posttoday

ฝีมือใคร? เจาะความเป็นได้เหตุระเบิดถล่มเบรุต

05 สิงหาคม 2563

เปิดเบื้องหลังสถานการณ์แวดล้อมในเลบานอน ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังคุกรุ่น

1. ทางการเลบานอนกล่าวว่าสาเหตุการระเบิดมาจากแอมโมเนียไนเตรต ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิตปุ๋ยและสามารถใช้เป็นวัตถุระเบิดได้ สารนี้ถูกเก็บไว้ในโกดังที่ท่าเรือในกรุงเบรุตเมืองหลวงของเลบานอนมานานประมาณ 6 ปี แต่เกิดระเบิดขึ้นระหว่างคนงานกำลังซ่อมรูรั่วของโกดัง ประกายไฟจากการเชื่อมโลหะอาจเป็นสาเหตุ

2. แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์บอกว่าการระเบิดครั้งนี้เป็นการโจมตีของบุคคลบางกลุ่ม ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า “ดูเหมือนการโจมตีที่น่ากลัว” และบอกว่า “ดูเหมือนว่าจะเป็นแบบนั้นอิงกับการระเบิด ผมพบกับนายพลผู้ยิ่งใหญ่ของเราและพวกเขาก็คิดว่ามันเป็นเช่นนั้น”

3. รัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาสาเหตุของการระเบิดครั้งใหญ่ และบอกว่าเจ้าหน้าที่ของเลบานอนกำลังสืบสวนสาเหตุของโศกนาฏกรรมนั้น และก่อนที่เราจะได้ผลลัพธ์จากการสอบสวนยังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาว่าสาเหตุมาจากอะไร

4. เบื้องต้นเรามีข้อคิดเห็น 2 ข้อเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ข้อแรกมันเกิดจากอุบัติเหตุ (สมมติฐานของเลบานอน) และข้อที่สองมันเกิดจากวินาศกรรม (สมมติฐานของสหรัฐ) ส่วนอังกฤษและคาดว่าส่วนอื่นๆ ของโลกคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุป

5. แต่เพื่อให้ทันสถานการณ์ ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ได้ลองวิเคราะห์จากสมมติฐานของทรัมป์ เพราะดูเหมือนเขาจะมั่นอกมั่นใจว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการก่อวินาศกรรม เพราะเขาสรุปไปแล้วว่า “นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดจากการผลิตอะไรบางอย่าง จากความเห็นของพวกเขา (นายทหารสหรัฐ) ซึ่งเขารู้ดีกว่าผม พวกเขาคิดว่าเป็นการโจมตี ... มันเป็นการโจมตีด้วยระเบิดแบบหนึ่ง"

6. ทรัมป์ยังไม่ได้ระบุว่าใครเป็นคนลงมือ แต่เราจะวิเคราะห์จากเงื่อนไขในประเทศเลบานอน ซึ่งเป็นประเทศที่เคยผ่านสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มการเมือง/เชื้อชาติต่างๆ และยังมีความขัดแย้งกับอิสราเอล และตั้งอยู่ใกล้กับซีเรียที่ยังมีสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ

7. หลังจากเกิดการระเบิดไม่นาน มีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าอิสราเอลอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อิสราเอลประกาศอย่างรวดเร็วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยังเสนอให้ความช่วยเหลือโดยติดต่อผ่านสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชน นัยว่าเพื่อแสดงความจริงใจและโปร่งใส รัฐมนตรีกลาโหมของเลบานอนก็เผยว่าอิสราเอลเสนอให้ความช่วยเหลือเลบานอนผ่านคนกลาง

8. เลบานอนประกอบด้วยชนชาติ/ศาสนาที่หลากหลาย คือมีชาวมุสลิม 61.1% (ซึ่งมุสลิมชีอะห์และซุนนีขัดแย้งกันเอง) ชาวคริสต์ 33.7% (เป็นกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมือง) ชาวดรูซ 5.2% เพราะสาเหตุนี้ทำให้เลบานอนมีความเปราะบางสูง และเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งได้ง่ายและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง (ระหว่างปี 1975 - 1990)

9. หลังสงครามกลางเมืองกลุ่มติดอาวุธศาสนาต่างๆ ยอมวางอาวุธยกเว้นกลุ่มเฮซบอลลอฮ์ซึ่งเป็นขบวนการของมุสลิมชีอะห์ที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับอิหร่าน (ที่เป็นชีอะห์เหมือนกัน) ในเวลานี้เป้าหมายของเฮซบอลลอฮ์คืออิสราเอลที่ยึดดินแดนของเลบานอนไป เฮซบอลลอฮ์ก่อวินาศกรรมอิสราเอลหลายครั้งและยังก่อสงครามย่อยๆ ที่ชายแดนในปี 2006

