posttoday

เยอรมนีเรียกร้องแนวร่วมสหรัฐ-ยุโรป รับมือสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน

29 กันยายน 2563

เยอรมนีเตรียมเผชิญสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีนเร่งกระชับความสัมพันธ์สหรัฐและยุโรป

เอเอฟพีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ยุโรปและสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับ "สงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน" ร่วมกันไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนก็ตาม

ปีเตอร์ เบเยอร์ ผู้ประสานงานของรัฐบาลเยอรมันด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กล่าวว่าเหลือเวลาอีกเพียงห้าสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐจะมาถึง และยืนยันว่าประเทศในยุโรปจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน

เขาให้ความเห็นว่า "ยุโรปต้องยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ของจีน สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้เริ่มขึ้นแล้วและจะก่อตัวขึ้นในศตวรรษนี้"

เบเยอร์กล่าวว่าเยอรมนีพบว่าการทำงานกับโจไบเดนนั้นง่ายกว่า หลังจากสี่ปีของความขัดแย้งระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และอังเกลา แมร์เคิล ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน, การค้า, นาโต และสภาพภูมิอากาศ

"ถ้าไบเดนชนะทุกอย่างจะยอดเยี่ยม มันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทอง ปัญหาที่ถกเถียงกันจะหายไปชั่วข้ามคืน ไบเดนจะทำให้มิตรภาพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจะกลับมาอีกครั้ง" เขากล่าว

อย่างไรก็ตามเบเยอร์ยืนยันว่าแม้จะมีการแข่งขันสูงแต่การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ไม่อาจทำให้ความสัมพันธ์ของชาติตะวันตกสั่นคลอนโดยอ้างถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาชิกสภาคองเกรสและหลายรัฐในสหรัฐ

"ใครนั่งอยู่ในทำเนียบขาวเป็นสิ่งสำคัญ แต่มันไม่สามารถครอบงำมิตรภาพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้" เขากล่าวเสริม

เบเยอร์กล่าวว่าหลายทศวรรษของความร่วมมือหลังสงครามระหว่างพันธมิตรได้สร้างรากฐานของค่านิยมที่ควรจะเป็น เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สหรัฐได้สอนให้แก่เยอรมนี

ซึ่งตรงข้ามกับจีน ที่มีเครื่องหมายของความเผด็จการ การขาดเสรีภาพสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน

เบเยอร์เป็นหนึ่งในสมาชิกระดับสูงไม่กี่คนของพรรคคริสเตียนเดโมแครต (CDU) เขากล่าวว่าพรรคจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญเหล่านั้นเมื่อเลือกผู้นำคนใหม่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าเมื่อสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง 16 ปีของแมร์เคิล

เขากล่าวว่าความมั่นคงเป็นสิ่งหนึ่งที่เยอรมนีต้องดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรัมป์มีแผนที่จะลดจำนวนทหารสหรัฐที่ประจำการในเยอรมนีลง 9,000 นาย เหลือเพียง 25,000 นาย

เยอรมนีต้องยึดมั่นในคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านความมั่นคงในขณะที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรในยุโรปเพื่อมีบทบาทด้านความมั่นคงมากขึ้น

"เพื่อประโยชน์ของเราเองเราจึงต้องผลักดันความร่วมมือด้านกลาโหมภายในยุโรป" เบเยอร์กล่าว

ทั้งนี้เบเยอร์ยอมรับว่าบางครั้งเยอรมนีละเลยความสัมพันธ์กับสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามผลสำรวจชี้ว่าเยอรมนีเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวอเมริกันจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกครั้ง