุว่า "ถนอมอ้างว่ากลับมาเพื่อเยี่ยมพ่อที่กำลังป่วยใกล้เสียชีวิต ... (ข้อความปิดลับ) ... แต่มีความเป็นไปได้ว่าการกลับมาของเขาอาจตั้งใจให้สอดคล้องกับช่วงที่ผู้บัญชาการกองทัพกฤษณ์ สีวะราเดินทางไปต่างประเทศพอดี กฤษณ์ซึ่งพยายามกำจัดลูกน้องของอดีตนายกรัฐมนตรี (ถนอม) อย่างเงียบๆ จากอิทธิพลในกองทัพ อาจจะมองว่าการเดินทางกลับมาของถนอมเป็นภัยคุกคามอิทธิพลของเขาในกองทัพ"

จอมพลถนอมจึงได้ตกลงที่จะออกจากเมืองไทยอีกครั้งโดยไปอยู่ที่สิงคโปร์ (โดยการอนุญาตของรัฐบาลสิงคโปร์) โดยนำบิดาไปด้วยเพื่อให้แพทย์ที่นั่นรักษาอาการเมื่ออาการของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ดีขึ้นแล้วคิดอยากจะกลับเมืองไทย และบอกกับลูกชายว่าอยากจะให้บวชก่อนที่บิดาจะหมดชีวิต จากนั้นบิดาของจอมพลถนอมกลับมาเมืองไทย

ระหว่างนั้นเองเกิดเหตุการณ์พลิกผันขึ้นเมื่อพลเอก กฤษณ์ สีวะราเสียชีวิตอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519 สาเหตุการณ์เสียชีวิตเป็นปริศนาทุกวันนี้เพราะอะไรกันแน่ เพราะพลเอก กฤษณ์ล้มป่วยลงปัจจุบันทันด่วนหลังรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงเท่านั้น

เมื่อสิ้นพลเอก กฤษณ์การกำราบเครือข่ายของจอมพลถนอมก็สะดุดลงไปด้วย พร้อมๆ กับที่ฝ่ายขวาในกองทัพมีอำนาจขึ้นมา สัญญาณของการปราบนักศึกษาเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ และชัดมากกว่าครั้งแรกที่จอมพลถนอมเข้ามา

เอกสารของซีไอเอรายงานว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นได้บอกกับแหล่งข่าวกรองของสหรัฐเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2519 ว่า ยุทธพงศ์ กิตติขจร (ยศสุดท้ายคือพลอากาศเอก) บุตรชายของจอมพลถนอมบอกว่าบิดาอยากจะกลับเมืองไทยโดยบวชเป็นเณรเข้ามา แต่ม.ร.ว. เสนีย์บอกว่าท่านตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องฟังมติคณะรัฐมนตรีก่อน

ในวันเดียวกัน นายพิชัย รัตตกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอกกับฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐว่าจอมพลถนอมยังอยู่ในสิงคโปร์ และได้สั่งการให้เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์คอยรายงานความเคลื่อนไหวทั้งหมดของจอมพลถนอม และแจ้งกับจอมพลว่าไม่ปรารถนาให้กลับมาเมืองไทยในเวลานี้

แต่นายพิชัยบอกว่าเขารู้สึกเห็นใจจอมพลถนอมซึ่งต้องการเข้ามาดูแลบิดาที่ล้มป่วยด้วยตัวเอง แต่การกลับมาของจอมพลจะ "ทำให้เกิดเรื่องอย่างหนึ่งได้" เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติเขาจึงไม่ควรกลับมา

แต่ดูเหมือนว่าในรัฐบาลเสนีย์เสียงจะเริ่มแตก เช่น พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ตามสิทธิที่มีในรัฐธรรมนูญจอมพลถนอมมีสิทธิที่จะกลับประเทศไทย และจากแง่มุมทางพุทธศาสนาก็ยังเป็นไปได้ที่จอมพลถนอมจะบวชเณรกลับเข้ามา เมื่อถูกซักถามว่าหากจอมพลกลับมาจะเกิดเรื่องวุ่นวายหรือไม่? พลตำรวจเอกประมาณบอกว่า "หากเรื่องนี้เกิดขึ้น มันก็คงจะเกิดจากประชาชนบางกลุ่ม ไม่ใช่จากรัฐบาล"

เมื่อพูดช่วงเวลาการป่วยของบิดาจอมพลถนอม รายงานตอนนี้ขัดกับสิ่งที่เขียนไว้ในอนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เพราะระบุว่ามาถึงเดือนกันยายน 2519 จอมพลถนอมก็ทราบว่าบิดาล้มป่วยอีกครั้ง (ตามข้อมูลของซีไอเอบอกว่าทราบว่าบิดาป่วยตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม) จอมพลถนอมบอกว่า "อาการป่วยของคุณพ่อหนักมากเห็นจะอยู่ได้อีกไม่กี่วัน ผมจึงตกลงใจกลับมาอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหารในวันที่ 19 กันยายน 2519 อุปสมบทแล้วก็รีบไปเยี่ยมคุณพ่อในบ่ายวันนั้น"

ปรากฎว่าหลังจากนั้นอาการของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ก็ดีขึ้นเป็นลำดับและจอมพลถนอมก็ลาสิกขาในเวลาต่อมา ส่วนขุนโสภิตบรรณลักษณ์นั้นมีอายุยืนยาวต่อมาจนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2523

ระหว่างที่ทุกอย่างในบ้านของจอมพลถนอมดีขึ้นเป็นลำดับ โลกภายนอกก็ร้อนรุ่มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย รัฐบาลเสนีย์

รายงานของซีไอเอเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2519 ระบุถึงการลาออกของม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะถูกโจมตีเรื่องที่ปล่อยจอมพลถนอมเข้ามา (ซีไอเอรายงานว่ารัฐบาลเสนีย์อนุญาตให้เข้ามาได้แค่ 7 วัน แต่จอมพลรีบไปบวชในทันทีทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้นมาในทันตา) แต่ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในอีก 2 วันต่อมา พร้อมกับที่ซีไอเอรายงานว่าการกลับมาของจอมพลถนอม "ปราศจากความวุ่นวายที่ร้ายแรง"

อีก 6 วันต่อมาสถานการณ์ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเกิดการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการโค่นรัฐบาลเสนีย์และการยึดอำนาจโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และเกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายอย่างขนานใหญ่ทำให้นักศึกษาเป็นจำนวนมากเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

จากนั้นทุกอย่างก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทย

ภาพ Photo by - / AFP