posttoday

ส่องโมเดลตู้ปันสุขต่างประเทศ แจกยังไงไม่ให้เกิดดราม่า

14 พฤษภาคม 2563

ไปดูกันว่าการแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ที่เดือดร้อนในต่างประเทศมีการบริหารจัดการอย่างไรจึงได้รับความช่วยเหลือกันอย่างทั่วถึง

การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชากรโลกนับล้านคน และมีแนวโน้มว่าเราจะต้องอยู่กับโรค Covid-19 ไปอีกนาน แต่ท่ามกลางวิกฤตก็ยังเห็นน้ำใจของคนไทยที่มีให้กันผ่านตู้ปันสุข เพื่อแบ่งปันอาหารให้กับผู้ยากไร้

โครงการตู้ใส่อาหารสำหรับแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ (food pantry) หรือธนาคารอาหาร (food bank) ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มเกิดขึ้นที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรกในโลกเมื่อปี 1967 ในชื่อ St. Mary’s Food Bank

หลักๆ แล้วโมเดลของโครงการธนาคารอาหารนี้มีอยู่ 2 แบบคือ เป็นแนวหน้า (front line) แจกอาหารโดยตรงให้กับผู้ยากไร้ ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศแถบยุโรปจะใช้โมเดลนี้ เพราะสามารถจัดระเบียบการแจกของไปยังผู้ที่เดือดร้อนได้โดยตรงและเท่าเทียมกัน

อีกแบบหนึ่งคือ เป็นคลังอาหาร (warehouse) คอยจัดหาอาหารให้กับคนกลาง เช่น ตู้แจกจ่ายอาหาร โรงครัวปรุงอาหาร (soup kitchen) โมเดลนี้นิยมใช้ในสหรัฐ ออสเตรเลีย แคนาดา เนปาล

แล้วโครงการเหล่านี้บริหารจัดการกันอย่างไร มีปัญหาการกวาดเอาอาหารหรือสิ่งของบริจาคในตู้ไปจนหมดเกลี้ยงกลายเป็นดราม่าแบบประเทศไทยหรือไม่ ไปดูตัวอย่างของบางประเทศกัน

ญี่ปุ่น

โครงการ Second Harvest ธนาคารอาหารแห่งแรกของญี่ปุ่นที่มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยน “อาหารเหลือ” ให้กลายเป็น “คำขอบคุณ” ช่วยให้ผู้ที่ขาดแคลนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย คือ สะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีคุณค่าทางอาหาร โครงการนี้ใช้ทั้งสองโมเดลในการช่วยเหลือ คือ ทั้งปรุงอาหารร้อนๆ ไปแจก และเป็นตัวกลางในการกระจายอาหารที่ได้รับบริจาคไปยังองค์กรที่ต้องการความช่วยเหลือ

โครงการนี้มีปัญหาที่ตรงกันข้ามกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง คือในช่วงแรกๆ ชาวญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยออกมาขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกปลูกฝังมาว่าจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น รักศักดิ์ศรี และขี้เกรงใจ คนญี่ปุ่นจึงยอดอดตายมากกว่าที่จะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

สวีเดน

ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเท่าเทียมกันก็มีปัญหาความแตกต่างด้านรายได้ โดยเฉพาะในกรุงสตอกโฮล์มที่มีจำนวนคนไร้บ้านพุ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และค่าครองชีพสูง สวีเดนจึงเริ่มตั้งธนาคารอาหารตั้งแต่ปี 2013 นอกจากนี้ยังเปิด “ซูเปอร์มาร์เก็ตสังคม” (social supermarket) ที่นำอาหารที่หมดอายุการวางในเชลฟ์ของห้างสรรพสินค้า (แต่ยังไม่หมดอายุสำหรับการบริโภค) ที่ได้รับบริจาคมาจำหน่ายในราคาถูกให้กับคนที่เดือดร้อน

