posttoday

"ฝน" ทำให้โควิด-19 ระบาดหนักขึ้นจริงหรือ?

13 เมษายน 2563

ไขข้อข้องใจด้วยข้อมูลที่เป็นกลางที่สุด แม้ว่าเราจะยังสรุปอะไรเกี่ยวกับโควิด-19 แบบชัวร์ๆ ไม่ได้ก็ตาม

เพราะโควิด-19 ( COVID-19) คือโรคอุบัติใหม่เราจึงต้องใช้เวลาศึกษามันมากกว่านี้ เบื้องต้นเรามีหลักฐานยืนยันเพียงเล็กน้อยว่าสภาพอากาศมีบทบาทในการชะลอหรือเพิ่มการระบาดของโควิด-19

จากรายงานของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ (NAS) บอกว่าไม่อมีะไรบ่งที่ชี้ว่าการระบาดของโรคที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ แปรผันไปตามฤดูกาล เช่น ซาร์สหรือเมอร์ส (ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับโควิด-19)

อย่างไรก็ตามเพื่อเคลียร์ความข้องใจเราจึงพยายามหาคำตอบที่ใกล้เคียงกับคำถามมากที่สุด แม้ว่ามันจะยังฟันธงอะไรไม่ได้เลยก็ตาม

1. "ฝน" ทำให้โควิด-19 ระบาดหนักขึ้นจริงหรือ?

เรายังตอบไม่ได้แบบชัวร์ๆ งานวิจัยหลายชิ้นมีข้อมูลชัดแย้งกันเอง เช่นบ้างชิ้นบอกว่าความชื้นสูงทำให้การระบาดน้อย แต่บางรายงานบอกว่าความชื้นสูงยิ่งทำให้การระบาดรุนแรง อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามีงานวิจัยไม่กี่ชิ้นที่บอกว่าความชื้นสูงจะทำให้ระบาดหนัก

รายงานชิ้นนั้นนำโดย Jin Bu แห่ง สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน ระบุว่า พบว่าไวรัสดูเหมือนว่าจะแพร่กระจายได้ดีขึ้นในความชื้นสัมพัทธ์ 75% และปริมาณฝนน้อยกว่า 30 มิลลิเมตรต่อเดือน แต่ต้องย้ำว่างานวิจัยนี้สวนทางกับคนอื่นหมด

อีกคนหนึ่งที่แสดงความเห็นว่าความชื้นสูงจะเสี่ยงมากขึ้นคือ ดร. อลัน อีแวนเจลิสตา (Dr. Alan Evangelista) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและวิทยาไวรัสที่โรงพยาบาลเด็กเซนต์คริสโตเฟอร์ในเมืองฟิลาเดลเฟียซึ่งศึกษาโคโรนาไวรัสและอนุภาคไข้หวัดใหญ่มานานหลายปีบอกว่า เมื่อความชื้นเพิ่มขึ้นขนาดหยดของไวรัสจะใหญ่ขึ้นและลอยออกมาจากร่างกายสู่อากาศอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามเมื่อความชื้นต่ำจะมีการระเหยอย่างรวดเร็วของละอองที่ออกมาจากระบบทางเดินหายใจ

กับคำถามว่า ฝนหรือความชื้นทำให้ระบาดหนักหรือไม่? คำตอบก็คือ ยังสรุปแบบฟันธงเลยไม่ได้ (inconclusive) แต่บางประเทศได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเมื่อเกิดฝนตก เช่น กระทรวงสาธารณสุขของโอมานที่ออกคำเตือนเรื่องโอกาสที่จะติดเชื้อได้มากขึ้นหลังจากเกิดฝนตกและความชื้นเพิ่มขึ้นในประเทศ

2. "ฝน" ช่วยชะลอการระบาดของโควิด-19จริงหรือ?

