posttoday

เตรียมใจไว้ให้ดี โควิดจะทำให้โลกสูญเสียถึง 5 ล้านล้านดอลล่าร์

09 เมษายน 2563

วิกฤตเศรษฐกิจอาจจะลากยาวถึง 2 ปีและเป็นจุดที่เลวร้ายที่สุดของโลกนับตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสจะทำให้ปล้นเศรษฐกิจโลกสูญเสียเป็นเม็ดเงินมากกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 ปีข้างหน้าซึ่งมากกว่ามูลค่าผลผลิตตลอดทั้งปีของญี่ปุ่น

คำเตือนนี้มาจากบรรดานายธนาคารในย่านวอลล์สตรีท ในขณะที่โลกเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930

แม้จะคาดการณ์กันว่าการชะลอตัวจะมีช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ต้องใช้เวลาสำหรับเศรษฐกิจในการฟื้นตัวจากความเสียหาย แม้รัฐบาลต่างๆ จะงัดมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไม่น่าจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตการณ์ได้อย่างน้อยก็ภ่ยในปี 2565

สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นคล้ายกันกับผลพวงของวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2007 - 2009 แต่ก็มีโอกาสเช่นกันที่การฟื้นตัวจะช้ากว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลต่างๆ จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากพอเพื่อผลักดันการฟื้นตัวให้เร็ว แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงการเปิดเศรษฐกิจเร็วเกินไปไม่เช่นนั้นไวรัสก็จะหวนกลับมา

ทั้งนี้ แคทเธอรีน แมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup Inc. คาดว่าโลกจะพบความสูญเสียประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากมีแรงสนับสนุนจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดี และมีความเชื่อมั่นจากคนทั่วไปว่าพวกเขาจะสามารถหางานทำได้ แนวโน้มเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และในปี 2564

นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan Chase & Co. คาดว่าจะสูญเสียที่ 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือเกือบ 8% ของ GDP ตลอดสิ้นปีหน้า เฉพาะความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้วจะคล้ายกับภาวะถดถอยในวิกฤตปี 2008-2009 และวิกฤตในปี 1974-1975

Morgan Stanley กล่าวว่าแม้จะมีการตอบสนองนโยบายที่เชิงรุก แต่จะต้องรอถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ก่อนที่ GDP ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของไวรัส

ธนาคาร Deutsche Bank AG กล่าวว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรปสูญเสียถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐก่อนสิ้นปี 2564

องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวเมื่อวันพุธว่าการแพร่ระบาดของโรคอาจทำให้กระแสการค้าระหว่างประเทศล่มสลายอย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าช่วงใด ๆ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

Photo by Enrique ORTIZ / AFP