posttoday

ฝันร้ายกลับมาเยือน จะเกิดระบาดระลอก 2 ที่เกาหลีใต้หรือไม่?

10 พฤษภาคม 2563

กรณีศึกษาเปิดเมืองเร็วระบาดซ้ำ ต่อให้ตรวจครอบคลุมแต่ยังมีช่องโหว่ที่คาดไม่ถึง

หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์มาได้ไม่กี่วัน ชาวเกาหลีใต้ต้องกลับมาวิตกอีกครั้งเมื่อพบผู้ติดเชื้อระดับน้องๆ "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" เป็นชายวัย 29 ปีที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง 5 แห่งในย่านอิแทวอนในกรุงโซล ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรวม 54 คนแล้ว เฉพาะวันอาทิตย์เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน

ต่อไปนี้เป็นประเด็นสำคัญ 15 ข้อที่จะชี้ว่าเกาหลีใต้จะเกิดการระบาดระลอกใหม่หรือไม่? 

1. จอง อึน-คย็อง (Jeong Eun-kyeong) อธิบดีกรมควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้แนะนำให้นักเที่ยวทุกคนที่ไปเที่ยวไนท์คลับเจ้าปัญหา 5 แห่งที่อิแทวอนระหว่างวันที่ 29 เมษายนถึง 6 พฤษภาคมมาทำการตรวจเชื้อ ส่วนอัตราการติดเชื้อสูงสุดในหมู่ผู้ที่ไป King Club คือในวันที่ 2 พฤษภาคม

2. ไนท์คลับเหล่านี้คือ King Club, Trunk Club, Club Queen และ Sulpan เป็นสถานบันเทิงของชาวรักร่วมเพศ และเพราะความเป็น "บาร์เกย์" มันจึงเป็นประเด็นปัญหาที่เราจะอภิปรายกันในตอนท้าย เพราะอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอก 2 ในเกาหลีใต้!

3. หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเกาหลีใต้ประเมินว่ามีคนประมาณ 6,000 ถึง 7,200 คนที่เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสจากไนท์คลับในช่วงเวลานั้น เบื้องต้น ผู้ป่วย 54 รายที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อเป็นการติดจากบุคคลที่สอง (ระดับทุติยภูมิ) และมากกว่า 30% ของผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วไม่มีอาการ

4. บางพื้นที่ของเกาหลีใต้เริ่มขยับรับมือการระบาดอีกครั้ง โดยจังหวัดคย็องกีที่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของกรุงโซล ประกาศคำสั่งห้ามการติดต่อโดยตรงกับบุคคลใดก็ตามที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงบางแห่งในอิแทวอนและคังนัมภายในวันที่ดังกล่าวข้างต้น

5. อี แจ-มย็อง (Lee Jae-myung) ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศห้ามการทำ "กรุ๊ปมีตติ้ง" หรือการชุมนุมทั้งหมดที่สถานบันเทิง เช่น ไนท์คลับและบาร์คาราโอเกะ ส่วนกรุงโซลสั่งปิดสถานบันเทิงทั้งหมดเป็นเวลา 1 เดือน พัค วอน-ซุน (Park Won-soon) ผู้ว่ากรุงโซลถึงกับบอกว่า "ความเลินเล่ออาจทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้"

6. ประธานาธิบดีมุน แจ-อินแห่งเกาหลีใต้กล่าวว่าการระบาดครั้งล่าสุดทำให้ต้องระแวดระวังบกันต่อไปแม้จะอยู่ในช่วงที่มีเสถียรภาพแล้ว และอาจเกิดสถานการณ์แบบเดียวกันเมื่อใดก็ได้ เขาบอกว่า "มันยังไม่จบ จนกว่ามันจะจบลง" และ "เราจะต้องไม่ลดการณ์ลดในการป้องกันการระบาด"

7. คำพูดของมุนแจอินที่บอกว่า "มันยังไม่จบ จนกว่ามันจะจบลง" ค่อนข้างจะคลุมเครือ เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและจะเกิดการระบาดระลอกที่สองหรือไม่ ซึ่งการระบาดระลอกที่สองเป็นคำเตือนที่ออกมาเป็นระยะ รวมถึงจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

