posttoday

นักการทูต หรือ VIP มีเอกสิทธิ์แค่ไหนบนแผ่นดินไทย

17 กรกฎาคม 2563

กางอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตที่ทำให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องกักตัวโควิด-19

จากกรณีพบลูกสาวอุปทูตซูดานมีเชื้อโคโรนาไวรัสตั้งแต่เดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ใช้เอกสิทธิ์ทางการทูตเพื่อเลี่ยงการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State Quarantine) และออกไปพักที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งแทน จนเกิดเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เท่าเทียมกันในการควบคุมป้องกัน Covid-19  ระหว่างคนทั่วไปกับนักการทูต

มาทำความเข้าใจกันว่านักการทูตมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันอะไรบ้าง

เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (Privilege & Immunity) หมายถึง สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันจากการถูกบังคับตามกฎหมายบางประเภทที่รัฐผู้รับให้แก่คณะผู้แทนทางทูตและตัวแทนทางทูต และเจ้าพนักงานกงสุลของรัฐผู้ส่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลจะเริ่มตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับในการเดินทางไปรับตำแหน่งของตน และเมื่อการหน้าที่ของตัวแทนทางทูตและเจ้าพนักงานกงสุลยุติลง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะสิ้นสุดลงขณะที่บุคคลนั้นออกไปจากประเทศของรัฐผู้รับ

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตและกงสุลมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้แก่

1.อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 (1961 Vienna Convention on Diplomatic Relations)

 ความคุ้มกัน

  • สถานที่ของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ของคณะผู้แทน เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นของคณะผู้แทนในสถานที่นั้น และพาหนะในการขนส่งของคณะผู้แทนจะได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การอายัด หรือการบังคับคดี (ข้อ 22)
  • ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ (ข้อ 29) คือจะไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปแบบใดๆ
  • ตัวแทนทางทูตได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองของรัฐผู้รับ (ข้อ 31)

เอกสิทธิ์

  • ตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งปวงของชาติ ของท้องถิ่น หรือ ของเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน (ยกเว้นค่าติดพันและภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาสินค้าหรือบริการแล้ว ค่าติดพันและภาษีจากเงินได้ส่วนตัวจากซึ่งแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับ และภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ เป็นต้น) (ข้อ 34)

2.อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 (1963 Vienna Convention on Consular Relations)

ความคุ้มกัน

  • สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ทางกงสุลและเครื่องเรือน ทรัพย์สินและพาหนะของสถานทำการทางกงสุลจะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปแบบใด (ข้อ 31)
  • เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง (ข้อ 41 วรรคหนึ่ง)

เอกสิทธิ์

  • เจ้าพนักงานกงสุลจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน (ยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้งผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐ เป็นต้น) (ข้อ 49)

ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตคือ กลุ่มนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ทูต (Diplomat) ซึ่งมีหลากหลายตำแหน่งตามลำดับชั้นดังนี้

  •  เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary)
  • อัครราชทูต (Minister)
  • อุปทูต (Chargé d’Affaires)
  • อัครราชทูตที่ปรึกษา (Minister Counsellor)
  • ที่ปรึกษา (Counsellor)
  • เลขานุการเอก (First Secretary)
  • เลขานุการโท (Second Secretary)
  • เลขานุการตรี (Third Secretary)
  • นายเวร (Attaché)
  • กงสุลใหญ่ (Consul General)
  • กงสุล (Consul)
  • รองกงสุล (Vice Consul)
  • กงสุลกิตติมศักดิ์ (Honorary Consul)

ส่วนคนในครอบครัวของตัวแทนทางทูตจะได้รับเอกสิทธิ์ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ข้อ 29 คือจะถูกละเมิดมิได้ด้วยเช่นกัน และได้รับความคุ้มครองอื่นๆ คล้ายกับนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ทูต (ข้อ 37)

คำว่าจะถูกละเมิดมิได้ตรงนี้กลายเป็นช่องโหว่ที่สร้างปัญหาในการบังคับใช้มาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสให้กับทางการไทยหลายครั้ง อาทิ ในกรณีของลูกสาวอุปทูตซูดาน และล่าสุดได้แก่ทูตของสหภาพยุโรปที่เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นนักการทูตของสถานกงสุลเอสโตเนีย

ในภาวะที่เราต้องควบคุมการแพร่ระบาด รัฐบาลไทยควรเจรจากับนานาประเทศเพื่อขอยกเว้นอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ เป็นกรณีพิเศษ แล้วบังคับใช้มาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ ศบค.แทน

ในเวลาต่อมากระทรวงการต่างประเทศได้แถลงว่า จะทบทวนมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาของนักการทูตให้เข้มงวดมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของระเบียบเป็นช่วงรอยต่อ

การแถลงของกระทรวงการต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ทางการไทยยังขาดการวางแผนรับมือการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของนักการทูตในช่วงที่ Covid-19 ระบาด และดูจะเกรงใจอนุสัญญากรุงเวียนนาอยู่ไม่น้อย ทั้งที่อนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่ของนักการทูตไว้ชัดเจนในข้อ 41 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ตัวแทนทางทูตมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐผู้รับ

เช่นเดียวกับข้อ 55 วรรคหนึ่ง ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานกงสุลมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐผู้รับ

ผู้แทนทางการทูตแห่งหนึ่งเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า ได้รับการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศเพื่อที่จะชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการกักตัวของผู้แทนการทูต

แสดงให้เห็นว่าก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีต่างๆ เกี่ยวกับนักการทูต หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า VIP หน่วยงานของไทยไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินใจของสถานทูตต่างๆ ได้ง่ายๆ ว่าจะปฏิบัติตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยหรือไม่ หรือจะปฏิบัติเองเพื่อรักษาอภิสิทธิ์ทางการทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