มีความเชื่อในคนบางกลุ่มว่าฝนสามารถชำระล้างพื้นผิวด้านนอกของไวรัสหรือแม้กระทั่งทำลายอนุภาคในอากาศของไวรัส เรื่องนี้อาจจะยังไม่มีการศึกษาลงลึกไปถึงระดับนั้น

เหมือนกับคำถามและคำตอบข้างต้น เรายังฟันธงไม่ได้ในเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงขอเลือกงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมากที่สุดจากการศึกษาที่นำโดย Jingyuan Wang แห่งมหาวิทยาลัยเป่ยหังในจีนระบุว่า อุณหภูมิสูงและความชื้นสัมพัทธ์สูง จะช่วยลดการส่งผ่านโควิด-19ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเพียง 1 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 1% จะลดการแพร่กระจายของไวรัสได้อย่างมาก

ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นและความชื้นสูงขึ้นเมื่อฤดูร้อนและฤดูฝนในซีกโลกเหนือมาถึงแล้ว จะสามารถลดการแพร่กระจายโควิด-19 ได้มากขึ้น

ในบางพื้นที่ของสหรัฐ เช่น ในรัฐจอร์เจียทางตอนใต้ (ที่จะอุ่นเร็วกกว่าตอนเหนือ) เริ่มคาดหวังกันแล้วว่าขอให้อากาศร้อนขึ้นเร็วๆ และมีฝนตกมากๆ จะได้มีความชื้นมากกว่าในเวลานี้ เพราะเชื่อว่าความชื้นที่สูงขึ้นจะทำให้การระลาดชะลอตัวลง

แต่ปรากฎว่ารัฐที่ชื้นและร้อนจัดอย่างฟลอริดากลับมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แม้แต่นายกเทศมนตรีเมืองไมอามียังติดเชื้อไปด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ที่มีผู้ติดเชื้อหลักพัน

ดังนั้นความชื้นและร้อนอาจไม่ช่วยอะไรมากนัก

3. ตกลงอากาศชื้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ?

ถ้าจะหาคำตอบที่เป็นกลางที่สุดคงต้องพึ่งศ. อากิโกะ อิวาซากิ (Prof. Akiko Iwasaki) นักวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยเยล จากรายงานการวิจัยกับหนูพบว่า หนูในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 10-20% จะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้เร็วกว่าหนูที่อยู่ในความชื้นสัมพัทธ์ 50%

หมายความว่าอากาศยิ่งชื้นยิ่งติดไข้หวัดใหญ่ได้ยากขึ้น ในกรณีนี้รวมถึงโควิด-19 ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าหากความชื้นกลางแจ้งมากเกินไปก็สามารถรองรับการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี ตัวอย่างเช่นในพื้นที่เขตร้อน (เช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) หยดน้ำในอากาศที่มีเชื้อไวรัสอาจตกบนพื้นผิวในอาคารและทำให้ไวรัสสามารถอยู่รอดได้เป็นเวลานาน (ซึ่งนี่เป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขโอมานอกคำเตือนข้างต้น โดยระบุว่าเชื้อไวรัสอาจมากับฝนค้างบนหลังคาบ้าน)

รายงานการวิจัยจึงสรุปว่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ระหว่าง 40–60% เป็นระดับที่เหมาะในการควบคุมการกระจายของไวรัส สำหรับประเทศไทยความชื้นสัมพัทธ์ในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ 62-69% จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา

ไม่ว่าจะชื้นหรือแห้ง ร้อนหรือหนาว ศ. อิวาซากิบอกว่ามันไม่สำคัญเท่ากับโรคนี้ติดต่อจากคนต่อคนได้ง่าย ดังนั้นวิธีที่ดีทีสุดคือการล้างมือและอยู่ให้ห่างๆ กันไว้

สรุปก็คือ อย่าไปฝากความหวังกับสภาพอากาศมากเกินไป และอย่าไปกังวลมากเกินไปว่าฝนตกแล้วจะระบาดหนัก

ข้อสำคัญก็ต้องต้องป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อน

Photo by MENAHEM KAHANA / AFP