posttoday

วันที่สหรัฐส่งเครื่องบินจากไทยไปช่วยอินเดียรบจีน

09 กันยายน 2563

บทเรียนความขัดแย้งในอดีตที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องและอาจเป็นแบบอย่างให้กับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เหตการณ์นี้เกิดขึ้นมานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ในวันนี้ไม่ต่างจาก 50 ปีก่อนมากนัก อินเดียหันมามาเผชิญหน้ากับจีนอีกครั้งที่พรมแดนทิเบต และสหรัฐที่เคยคบหากับจีนอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นคู่กรณีกัน

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น (ครั้งแรก) สหรัฐใช้ไทยเป็นฐานทัพในปฏิบัติการแถบอินโดจีน ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดี แต่สหรัฐก็ยังส่งเครื่องบินจากฐานทัพในไทยไปป้วนเปี้ยนในน่านฟ้าจีนด้วย และยังช่วยอินเดียต้านทานจีนในช่วงที่ทั้ง 2 ประเทศทำสงครามแย่งชิงดินแดนกัน

ในเวลานั้นสหรัฐใช้เครื่องบินสอดแนม U-2 ในปฏิบัติการช่วยอินเดียต้านจีน โดยเครื่อง U-2 ปฏิบัติการจากท่าอากาศยานตาคลี อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องนี้อยู่ในเอกสารลับของ CIA ที่เปิดเผยในปี 2013 และยังมีข้อมูลจากการวิจัยของ Chris Pocock นักเขียนชาวอังกฤษที่สนใจเรื่องของ U-2

เครื่องบินสอดแนม U-2 ถูกพัฒนาขึ้นมาในแอเรีย 51 (Area 51) ซึ่งเป็นฐานทัพที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐเนวาดา เป็นฐานลับเสียจนบางคนเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่สร้างจานบินขึ้นมา ฐานแห่งนี้จึงเป็นที่สนใจของนักทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลาย แต่กับผู้ที่สนใจเรื่องความมั่นคงบ มันคือบ้านเกิดของ U-2

จากข้อมูลของ Pocock พบว่า ในปี 1959 ลงมา สหรัฐได้ส่งเครื่อง U-2 บินไปที่ทิเบตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทิเบตเป็นจุดยทธศาสตร์ที่จีนเพิ่งจะครอบครองอย่างเป็นทางการไม่กี่ปีก่อนหน้านั้นและในอนาคตจีนจะปะทะกับอินเดียเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทับซ้อนในทิเบตตะวันตก (กัษมิระ) และทิเบตใต้ (รัฐอรุณาจัลประเทศ)

ในปี 1959 เกิดการลุกฮือของชาวทิเบตต่อ "การยึดครองของจีน" จนทำให้จีนต้องปราบปรามอย่างหนัก กรณีนี้ CIA มีส่วนไม่น้อยโดยเป็นผู้ฝึกฝนชาวทิเบตฝ่ายต่อต้านและยังสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธใก้กับชาวทิเบตปฏิบัติการตามแนวชายแดนจีน-อินเดียด้วย

และเครื่องบินที่ส่งไปทิเบตบินขึ้นจากท่าอากาศยานตาคลีในประเทศไทยนี่เอง แต่ข้อมูลนี้ไม่ได้เปิดเผยทั้งหมด เพราะมียังมีการแก้ไขเล็กน้อยในตอนท้ายของการบันทึกสนทนา ผู้เขียนคาดว่าส่วนที่แก้ไขอาจเป็นการอ้างอิงถึงหัวหน้าศูนย์ CIA ในกรุงเทพฯ

หลังจากนั้นสหรัฐทำข้อตกลงกับอินเดียเพื่ออนุญาตให้เครื่อง U-2 บินเหนือน่านฟ้าของทิเบตและพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดีย โดยเครื่องจะเดินทางมาจากฐานทัพอากาศตาคลีในประเทศ และมีเส้นทางการเติมเชื้อเพลิงในอินเดีย รวมถึงการส่ง U-2 จำนวนสองลำมาประจำฐานทัพอากาศจรพาติยะ ในรัฐโอริศา

นายกรัฐมนตรีเนห์รูของอินเดียอนุมัติการบินโดยภารกิจของ U-2 ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนกับจีนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1962 หรือหลังจากเกิดสงครามจีน- อินเดียได้ไม่ถึง 1 เดือน