10. เฮซบอลลอฮ์ยังไปช่วยรบในสงครามกลางเมืองซีเรียโดยเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลซีเรีย (ซึ่งเป็นชีอะห์เหมือนกันและหนุนหลังโดยอิหร่านเช่นกัน) และรบกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (ที่สนับสนุนโดยสหรัฐ) และสหรัฐขึ้นบัญชีเฮซบอลลอฮ์เป็นกลุ่มก่อการร้าย

11. รัฐบาลทรัมป์มีลูกล่อลูกชนกับเฮซบอลลอฮ์มาตลอด ก่อนที่จะล้มดีลกับอิหร่านจนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ รัฐบาลทรัมป์เหมือนจะยอมโอนอ่อนกับเฮซบอลลอฮ์ แต่เมื่อมีเรื่องกับอิหร่านสหรัฐก็แข็งกร้าวขึ้นมาอีก ไมค์ พอมพีโอ บอกกับนายกรัฐมนตรีเลบานอนให้ควบคุมเฮซบอลลอฮ์เสียไม่เช่นนั้นสหรัฐจะไม่ทนอีก

12. แต่เฮซบอลลอฮ์ยังได้รับความนิยมอย่างมากในเลบานอนแม้แต่ในหมู่ชาวคริสต์ในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของเลบานอน ที่สำคัญก็คือเฮซบอลลอฮ์คือผู้ช่วยที่ฟอร์มรัฐบาลอิสราเอลชุดปัจจุบัน แต่รัฐบาลชุดนี้กำลังถูกประชาชนต่อต้านเพราะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง เนื่องจากการะบาดของโควิด-19

13. นอกจากนี้ ศาลของสหประชาชาติในฐานะคนกลางกำลังพิจารณาคดีสมาชิกเฮซบอลลอฮ์ที่ลงมือสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก อัล ฮาริรีแห่งเลบานอนที่เป็นมุสลิมซุนนีด้วยการลอบวางระเบิดในรถบรรทุกเมื่อปี 2005 และเฮซบอลลอฮ์ยังลอบสังหารนักการเมืองซุนนีที่ได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตกและพันธมิตรของชาติตะวันตกในตะวันออกกลาง เพื่อที่จะใช้คนเหล่านี้ต่อต้านอิหร่าน

14. การพิจารณาคดีครั้งประวัติศาสตร์จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ที่เนเธอร์แลนด์ แต่กรุงเบรุตมาเกิดระเบิดเสียก่อนในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญจนน่าผิดสังเกต อันที่จริงก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน บริเวณใกล้ๆ กับขบวนรถของอดีตนายกรัฐมนตรีซาอัด ฮาริรี บุตรชายของราฟิก อัล ฮาริรีถูกขีปนาวุธโจมตีจากบุคคลไม่ทราบฝ่าย

15. จากปัญหาเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลสายเฮซบอลลอฮ์สั่นคลอนอย่างหนัก และในระยะหลังมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มการเมือง Future Movement ของฮาริรี (พวกซุนนี) กับพวกเฮซบอลลอฮ์ (พวกชีอะห์) บ่อยครั้ง จนประธานาธิบดีมิเชล อาอูน (ชาวคริสต์) ต้องเอ่ยว่าตอนนี้ "มีบรรยากาศของสงครามการเมือง" และมีความพยายามทำให้เกิดความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

16. แต่เมื่อไม่มีหลักฐานเราไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นคนทำ นอกจากชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์แวดล้อมเท่านั้น และสถานการณ์ที่เรามีตอนนี้คือ เฮซบอลลอฮ์กำลังจะขึ้นศาลในคดีสังหารผู้นำประเทศที่มาจากฝ่ายตรงข้าม, รัฐบาลสายเฮซบอลลอฮ์กำลังเสียรังวัดจากปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดจนเกิดการประท้วงไปทั่ว และเฮซบอลลอฮ์คือแขนขาของอิหร่านที่สหรัฐต้องการจะควบคุมไว้ในเวลาที่สหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับอิหร่าน

17. และสถานการณ์ที่สามก็คือเรามีสารเคมีที่ใช้เป็นระเบิดได้ปริมาณมหาศาลอยู่ในเมืองของเลบานอนโดยที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ทราบ แล้วมันก็เกิดระเบิดขึ้นมาโดยคนงานที่กำลังอ๊อกเหล็กไม่รู้ว่ามันเป็นวัตถุระเบิด

Photo by IBRAHIM AMRO / AFP