8. คำถามก็คือเกาหลีใต้จะเกิดการระบาดระลอกที่ 2 หรือไม่? ผู้ที่ให้คำตอบนี้คือ ซน ยง-แร (Son Young-rae) นักยุทธศาสตร์อาวุโสด้านระบาดวิทยาของสำนักงานจัดการภัยพิบัติกลางของเกาหลีใต้กล่าวกับ NYT ว่า “คลื่นลูกที่สองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

9. ถึงแม้จะเลี่ยงไม่ได้ แต่เกาหลีใต้ค้นพบสูตรที่จะรับมือการระบาดแล้ว นั่นคือตรวจคนให้มากที่สุด ซน ยง-แร กล่าวว่าเกาหลีใต้ใช้ระบบตรวจสอบและคัดกรองอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งสังคม เพื่อที่จะสามารถป้องกันไม่ให้การระบาด "ระเบิด" ขึ้นมาอย่างรวดเร็วเป็นหลายร้อยหรือหลายพันกรณีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมา

10. ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้รับคำชมจากทั่วโลกว่ารับมือกับการระบาดได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและระบาดรวดเร็วจนกราฟพุ่งแต่เพราะการตรวจที่ครอบคลุมและรับมือได้ฉับไว ทำให้เกาหลีใต้สามารถกดกราฟการระบาดจากที่เคยพุ่งทะยานให้ดิ่งลงมาจนกระทั่งเป็นแนวนอน

11. ซน ยง-แรหวังว่าจะชะลอการแพร่กระจายและควบคุมขนาดให้เล็กลงให้เป็นเพียงการระบาดเฉพาะจุดเป็นครั้งคราวไป โดยหวังว่าควบการระบาดเฉพาะจุดให้มีขนาดแค่ 20 - 30 ราย เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะ "เอาอยู่" แล้วปล่อยให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามปกติ

12. ปัญหาก็คือการระบาดที่อิแทวอนทำท่าว่าจะเป็นการระบาดใหญ่เกิน 50 รายแล้ว ในส่วนของการรับมือนั้นสูตรของเกาหลีใต้ยังใช้ไม่ได้กับทุกประเทศ เพราะเกาหลีใต้มีศักยภาพที่จะทำการตรวจได้มาก (มากถึง 655,000 ราย จากตัวเลขวันที่ 8 พฤษภาคม) และมีอุปกรณ์การตรวจจำนวนมาก อีกทั้งประชาชนค่อนข้างให้ความร่วมมือ

13. แต่ประชาชนที่ให้ความร่วมมืออาจไม่พอ จากกรณีไนท์คลับที่อิแทวอนแสดงให้เห็นแล้วว่าคนไม่กี่คนทำให้เกราะป้องกันพังทลายเอาง่ายๆ และยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากไนท์คลับที่อิแทวอนซึ่งเป็นสถานบันเทิงของชาวเกย์ ยิ่งทำให้คนที่ไปเที่ยวไม่กล้าออกมารับการตรวจตามคำขอ

14. เป็นที่รู้กันว่าสังคมเกาหลีใต้ยังไม่ยอมรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่ม OECD เกาหลีใต้เป็นประเทศที่รั้งท้ายอันดับ 4 ประเทศที่ยอมรับเรื่องนี้่ได้น้อยที่สุดโดยมีคะแนนเพียง 2.8 จากเต็ม 10 คนที่เป็นเกย์จึงมักถูกตราหน้าจากสังคมและอยู่กันเงียบๆ ไม่แสดงตัว

15. The Korea Herald รายงานว่าหลังจากเกิดกรณีที่อิแทวอน สื่อเกาหลีใต้พร้อมใจกับใช้คำว่า "คลับเกย์" ในรายงานข่าว ทำให้สาธารณชนทราบว่าผู้ที่ไปเที่ยวในเวลานั้นเป็นคนไปคลับเกย์ หรือถ้าไม่ได้เข้าไปในคลับแต่ไปอิแทวอนในเวลานั้นก็อาจถูกเข้าใจว่าไป เรื่องนี้จะเป็นสาเหตุให้คนหลายพันคนไม่กล้ามารับการตรวจ

Photo by STR / YONHAP / AFP