เนห์รูแถลงต่อรัฐสภาเรื่องสถานการณ์ตามแนวชายแดนซึ่งแม้จะไม่เปิดเผยที่มาแต่ค่อนข้างจะแน่นอนว่าข้อมูลในมือของผู้นำอินเดียมาจาก U-2 ซึ่งบินมาจากตาคลีและที่ประจำการในอินเดียเอง นอกจากไทยและอินเดียแล้ว U-2 ยังประจำการในฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม U-2 ไปประจำการที่ฐานทัพในอินเดียแค่ช่วงสั้นๆ เพราะเนห์รูเสียชีวิตในปี 1964 แล้วก็กลับมาปฏิบัติการที่ตาคลีอีกและตาคลีเป็นฐานหลักของกองบินนี้ในเอเชียต่อไป

จนในปี 1965 เอกสารลับของ CIA ลงวันที่ 23 กันยายน เสนอให้ทบทวนว่าควรจะส่งเครื่อง U-2 จากตาคลีไปปฏิบัติการตามแนวชายแดนจีน-อินเดียต่อไปอีกหรือไม่ เพราะจีนเริ่มผ่อนคลายท่าทีมากขึ้นในแถบซินเจียงตะวันตกและทิเบต อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการชี้ว่าจีนอาจจะโจมตีอินเดียได้ในเวลาอันสั้น และการส่งเครื่อง U-2 จากตาคลีไปเป็นหูเป็นตาจะช่วยจับความเคลื่อนไหวของจีนได้ทันการณ์

หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 70 เมื่อสหรัฐถอนตัวจากสงครามเวียดนามปฏิบัติทหารในแถบนี้ก็ยุติลงไปด้วย

บทความนี้แม้จะมีเนื้อมีหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ผ่านไปแล้ว แต่มันยังอาจใช้เป็นบทเรียนในการรับกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย นั่นคือความขัดแย้งระหว่างจีน-อินเดีย ที่อาจกลายเป็นความขัดแย้งระยะยาว และยังอาจเป็นเหตุให้สหรัฐเข้ามาแทรกแซงอีก และให้จีน "ถูกรุม" เหมือนในอดีต

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1962 เนห์รูเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีแห่งสหรัฐ 2 ฉบับโดยขอซื้อเครื่องบินขับไล่ 12 ฝูงบินและระบบเรดาร์ที่ทันสมัย

แต่คำขอเหล่านี้ถูกปฏิเสธโดยฝ่ายรัฐบาลเคนเนดีเพราะขณะนั้นสหรัฐต้องรับมือกับสหภาพโซเวียตในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อย่างไรก็ตามสหรัฐให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่นส่งเครื่อง U-2 ไปช่วยเป็นหูเป็นตาและถึงขั้นวางแผนที่จะส่งเรือบรรทุก USS Kitty Hawk ไปยังอ่าวเบงกอลเพื่อสนับสนุนอินเดียในกรณีที่เกิดสงครามทางอากาศ

ในเวลานั้น สหภาพโซเวียตกับจีนยังจูบปากกันในฐานะมหามิตรแห่งค่ายคอมมิวนิสต์ และยังทำให้สหรัฐไม่สามารถช่วยเหลืออินเดียได้เต็มที่ด้วย แต่แล้วก็เกิดเรื่องพลิกผันแบบเหลือเชื่อ เมื่อจีนกับสภาพโซเวียตแตกคอกันเองจนสะบั้นสัมพันธ์กันเพราะความขัดแย้งทางการเมือง สหภาพโซเวียตก็หันมาสนับสนุนอินเดียสู้กับจีนเต็มที่ และอินเดียก็สนิทสนมกับโซเวียตนับแต่นั้น

แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีก เมื่อสหรัฐที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของจีนหันมาติดต่อกับจีนเพื่อยุติความบาดหมาง ส่วนหนึ่งก็เพื่ออาศัยจีนต้านสหภาพโซเวียตผลก็คือในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ทั้งสองประเทศก็จับมือกันในที่สุด

ท่าทีของพี่ใหญ่อย่างสหรัฐทำให้ไทยต้องเปลี่ยนท่าทีต่อจีนไปด้วย และนับจากนั้นไทยก็ถ่วงดุลระหว่างสหรัฐและจีนมาโดยตลอดโดยไม่ยากเย็นอะไรนัก จนกระทั่งสหรัฐกับจีนสร้างความยากลำบากให้ไทยอีกครั้ง เมื่อทั้งสองมาหักหาญกันอีกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

ประสบการณ์ในอดีตจะช่วยชี้ทางให้กับไทยว่าเราควรจะวางตัวเช่นไร ในอดีตเราเคยเป็นฐานทัพให้สหรัฐส่งเครื่องบินอันทันสมัยไปช่วยอินเดียมาแล้ว แต่ในเวลานั้นไทยเป็นศัตรูซึ่งๆ หน้ากับจีน

แต่วันนี้ไทยไม่ใช่ศัตรูของประเทศไหนทั้งสิ้น

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพจาก US Navy