posttoday

คูปองกระตุ้นการจับจ่าย ช่วยธุรกิจร้านอาหารผ่านวิกฤตโควิด

14 พฤษภาคม 2563

ร้านอาหารในบ้านเรากำลังจะกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ผู้บริโภคอาจจะชินกับการทานอาหารที่บ้านไปเสียแล้ว ลำพังให้ร้านอาหารปรับตัวอย่างเดียวคงไม่พอ รัฐบาลก็ต้องช่วยกระตุ้นให้ตรงจุดด้วย

ธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่ถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสมากที่สุด จากทั้งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาด และแม้หลายแห่งจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ลูกค้าก็ยังกลับมาไม่เท่าเดิม

ทางการกรุงเวียนนาของออสเตรียเล็งเห็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ เตรียมอัดฉีดเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและคาเฟ่ 40 ล้านยูโร หรือ 1,387 ล้านบาท ในรูปแบบของการแจกคูปองให้กับชาวกรุงเวียนนาสำหรับนำไปใช้ในร้านอาหารหรือคาเฟ่ในท้องถิ่นที่กำลังจะกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในวันศุกร์นี้ (15 พ.ค.) หลังจากต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

มิกาเอล ลุดวิก นายกเทศมนตรีกรุงเวียนนา เผยว่าแต่ละครอบครัวจะได้คูปองมูลค่า 50 ยูโร หรือ 1,735 บาท ส่วนคนโสดจะได้ 25 ยูโร หรือ 867 บาท โดยให้ร้านอาหารนำคูปองดังกล่าวไปแลกเป็นเงินสดจากทางการ

มาตรการนี้ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดและเข้าถึงประชาชนทั่วไป เพราะหากแจกเป็นเงินสดก็ไม่แน่ว่าประชาชนจะนำเงินออกมาใช้ เนื่องจากในช่วงวิกฤตผู้คนมักจะเลือกเก็บออมเงินสดไว้มากกว่า 

หากเป็นเช่นนี้งบประมาณที่รัฐบาลหวังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ 

ประเทศที่นิยมแจกคูปองกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือ จีน ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่โคโรนาไวรัสระบาดหนักๆ ยอดขายร้านค้าปลีกโดยรวมของจีนลดลงถึง 20.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากเปิดเมืองทางการท้องถิ่นกว่า 30 เมืองจึงแจกคูปองอิเล็กทรอนิกส์ให้ชาวบ้านเพื่อกระตุ้นการซื้อขายในท้องที่ 

วิธีนี้ทำให้เม็ดเงินลงไปถึงธุรกิจที่รัฐต้องการช่วยเหลือโดยตรง 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการล็อกดาวน์จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ผู้คนอาจจะยังไม่กล้าออกมาทานอาหารนอกบ้าน เพราะยังกลัวๆ อยู่

โลกหลังโควิด-19 จะทำให้ทั้งวิถีชีวิตและการทำธุรกิจเปลี่ยนไป เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เรียกว่า New Normal หรือความปกติใหม่ โดยเฉพาะกับธุรกิจร้านอาหารที่จะต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับการสั่งอาหารมาทานอาหารที่บ้าน หรือลงมือทำอาหารทานเอง แทนการออกไปทานนอกบ้าน

มหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปของเบลเยียมศึกษาพฤติกรรมการซื้ออาหารในช่วงโควิด-19 ระบาดของผู้คนราว 11,000 คนใน 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม ชิลี ยูกันดา เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย กรีซ แคนาดา บราซิล และไอร์แลนด์ พบว่า ผู้คนหันมาทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซื้อผักผลไม้เพิ่มขึ้น และทำอาหารทานเอง

ชาร์ลอตต์ เดอ แบ็คเกอร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยด้านอาหารและสื่อของมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปคาดการณ์ว่า พฤติกรรมการทานอาหารจะยังคงอยู่แม้โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเทศยาวนานกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พฤติกรรมบางอย่างจะเปลี่ยนเป็นความเคยชิน ซึ่งจะเป็นฝันร้ายของผู้ประกอบการร้านอาหาร

บ็อบ โกลดิน จากบริษัทที่ปรึกษา Pentallect ในสหรัฐ เผยว่า “จู่ๆ มันก็รู้สึกเหมือนว่าไม่อยากให้คนอื่นมาแตะต้องอาหารของผม ผมว่าตอนนี้เราทุกคนเริ่มเคยชินแล้วว่าจะอยู่โดยไม่มีร้านอาหารอย่างไร”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ชี้ให้เห็นว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าธุรกิจร้านอาหารหรือคาเฟ่จะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม

อย่างไรก็ดี การกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ ทำให้ผู้คนโหยหาการออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือนั่งทานอาหารนอกบ้าน เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

อีกทั้งการทานอาหารนอกบ้านยังให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากการทานที่บ้าน ดังนั้นผู้บริโภคอาจไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยสิ้นเชิง บางส่วนอาจจะยังต้องการออกไปนอกบ้านบ้าง แต่อาจจะไม่ได้ไปบ่อยเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

แรงจูงใจอย่างคูปองจากภาครัฐจะช่วยให้บรรดาร้านอาหารผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้