เยอรมนี

ระบบธนาคารอาหารของเยอรมนีเรียกว่า Tafel หรือ Table ในภาษาอังกฤษ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 1993 เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในกรุงเบอร์ลิน ปัจจุบันมีจุดบริการธนาคารอาหารเฉพาะที่ขึ้นตรงกับธนาคารอาหารของรัฐบาลกลางราว 940 แห่ง โดยแต่ละปีมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาใช้บริการราว 1.5 ล้านคน และการสำรวจโดยรัฐบาลกลางเมื่อปี 2016 พบว่าตัวเลขมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ที่เยอรมนีจะใช้ระบบการแจกอาหาร 2 แบบคือ จัดเตรียมอาหารให้ตามขนาดของครอบครัวโดยอาจจะคิดเงินหรือไม่คิดก็ได้ ซึ่งใช้กันในแคว้นส่วนใหญ่ และแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสังคม ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ตัวเองต้องการในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ทางการกำหนดให้ผู้ใช้บริการแสดงหลักฐานว่าตัวเองมีสิทธิ์ใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายจากศูนย์หางานหรือศูนย์ให้ความช่วยเหลือ โดยแต่ละคนจะถูกตรวจสอบรายชื่อก่อนเข้ารับบริการ จึงไม่เกิดปัญหากักตุนหรือมีคนที่ไม่เดือดร้อนจริงแอบอ้างมาใช้บริการ

สหรัฐ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสหรัฐมีโครงการธนาคารอาหารตั้งแต่เมื่อ 53 ปีที่แล้ว แต่ในช่วงที่ Covid-19 ระบาดมีการริเริ่มตั้งตู้แจกจ่ายอาหารและสิ่งของจำเป็นเช่นเดียวกับตู้ปันสุขในบ้านเรา

ตู้ปันสุขในสหรัฐได้ไอเดียมาจากตู้ปันหนังสือ (Little Free Library) ที่ริเริ่มโดย ทอดด์ โบล จากรัฐวิสคอนซิน เพื่อแบ่งปันหนังสือให้คนในชุมชนได้หยิบไปอ่านแบบฟรีๆ หากใครมีหนังสืออยากแบ่งปันก็เอามาใส่ไว้ในตู้นี้

แต่ในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนต้องตกงานและได้รับความเดือดร้อน ชาวเมืองจึงเริ่มดัดแปลงตู้แบ่งปันหนังสือเป็นตู้แบ่งปันอาหารกระจายไปตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปต์เดิมคือ Take what you need, leave what you can (หยิบสิ่งที่คุณต้องการ แบ่งปันในสิ่งที่คุณให้ได้)

ตู้แบ่งปันอาหารในสหรัฐส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในชุมชน และมีชาวชุมชนนั้นๆ เป็นคนนำข้าวของมาเติม ส่วนคนที่มารับของก็จะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในละแวกชุมชน เป็นการสอดส่องจัดการกันเองโดยคนในชุมชนนั้นๆ จึงไร้ปัญหาการกวาดของบริจาคไปจนหมด และส่วนใหญ่คนที่ได้รับความช่วยเหลือก็จะทิ้งโน้ตขอบคุณไว้

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนบางกลุ่มฉวยโอกาสในขณะที่คนอื่นกำลังเดือดร้อน อย่างในช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คนร้าย 3 คนขับรถปิกอัพไปขโมยกล่องแอปเปิ้ล ส้ม กะหล่ำปลี ขนมปัง และเครื่องดื่มอื่นๆ อีกหลายกล่องจากธนาคารอาหารออเบิร์นในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมปิดทำการ

หรืออีกเคสหนึ่งที่คนร้ายอาศัยช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์เมื่อกลางเดือน เม.ย.ขโมยรถบรรทุกสำหรับไปรับอาหารจากผู้บริจาคในรัฐเทกซัส ทำให้ทางโครงการมีอาหารไม่พอแจกจ่าย

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้ถือเป็นส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ที่มารับความช่วยเหลือจะหยิบข้าวของไปเท่าที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้จริงๆ