posttoday

วิกฤตน้ำมันล้นจนไม่มีที่เก็บ เรื่องที่ชาตินี้ไม่คิดว่าจะได้เจอ

28 เมษายน 2563

น้ำมันที่ต่ำกว่า 0 ดอลลาร์ในช่วงซื้อขายของวันหนึ่งระหว่างวิกฤตโควิดยังไม่น่ากลัวเท่าน้ำมันล้นจนไม่มีที่เก็บอีกต่อไป

สาเหตุที่ราคาน้ำมันลดลงฮวบฮาบจนทำให้หลายบริษัทต้องล้มลายแห่งแล้วแห่งเล่า เกิดจากความต้องการน้ำมันที่ลดลงฉับพลันเพราะการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าโอเปกกับรัสเซียจะ "ดีล" กันได้แล้วลดกำลังการผลิตลงมา แต่มันสายเกินไป น้ำมันยังค้างอยู่ในตลาดปริมาณมหาศาลแต่ดีมานด์แทบไม่มี แม้แต่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันเป็นล่ำเป็นสันยังไม่มีที่เก็บแล้วในตอนนี้

นี่คือวิกฤตน้ำมันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ "วิกฤตน้ำมันล้น"

ในขณะที่บทวิเคราะห์นี้ถูกเขียนขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2563 ราคาน้ำมันของสหรัฐ (WTI) ลดลงต่ำกว่า 11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเนื่องจากความกังวลเรื่องคลังเก็บน้ำมันที่เริ่มไม่พอ เป็นการปรับราคาลง 14.8% แต่ยังน้อยกว่าวันซื้อขายก่อนหน้านั้นที่ดิ่งลงถึง 25%

ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การซื้อขายน้ำมันที่คลังเก็บน้ำมันจะเต็ม ที่ผ่านมามีแต่การพูดถึงกันว่าน้ำมันจะขาดแคลนหลังจากกำลังการผลิตไต่ขึ้นมาถึงระดับสูงสุด (peak oil) ซึ่งหลายบริษัทหลายองค์กรถึงขนาดคาดว่าปี 2020 น้ำมันจะพีค คือปริมาณจะลดลงหลังจากนี้และราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนี้มันตรงกันข้ามเลย

Goldman Sachs Group Inc. คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันจะต้องรับมือกับความเสี่ยงที่จะไม่มีคลังเก็บน้ำมันมากพอในอีก 3 - 4 สัปดาห์นี้ และจะบีบให้ผู้ผลิตน้ำมันต้องลดการผลิตลงราว 18 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ที่ลดลง

น้ำมันล้นคลังทำให้นักลงทุนกังวลจนเป็นเหตุให้กองทุนน้ำมันแห่งสหรัฐ (United States Oil Fund) ซึ่งเป็นกลไกซื้อขายแลกเปลี่ยนน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ประกาศจะขายสัญญาซื้อขายน้ำมันใน WTI ที่ส่งมอบเดือนมิถุนายนไว้ทั้งหมด แล้วหันไปลงทุนในสัญญาที่มีอายุยาวนานกว่า

การเทครั้งนี้ตอกย้ำถึงความกังวลอย่างต่อเนื่องเรื่องคลังเก็บน้ำมันที่เริ่มจะไม่เหลือแล้ว เมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากำลังจะหมดอายุเจ้าของสัญญาไม่มีคลังเหลือเก็บน้ำมันที่ซื้อมาล่วงหน้าอีก

• นี่คือวิบากกรรมของตลาดน้ำมันฟิวเจอร์สที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน แม้ว่าจะผ่านสถานการณ์ที่ทำให้ราคาขึ้นๆ ลงๆ มามาก แต่เชื่อว่านักลงทุนที่ซื้อล่วงหน้ายังเชื่อมั่นว่ายังไงดีมานด์น้ำมันยังมีมากกว่าคลังที่เก็บน้ำมัน แต่ตอนนี้มันตรงกันข้ามเสียอย่างนั้น

เขาซื้อขายน้ำมันกันอย่างไรถึงมีเหลือ

บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่มักจะซื้อน้ำมันมาเก็บไว้เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำและเก็บไว้ในคลังจนกว่าราคาจะเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันนักลงทุนจะเดิมพันราคาน้ำมันล่วงหน้าผ่านสัญญาซื้อขายน้ำมันตามวันที่กำหนดในอนาคต โดยน้ำมันดิบจะถูกเก็บไว้ในคลังและเรือบรรทุกน้ำมัน วิธีการนี้เรียกว่าการค้าคลังน้ำมัน (Oil-storage trade) หรือ contango

นักลงทุนสามารถเลือกที่จะทำกำไรหรือยอมขาดทุนก่อนถึงวันส่งมอบน้ำมันก็ได้โดยไม่ต้องรับน้ำมันที่ซื้อล่วงหน้าตามสัญญาเพียงแต่ซื้อขายสัญญาล่วงหน้า ถ้าราคาน้ำมันล่วงหน้าสูงกว่าราคาวันส่งมอบก็ถือว่าได้กำไรไป หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาโดยให้ส่งมอบน้ำมันตามวันที่กำหนดก็ได้

ตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้ามีส่วนทำให้คลังน้ำมันถูกเติมมากขึ้น เมื่อการซื้อขายแบบนี้เริ่มจะบูมราวปี 2550 ภายในเดือนพฤษภาคม 2550 มันทำให้ศักยภาพของคลังเมืองคูชชิ่ง (Cushing) รัฐโอกลาโฮมาซึ่งเป็นต้นทางรับน้ำมันของสหรัฐต้องลดลงเกือบ 35% เนื่องจากการค้าคลังน้ำมันเพิ่มขึ้น

แต่หลังจากนั้นมีการสร้างคลังเก็บเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการซื้อขายล่วงหน้าเป็นหลัก แต่มีเพียงครั้งเดียวที่ตลาดเริ่มกังวลว่าคลังจะไม่พอคือระหว่างปี 2557 - 2558 ที่ราคาน้ำมันลดลงถึง 60% แต่ในปี 2558 กำลังการผลิตลดลงทำให้ปริมาณคลังมากกว่าปริมาณการผลิตในที่สุด

เขาเอาน้ำมันส่วนเกินไปเก็บไว้ที่ไหน

มาในปีนี้น้ำมันล้นคลังถึงขนาดที่อเมริกาเหนือต้องเกณฑ์เรือบรรทุกน้ำมันและรถไฟบรรทุกน้ำมัน และยังต้องพึ่งท่อส่งน้ำมันที่ปลดระวางแล้ว มาใช้ในการจัดเก็บน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าที่ล้นปรี่

ในเวลานี้สิงคโปร์ ศูนย์กลางการค้าน้ำมันโลกต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างเรือบรรทุกน้ำมันให้จอดลอยลำนอกชายฝั่งทำหน้าที่เป็นคลังเก็บน้ำมันชั่วคราวไปพลางๆ ก่อน ตอนนี้ชายฝั่งของสิงคโปร์จึงเต็มไปด้วย "แท็งเกอร์" ที่บรรทุกน้ำมันเป็นกระตั้กแต่ไม่มีคนใช้

วิธีการแก้ไขคือการลดกำลังการผลิตลงตามการคาดการณ์ของ Goldman Sachs แต่หากโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถหยุดการผลิตประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันได้อย่างรวดเร็วพอ ตลาดน้ำมันทั่วโลกอาจจะขาดดุลภายในเดือนมิถุนายน

แต่ Goldman Sachs คาดว่าราคาจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ จนถึงกลางปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดมีโอกาสกลับมาคึกคักอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในสถานการณ์การระบาดที่เดาอะไรยากแบบนี้เราคาดหวังได้ยากว่ามันจะเป็นไปแบบนั้น

เราจะฉวยโอกาสตอนน้ำมันราคาตกอย่างไร

ในขณะที่หลายคนเจ็บปวดกับวิกฤตคลังขาดแคลน อินโดนีเซียหนึ่งในประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในเอเชียกลับตรงกันข้าม เมื่อต้นเดือนมีนาคม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและแร่ธาตุ (ESDM) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานน้ำมันและก๊าซของประเทศบอกว่า "เรา (อินโดนีเซีย) มีคลังเก็บหลายแห่งให้เติม"

พอมาถึงปลายเดือนเมษายน PT Pertamina รัฐวิสาหกิจน้ำมันของอินโดนีเซียจ้างแท็งเกอร์มาเก็บน้ำมันเช่นกัน ไม่ใช่เพราะไม่มีคลังแต่เพื่อตุนน้ำมันกลั่นแล้วเอาไว้ในช่วงราคาลดลงเพื่อฉวยโอกาสตอนที่ราคาตกโดยไม่ต้องขุดของตัวเองมาใช้ให้เปลือง

เพราะแม้ว่าอินโดนีเซียจะมีน้ำมันดิบมาก แต่ยังต้องนำเข้าน้ำมันกลั่นแล้วปริมาณมหาศาลเพื่อตอบสนองดีมานด์ในประเทศในอัตรามากที่สุดของเอเชีย วิธีการของอินโดนีเซียเป็นสิ่งที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน (รวมถึงไทย) ควรดูไว้เป็นตัวอย่าง

แต่บางประเทศก็ไม่สามารถฉวยโอกาสนี้ได้ทันเพราะคลังเก็บมีไม่พอ เช่น อินเดีย ที่มีคลังสำรองยุทธศาสตร์แค่ 36,000 ล้านบาร์เรลทั้งๆ ที่บริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนคลังน้ำมันพาณิชย์ของเกาหลีใต้ก็เต็มแล้วเช่นกัน

Photo by Paul Ratje / AFP