posttoday

สหรัฐยัดข้อหากบฏล้มล้างรัฐบาลให้ผู้ชุมนุม

17 กันยายน 2563

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐยืนยันจะดำเนินคดีข้อหากบฎกับผู้ชุมนุมประท้วง

CNN รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า วิลเลียม บาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐแสดงความไม่พอใจในการจัดการกับจลาจลของอัยการในท้องถิ่นและของรัฐ โดยเขาต้องการให้มีการตั้งข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง รวมทั้งข้อหากบฎซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่ได้มีการใช้บ่อยนัก

บาร์บอกกับทนายความทั่วประเทศว่าเขาต้องการให้ทนายความนำวิธีที่รัฐบาลกลางดำเนินการเป็นมาวิธีจัดการกับความไม่สงบในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ในขณะที่ทนายความบางคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับบาร์ที่จะตั้งข้อหากบฎ ซึ่งเป็นข้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง

ท่าทีล่าสุดของบาร์สอดคล้องกับการแสดงออกต่อกรณีการเสียชีวิตของฟลอยด์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเขาสนับสนุนตำรวจและการสลายการชุมนุม แทนที่จะสนุบสนุนการใช้วิธีสันติอย่างการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย

ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา อัยการของรัฐบาลกลางได้สั่งฟ้องคดีมากกว่า 200 คดีต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในระหว่างการประท้วงที่มีชนวนมาจากการสังหาร จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่เสียชีวิตจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจระหว่างถูกจับกุมตัว

โดยคดีข้างต้นบางคดีเป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อจลาจล บางคดีเป็นความผิดสถานเบาซึ่งโดยปกติแล้วจะได้รับการจัดการโดยหน่วยงานท้องถิ่นไม่ใช่อัยการของรัฐบาลกลาง

และก่อนหน้านี้ บาร์ยังมีคำสั่งให้จัดการกับผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาด ด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่กวาดล้างผู้ประท้วงอย่างสงบที่จัตุรัสลาฟาแยต สวนสาธารณะซึ่งอยู่ติดกับทำเนียบขาวที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคยใช้เป็นที่รวมตัวกันก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ในปี 2010 รัฐบาลกลางเคยตั้งข้อหากับสมาชิกอาสาสมัครชาวคริสเตียนที่เรียกว่าฮุทาเรสว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการปลุกระดม แต่พวกเขาพ้นผิดเพราะขาดหลักฐาน และในปี 1930 อัยการของรัฐบาลกลางประสบความสำเร็จในการใช้กฎหมายเดียวกันนี้ต่อต้านผู้แบ่งแยกดินแดนเปอร์โตริโก