posttoday

อาชญากรสงครามคนสุดท้าย แห่งทางรถไฟสายมรณะในไทย

06 สิงหาคม 2563

วันนี้เป็นวันครบรอบ 75 ปีที่สหรัฐนำระเบิดปรมาณูไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 โพสต์ทูเดย์นำเสนอชะตากรรมของชายคนหนึ่งที่ถูกม้วนเข้าสู่สงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สุดท้ายกลับถูกลืม

อีฮัคแร (Lee Hak-rae) ชายวัย 95 ปี คืออาชญากรสงครามชาวเกาหลีคนสุดท้ายในญี่ปุ่น เขาคือผู้คุมชาวเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาคุมเชลยศึกสร้างทางรถไฟสายมรณะในประเทศไทย แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว เขากลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากญี่ปุ่น ขณะที่ในเกาหลีใต้บ้านเกิดก็ถูกมองว่าทรยศชาติ

ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่กับครอบครัวในชานกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น แต่เหตุการณ์เลวร้ายเมื่อ 75 ปีที่แล้วก็ยังติดอยู่ในใจของอี ทั้งการถูกทางการญี่ปุ่นเกณฑ์ไปเป็นผู้คุม การมีส่วนร่วมในการสร้างทางรถไฟสายมรณะเชื่อมไทย-เมียนมา การถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงครามโลกครั้งที่ 2

ในปี 1942 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลียังถูกญี่ปุ่นยึดครอง อี ลูกชายวัย 17 ปีของครอบครัวชาวนาเกาหลีถูกเกณฑ์เข้ากองทัพญี่ปุ่นภายใต้สัญญา 2 ปี ด้วยค่าตอบแทน 50 เยนต่อเดือน

หลังจากได้รับการฝึกในเมืองปูซาน อีถูกส่งตัวมาที่ประเทศไทยในฐานะผู้คุมเชลยสงครามของญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลันดา เพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะเชื่อมระหว่างไทย-เมียนมา

ช่วงที่อยู่ไทย อีเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า คะคุราอิ ฮิโรมุระ

เดือน ก.พ. 1943 อีและผู้คุมคนอื่นๆ ได้รับมอบหมายให้คุมตัวเชลยสงครามชาวออสเตรเลียราว 500 คนและชาวตะวันตกอื่นๆ ไปยังค่ายหินตกในเขตอำเภอไทรโยคของกาญจนบุรี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขา

ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 415 กิโลเมตร เชลยสงครามต้องสังเวยชีวิตไปราว 12,000 คน จากความเหนื่อยล้า การโหมทำงาน ถูกผู้คุมทุบตี รวมทั้งติดเชื้อมาลาเรียและโรคอหิวาต์

อีขึ้นชื่อในหมู่เชลยสงครามว่าเป็นผู้คุมที่โหดที่สุด

ออสติน ไฟฟ์ เชลยสงครามชาวออสเตรเลียเผยว่า เคยถูกอีทุบตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังเคยถูกใช้ไม้ไผ่ตีที่ท้ายทอย ขณะที่นักโทษคนอื่นๆ พูดตรงกันว่า อีมักจะแอบไปดูที่โรงพยาบาลสนาม หากเห็นว่าใครที่ยังพอทำงานได้ ไม่ได้ป่วยหนักก็จะถูกทุบตี

หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อีและผู้คุมชาวเกาหลีคนอื่นรวม 148 คน ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรส่งตัวไปขึ้นศาลทหารออสเตรเลียที่สิงคโปร์ และถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาบังคับให้เชลยสงครามที่เจ็บป่วยทำงานหนักจนเสียชีวิต และไม่ยอมสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหยุดทำร้ายร่างกายเชลยสงคราม

จากเอกสารในศาล อีให้การว่าเขาเพียงแค่ผลักเบาๆ ที่ไหล่เท่านั้น ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และตัวเขาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะขัดคำสั่งได้ เนื่องจากผู้คุมชาวเกาหลีอยู่ในระดับล่างสุดในกองทัพญี่ปุ่น

ในที่สุดอีถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี 1947 หลังจากถุกคุมขังเพื่อรอการประหารได้ 8 เดือน ศาลลดโทษเหลือจำคุก 20 ปี อีถูกจำคุกในสิงคโปร์และถูกย้ายไปรับโทษต่อที่เรือนจำสุงะโมในกรุงโตเกียวในปี 1951 และต่อมาได้รับการปล่อยตัวโดยมีทัณฑ์บนจากศาลในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นในปี 1956

หลังจากได้รับการปล่อยตัว อีไม่กล้าเดินทางกลับเกาหลี จนไม่ได้ไปร่วมงานศพแม่  เพราะกลัวว่าจะถูกเพื่อนร่วมชาติมองว่าเป็นคนทรยศ จึงอยู่ที่ญี่ปุ่น ในขณะที่เพื่อนร่วมชะตากรรมบางคนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง บางคนมีอาการป่วยทางจิต เมื่อรู้ว่าต้องอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

ที่นั่นอีเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มคนเกาหลีที่เป็นอาชญากรสงครามอีก 70 คน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นจ่ายเงินช่วยเหลือพวกเขาและครอบครัว และยังตั้งบริษัทแท็กซี่ในปี 1960 เพื่อให้สมาชิกกลุ่มทุกคนมีงานทำมีเงินใช้ เนื่องจากไม่ได้รับเงินชดเชย

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเพิ่งออกกฎหมายให้เงินบำนาญทหารผ่านศึก รวมทั้งอาชญากรสงครามและครอบครัวสูงสุดอยู่ที่ 41,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,275,120 บาทต่อปี แต่ผลของการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกซานฟรานซิสโกในปี 1953 ทำให้อีและเพื่อนๆ เสียสัญชาติญี่ปุ่นและสิทธิในการได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลญี่ปุ่น

จุดนี้เองที่ทำให้อีรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะในขณะที่ทหารญี่ปุ่นได้รับเงินชดเชย แต่ชาวเกาหลีที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ

แต่ถึงกระนั้นในปี 1991 กลุ่มของอีและเพื่อนๆ ตัดสินใจยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อเรียกเงินชดเชยตามสิทธิของทหารผ่านศึก แต่สุดท้ายศาลสูงสุดของญี่ปุ่นตัดสินให้พวกเขาแพ้คดี

ต่อมาในปี 2006 ทางการเกาหลีใต้ยอมรับว่ากลุ่มของอีเป็นเหยื่อของลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น แต่ปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยให้คนที่ยังอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น รวมทั้งอี ขณะที่อาชญากรสงครามชาวเกาหลีที่กลับบ้านเกิดได้รับสิทธิพิเศษในการรักษาพยาบาล

ปัจจุบันนี้ อีอาศัยอยู่ในเมืองนิชิโตเกียวในกรุงโตเกียว ในฐานะอาชญากรสงครามเกาหลีใต้คนสุดท้ายในญี่ปุ่น โดยที่ไม่ได้รับการยอมรับจดจำทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

เรียบเรียงจาก: The survivor: last Korean war criminal in Japan wants recognition, Elderly Korean war criminal seeks redress from Japan