posttoday

โลกร้อนขึ้น สัญญาณเตือนของภัยพิบัติรุนแรง

21 กรกฎาคม 2563

ความล้มเหลวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจทำให้สภาพอากาศสุดขั้ว อาทิ ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำและทวีความรุนแรงขึ้น

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเจอกับน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มหนักที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ จากฝนที่ว่ากันว่าตกหนักแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องอพยพชาวบ้านนับล้านๆ คน

แม้ว่าช่วงเวลานั้นจะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นต้องเจอฝนตกหนักอยู่แล้ว แต่สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) แบบนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นบวกกับระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ไอน้ำมหาศาลจากทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ จะก่อตัวเป็นกลุ่มไอน้ำในบรรยากาศขนาดใหญ่ ทำให้เกิดพายุฝนตกหนักในปริมาณเท่ากับน้ำฝนทั้งปีในญี่ปุ่น

ด้านจีนเจอฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดดินถล่มและน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีในพื้นที่ 27 มณฑลจากทั้งหมด 31 มณฑล ส่งผลกระทบกับประชาชนราว 37 ล้านคน เสียชีวิตหรือสูญหาย 141 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้วกว่า 86,000 ล้านหยวน

จีนต้องเจอกับน้ำท่วมเป็นปกติในช่วงฤดูร้อน แต่เมื่อรวมกับปัจจัยด้าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หลายพื้นที่จึงมีฝนตกหนักยาวนานและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

รายงานประจำปีด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของจีนเมื่อปีที่แล้วระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1961-2018 เกิดฝนตกหนักในจีนเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990

ขณะที่อินเดียซึ่งอยู่ในฤดูมรสุมและเผชิญกับน้ำท่วมหนักไม่ต่างจากจีน กระทรวงวิทยาศาสตร์โลกเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับวิกฤตสภาพอากาศ พบว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้อินเดียมีฝนตกหนัก ถูกพายุไซโคลนถล่ม และแห้งแล้งมากขึ้นตลอดช่วงศตวรรษนี้ หรือจนถึงปี 2100

นอกจากนี้ ยังคาดว่าภายในปี 2100 อุณหภูมิของอินเดียจะเพิ่มขึ้นอีกราว 4.4 องศาเซลเซียส

แต่กรณีของอินเดียอาจแตกต่างจากประเทศอื่นคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้บางพื้นที่มีความแห้งแล้ง ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่เจอทั้งฝนและพายุไซโคลน

อย่างไรก็ดี ซ่งเหลียนชุน นักอุตุนิยมวิทยาจากศูนย์สภาพภูมิอากาศแห่งชาติจีนเผยว่า เราไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง แต่จากการเฝ้าจับตามาระยะหนึ่ง ภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มของประเทศไทย ดัชนีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามเมืองต่างๆ ในปี 2050 ของ Nestpick เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลอพาร์ทเม้นต์ทั่วโลกพบว่า กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

ในภาพเป็นความเสียหายจากอุทกภัยหลังจากฝนตกหนักในจังหวัดฮิโรชิมะของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

AFP PHOTO / Martin BUREAU