posttoday

เพื่อนบ้านย้ายเมืองหลวงหนีน้ำท่วมแล้ว ไทยจะย้ายไหม?

24 กันยายน 2563

โลกร้อนกำลังทำหลายประเทศทั่วโลกจมน้ำจนบางประเทศต้องย้ายเมืองหลวงหนีน้ำ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พายุโซนร้อนที่รุนแรง และฝนตกหนัก เนื่องจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายเมืองโดยเฉพาะเมืองใกล้พื้นที่ชายฝั่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกลืนด้วยน้ำทะเล

ก่อนหน้านี้องค์กร Climate Central เผยผลวิจัยที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 300 ล้านคนมีโอกาสจะถูกน้ำท่วมภายในปี 2050 ภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมมากที่สุดคือเอเชีย เช่น เวียดนาม จีน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อินเดีย รวมถึงไทย

ที่อยู่อาศัยของประชากรไทยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะจมน้ำภายในปี 2050 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ

โดยกรุงเทพมหานคร มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ระหว่างระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตร และการทรุดตัวของแผ่นดินถึง 2 เซนติเมตรต่อปี และมีการคาดการณ์ว่านับจากปี 2020-2050 จะทรุดตัวอีก 19-22 ซม.

เนื่องจากในอดีตเราใช้น้ำบาดาลจำนวนมากจึงทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงปัญหาจากการสร้างเขื่อน ทำให้หลายชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรง

ปัญหาการทรุดตัวของกรุงเทพมหาครมีอยู่หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการกดทับของอาคาร การทรุดตัวตามธรรมชาติ และการใช้น้ำบาดาล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า โครงการวิจัยร่วมไทย-ยุโรป GEO2TECDI (Geodetic Earth Observation Technologies for Thailand : Environmental Change Detection and Investigation) เปิดเผยผลวิจัยว่าประเทศไทยโดยรวมจะมีการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ส่วนแผ่นดินกรุงเทพมหาครจะทรุดลงปีละ 15 มิลลิเมตรโดยมีนักวิชาการเตือนว่าเหลือเวลาเตรียมป้องกันอีก 25 ปีเท่านั้นก่อนที่กรุงเทพมหานครจะจมน้ำ

และหากอุณหภูมิของโลกยังคงขึ้นสูงในอัตรานี้ ในปี 2050 น้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.5 เมตร และในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงมากถึง 2.5 เมตร

ถ้าหากน้ำแข็งบนแผ่นดินกรีนแลนด์ละลายจนหมด น้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 5-7 เมตร พื้นที่ทั้งกรุงเทพมหาคร อยุธยา สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร จะถูกน้ำท่วม

ไทยต้องย้ายเมืองหลวงเหมือนอินโดไหม?

โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเกาะบอร์เนียว เนื่องจากประสบปัญหาแผ่นดินทรุดตัวต่อเนื่องจากการสูบน้ำบาดาล และไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของคนในพื้นที่ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่น

แฮรี แอนเดรียส ผู้ศึกษาเรื่องการทรุดตัวของจาการ์ตา เผยว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาซึ่งอยู่ติดกับทะเลชวาจะจมน้ำภายในปี 2050

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี กล่าวว่ากรุงจาการ์ตามีชั้นดินต่างจากประเทศไทย ซึ่งเป็นชั้นดินที่หนาและอ่อน ทำให้ทรุดเมื่อลงเสาเข็ม ในขณะที่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อลงเสาเข็มไปแล้วจะเจอดินแข็งจึงไม่ทำให้อาคารเกิดการทรุดตัว

เมืองที่มีโอกาสจมน้ำ

กรุงเทพมหานครไม่ใช่เมืองเดียวที่กำลังจะจม แต่ยังมีเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย, ฮิวสตัน วอชิงตัน และนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ธากา ประเทศบังคลาเทศ, ปักกิ่ง ประเทศจีน ที่กำลังมีสัญญาณเกี่ยวกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะมาถึง และเมืองเหล่านี้อาจพบเจอกับสถานการณ์เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP