posttoday

เมื่อสายเลือดไทยจะได้เป็นรองผู้นำสหรัฐ

08 กรกฎาคม 2563

สื่อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐยก ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นตัวเต็งผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต

ในขณะที่ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐจากพรรคเดโมแครต กำลังเฟ้นหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับตัวเอง ชื่อของ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) วุฒิสมาชิกชาวอเมริกันเชื้อสายไทยจากรัฐอิลลินอยส์ก็ได้รับความสนใจจากสื่อใหญ่ๆ ในสหรัฐในฐานะที่เป็นตัวเต็งในครั้งนี้

หนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่า คนวงใน 2 คนที่ทราบกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครรองประธานาธิบดีเผยว่าการสัมภาษณ์ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ สร้างความประทับใจให้กับทีมคัดเลือกมาก และทางทีมยังขอให้เธอส่งเอกสารประวัติส่วนตัวเพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไปด้วย

The New York Times ยังวิเคราะห์อีกว่า ดักเวิร์ธมีความเป็นซ้ายกลางซึ่งเป็นจุดร่วมระหว่างเธอกับไบเดน และอาจช่วยดึงคะแนนเสียงจากฐานเสียงสายกลางได้ดีเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่น อาทิ คามาลา แฮร์ริส อดีตอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนียเชื้อสายจาเมกา ที่พยายามจะโจมตีทรัมป์ แต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มชาวแอฟริกัน-อเมริกัน หรืออลิซาเบธ วอร์เรน ที่อายุ 71 ปีแล้ว ขณะที่ดักเวิร์ธอายุ 52 ปี

แต่ไม่ว่าไบเดนจะเลือกใคร คนคนนั้นจะต้องวางตำแหน่งตัวเองเป็นว่าที่ประธานาธิบดี เพราะด้วยวัยแล้วไบเดนอาจดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว ซึ่งภาพลักษณ์การเป็นผู้นำเข้มแข็งและไม่มีประวัติด่างพร้อยจะต้องเด่นชัด  และดักเวิร์ธก็แสดงจุดเด่นเหล่านี้ได้ถูกจังหวะเวลา และอาจทำให้เธอขยับเข้าใกล้ทำเนียบขาวไปอีกขั้น

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดักเวิร์ธกล่าวโจมตีว่าทรัมป์เพิกเฉยต่อเรื่องที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐมีรายงานออกมาว่าทางการรัสเซียจ่ายเงินค่าหัวให้นักรบตาลิบันที่ปลิดชีพทหารสหรัฐ และยังเรียกร้องให้วุฒิสภาสอบสวนเรื่องนี้

โจชัว ซิตเซอร์ มองว่าท่าทีดังกล่าวของดักเวิร์ธช่วยสร้างผลงานสร้างชื่อเสียงให้เธอไม่น้อย

นอกจากนี้ ดักเวิร์ธยังโดดเด่นในเรื่องการนำนโยบายมาปฏิบัติ สมัยที่เธอดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายกิจการทหารผ่านศึก เธอต้องประสานงานกับกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองเพื่อต่อสู้เพื่อทหารผ่านศึกไร้บ้าน ส่วนในสภาเธอได้ผลักดันกฎหมายที่สร้างโอกาสให้ทหารผ่านศึกได้เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง

แม้ประเด็นเหล่านี้จะไม่ใช่นโยบายหลัก แต่ดักเวิร์ธก็ได้โชว์ทักษะในการนำประสบการส่วนตัวของตัวเองมาเปลี่ยนแปลงเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ศูนย์เพื่อการออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพยกย่องให้เธอเป็นวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตหน้าใหม่ที่ทำงานมีประสิทธิภาพที่สุด

อย่างไรก็ดี ดักเวิร์ธก็มีจุดอ่อนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดผลงานด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายเกี่ยวกับตำรวจ ที่จะใช้เป็นประเด็นในการหาเสียง ไม่ได้มาจาก battleground state หรือรัฐที่มีคะแนนเสียงแกว่งไปแกว่งมา ไม่สามารถฟันธงได้ว่าพรรคเดโมแครตหรือลีพับลิกันจะชนะ ผิดกับผู้สมัครรองประธานาธิบดีส่วนใหญ่ที่มักจะมาจาก battleground state

ทว่า The New York Times มองว่า โดยทั่วไปแล้วตัวแทนชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีมักจะพยายามเฟ้นหารองประธานาธิบดีที่จะมาช่วยทั้งส่งเสริมและเน้นย้ำจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง และดักเวิร์ธก็เหมาะสม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการประท้วงเรียกร้องสิทธิ์และความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำลุกลามไปทั่วสหรัฐ ทำให้สมาชิกพรรคเดโมแครตระดับแกนนำหลายคนพยายามกดดันให้ไบเดนเลือกผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันมาเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดี เพื่อดึงคะแนนจากคนผิวดำ

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยสำนักข่าว The New York Times และวิทยาลัยศิลปะ Siena College พบว่า 4 ใน 5 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งมีคนผิวดำ 75% และกว่า 80% เป็นคนผิวขาวและชาวฮิสแปนิก มองว่าไม่ควรนำเชื้อสายมาเป็นปัจจัยในการเลือกผู้สมัครรองประธานาธิบดี

สำหรับใน 6 รัฐ battleground state สำคัญ อาทิ โคโลราโด ฟลอริดา ไอโอวา วิสคอนซิน การไม่ยึดติดกับสีผิวของผู้สมัครยิ่งเข้มข้น โดย 90% มองว่าไบเดนไม่ควรนำเรื่องเชื้อชาติมาพิจารณาเลือกผู้สมัครรองประธานาธิบดี

ดูเหมือนว่าปัจจัยต่างๆ จะเข้าทางดักเวิร์ธไปเสียหมด ซึ่งหากเธอได้รับเลือกก็จะเป็นนักการเมืองอเมริกัน-ไทย และผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ

และน่าจะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางทหารตามที่เธอบอกในแถลงการณ์หลังหารือกับ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ว่า “เราควรร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”