posttoday

ฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยให้ผู้ชายรอดตายจากโควิด-19 ได้หรือไม่

29 เมษายน 2563

นักวิทย์คาดฮอร์โมนเพศหญิงช่วยปกป้องผู้หญิงจากโควิด-19 เพราะผู้หญิงจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าและมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าผู้ชาย

ในขณะที่เชื้อโคโรนาไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลกจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 211,000 ราย แต่มีจุดที่น่าสังเกตคือ ผู้หญิงจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าและมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าผู้ชาย ทั้งในจีน อิตาลี และสหรัฐ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ฮอร์โมนที่ผู้หญิงผลิตได้มากกว่าเพศชายอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะใช้รักษา Covid-19 ได้หรือไม่

ขณะนี้มีงานวิจัย 2 ชิ้นกำลังทดสอบสมมติฐานดังกล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทีมแพทย์จากวิทยาลัยการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยสโตนีบรูคในลองไอส์แลนด์ของสหรัฐ เริ่มทดลองใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกับผู้ป่วย Covid-19 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

และในสัปดาห์หน้าทีมแพทย์จากโรงพยาบาลซีดาร์ไซนายในลอสแองเจลิสจะเริ่มรักษาผู้ป่วยชายด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจป้องกันภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติด้วย

ซารา กานเดอฮารี นักวิทยาปอดและแพทย์ประจำแผนกผู้ป่วยวิกฤตของโรงพยาบาลซีดาร์ไซนาย เผยว่า จำนวนผู้ป่วยชายและหญิงในแผนกไอซียูต่างกันมาก และผู้ชายอาการแย่กว่า โดย 75% ของผู้ป่วยวิกฤตของโรงพยาบาลเป็นผู้ชาย และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย

ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ที่ภูมิคุ้มกันมักจะอ่อนแอ แต่มีทั้งฮอร์โมนเอสโตเจนและโปรเจสเตอโรนสูงมีแนวโน้มมีอาการป่วย Covid-19 ไม่รุนแรง ดังนั้นเธอจึงคิดว่าฮอร์โมนน่าจะช่วยป้องกันทั้งผู้หญิงและหญิงตั้งครรภ์จากเชื้อโคโรนาไวรัส

เอสโตรเจนลดโปรตีนที่เป็นประตูรับเชื้อ

แคธรีน แซนด์เบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความแตกต่างทางเพศด้านสาธารณสุข วัย และโรคจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เผยว่า มีงานวิจัยพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจส่งผลต่อโปรตีน ACE2 ซึ่งเชื้อโคโรนาไวรัสใช้เป็นประตูเข้าไปสู่เซลล์ในร่างกายมนุษย์ และโปรตีนชนิดนี้ทำงานต่างกันในเพศชายและหญิง

การศึกษาในหนูทดลองพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนลดปริมาณโปรตีน ACE2 ในไต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนนี้จะลดการผลิตโปรตีน ACE2 ในผู้ชายเช่นกัน

อาจไม่เกี่ยวกับฮอร์โมน

ซาบรา ไคลน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความแตกต่างทางเพศเกี่ยวกับการติดเชื้อและการตอบสนองต่อวัคซีนจากโรงเรียนการแพทย์จอห์นฮอปกินส์บลูมเบิร์กเผยว่า หากฮอร์โมนมีส่วนปกป้องผู้หญิงจริง ดังนั้นหญิงสูงอายุที่ป่วย Covid-19 ควรมีอาการรุนแรงเช่นเดียวกับผู้ป่วยชายในวัยเดียวกัน เนื่องจากหญิงสูงอายุมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังหมดประจำเดือน

ไคลน์มองว่าน่าจะมีเรื่องพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวด้วย

พฤติกรรมก็มีส่วน

อัตราการรอดชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายชี้ชัดตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด ในประเทศจีนพบว่าผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง แต่ผลการศึกษานี้เป็นไปในทางเดียวกันกับอิตาลีและในมหานครนิวยอร์กที่ผู้ชายเสียชีวิตมากกว่า

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความแตกต่างทางเพศเผยว่าทั้งความแตกต่างในเรื่องภูมิคุ้มกันและพฤติกรรมล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายมักสูบบหรี่และไม่ค่อยล้างมือ ส่วนผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้นประเด็นนี้จึงมีความซับซ้อนและมีปัจจัยหลายอย่าง โดยฮอร์โมนเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

สรุปแล้วช่วยได้จริงไหม

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่แน่ใจฮอร์โมนเอสโตรเจนทำงานอย่างไร จะช่วยผู้ชายจากเชื้อโคโรนาไวรัสได้จริงหรือไม่ และยังต้องรอผลการศึกษาจากทั้งสองกลุ่มก่อน

ขั้นต้นที่แน่ชัดคือเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญทั้งในการตอบสนองภูมิคุ้มกันในขั้นแรก ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส และในขั้นที่สองคือการทำความสะอาดและซ่อมแซมเซลล์ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ หรือ cytokine storm