posttoday

อันตรายจริงหรือ? อะไรคือเหตุที่บางประเทศไม่กล้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์

07 เมษายน 2563

เกาหลียืนยันไม่ยอมใช้ ส่วน FDA สหรัฐกังวลที่จะไฟเขียวให้นำเข้ามาตามแรงกดดันของทรัมป์

ขณะที่ญี่ปุ่นผลักดันยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ Avigan โดยเริ่มทำการทดลองและเสนอที่จะแจกจ่ายให้กับประเทศต่างๆ ที่ต้องการ และจีนทำการทดลองยานี้จะเห็นผลระดับหนึ่ง

แต่เกาหลีใต้ไม่ยอมใช้ยาตัวนี้ โดยระบุว่ามีผลข้างเคียงที่รุนแรง ตกลงแล้วยาตัวนี้ปลอดภัยที่จะใช้หรือไม่? เพราะในประเทศไทยก็ให้ความสนใจยาตัวนี้เช่นกัน

ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ Avigan อย่างต่อเนื่องแต่เน้นความคืบหน้าจากญี่ปุ่น เพื่อที่ให้คนไทยเข้าใจยาตัวนี้อยางรอบด้านที่สุดเราจะทำการแจกแจงข้อมูลของฝ่ายเกาหลีใต้ที่ระบุถึงอันตรายจากยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ Avigan

ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมแล้วที่ทางการเกาหลีใต้ปฏิเสธไม่นำยาตัวนี้มารักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของเกาหลีใต้กล่าวว่าได้ตัดสินใจที่จะไม่นำเข้า Avigan เข้ามารักษาประชาชน หลังจากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่เกาหลีใต้ตัดสินว่ามีข้อมูลทางคลินิกไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ประสิทธิภาพของยา

สื่อเกาหลีใต้รายงานประสานเสียงรัฐบาลด้วยการย้ำว่า Avigan ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นยาสำรองสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นในปี 2014 อย่างไรก็ตามไม่ได้ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำเนื่องจากการทดลองในสัตว์หลายครั้งแสดงให้เห็นว่ายาทำให้เกิดความเสียหายกับทารกในครรภ์

เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่?

คำตอบก็คือเป็นความจริง จากการศึกษาของญี่ปุ่นเองพบว่ายาตัวนี้ทำให้เกิดอาการ Teratogen หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของรูปร่างหรือการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งมีผลตั้งแต่ช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโตและสร้างอวัยวะต่างๆ

พูดง่ายๆ คือหากหญิงมีครรภ์ใช้ยานี้ จะทำให้ทารกมีสภาพพิกลพิการได้ ดังนั้นยาตัวนี้จะใช้ในสถานการณ์คับขันเท่านั้น

ผลการศึกษานี้เกาหลีใต้ไม่ได้ทำแต่นำมาจากการศึกษาหลายๆ ตัว หนึ่งในนั้นคือรายานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของญี่ปุ่น รายงานระบุผลไว้ดังนี้

"ในการศึกษาการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์พบว่ามีการค้นพบสิ่งบ่งชี้ถึงความเสียหายทีเกิดกับตัวอ่อนของทารกในหนูเล็ก หนูใหญ่ กระต่าย และลิง และพบลดน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์และจำนวนตัวอ่อนที่มีชีวิตรอด ในการศึกษาพัฒนาการก่อนและหลังคลอดรวมถึงกลไกของมารดา พบการลดลงของจำนวนลูกที่ยังมีชีวิตรอด การเพิ่มจำนวนขึ้นของลูกตายหลังคลอด"

ผลการทดสอบเหล่านี้ทำให้เกาหลีใต้ไม่มั่นใจที่จะใช้มัน โอ-มย็องดง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อกล่าวว่า "Avigan ไม่เพียงแต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในระหว่างการทดสอบการทดสอบเท่านั้น แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองทางคลินิกที่ดำเนินการกับผู้ป่วยด้วย"

หมายความว่ามันไม่มีผลการทดลองกับคนนั่นเอง

ดังนั้นที่แพทย์ต่างๆ จึงกล่าวว่าการใช้ Avigan จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและควบคุมอย่างเข้มงวด ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้ยาเฉพาะกับโรคติดเชื้อร้ายแรง เช่น ไข้หวัดนกและไวรัสอีโบลา

ที่สำคัญก็คือ Avigan ถูกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขห้ามนำมาใช้ในสหรัฐเนื่องจากปัจจัยเสี่ยง แม้จะมีการใช้กันในญี่ปุ่นก็ตาม

บริษัทผู้ผลิตที่ญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มการทดลองเฟสที่ 3 โดยไม่รวมหญิงมีครรภ์เมื่อต้นเดือนเมษายน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นไปไกลกว่านั้นด้วยการเสนอแจกจ่ายยาให้ประเทศที่สนใจ 20 ประเทศ

ล่าสุด รัฐบาลทรัมป์ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐ (FDA) เปิดทางให้นำยาตัวนี้เข้ามาได้และสภาความมั่นคงของทำเนียบขาวถึงกับขอรับบริจาคยาตัวนี้จากญี่ปุ่น

แต่เราไม่ควรจะเชื่อความรู้ของทรัมป์ในเรื่องยา เพราะทุกครั้งที่เขาเอ่ยถึงเรื่องยารักษาโควิด-19 จะตามมาด้วยกระแสความกังขานานับประการ

ความจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ FDA มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและหลักฐานที่จำกัดว่ายาตัวนี้จะใช้รักษาโรคโคโรนาไวรัสได้ จากการรายงานของสำนักข่าว Politico ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ 3 คนที่ทราบเรื่องการพิจารณาขอให้นำยาเข้ามาและยังเห็นเอกสารภายเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะว่าไปแล้ว

แม้แต่บริษัท Fujifilm (บริษัทเดียวกับที่ผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ผลิตยาตัวนี้ก็ระมัดระวังกับการไม่เอ่ยถึงผลลัพธ์ของยาตัวนี้ เพราะการศึกษาสรรพคุณและผลค้างเคียงค่อนข้างจำกัด

สรุปก็คือ ตอนนี้จีนมั่นใจกับยานี้พอสมควรโดยเริ่มทดลองกับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนเจ้าของยาคือญี่ปุ่นเสียอีก และต่อมาญี่ปุ่นเริ่มมั่นใจบ้างและสั่งให้เพิ่มสต็อคและทำการทดสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ทันทดสอบให้ได้ผลชัวร์ ก็รีบเสนอยานี้ให้กับนานาประเทศ

ในบรรดา 20 ประเทศที่ขอรับยานี้มีทั้งประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซียที่ขอสต็อคถึง 2 ล้านโดส และประเทศพัฒนาอยางเยอรมนี รวมถึงสหรัฐก็เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดทางให้นำยานี้เข้ามา

แต่เกาหลีใต้มีความกังขาต่อยาตัวนี้มากที่สุด และหันไปใช้ยา Remdesivir ของสหรัฐ

ประเทศไทยควรจะไปทางไหนดีระหว่างเกาหลีใต้ที่กังวลจนไม่ขอใช้ กับนานาประเทศที่ขอลุ้นกับยาฟาวิพิราเวียร์?