posttoday

การทูตหน้ากากอนามัย โอกาสทองจีนซื้อใจชาวโลก

21 มีนาคม 2563

จีนรับบทฮีโร่ ในขณะที่ยุโรปกำลังขาดความเป็นหนึ่งเดียวกันในการรับมือ Covid-19

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในฝั่งยุโรปกำลังทะยานขึ้นต่อเนื่อง และจีนเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว รัฐบาลจีนจึงเริ่มปฏิบัติการสานสัมพันธ์ทางการทูตด้วยการส่งความช่วยเหลือด้านการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ยุโรป

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การช่วยเหลือเซอร์เบีย ที่ถือเป็นโอกาสทองที่จะให้จีนโชว์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเทศแถบยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่สมรภูมิที่จีนและอียูจะใช้แสดงอิทธิพล

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูชิช ของเซอร์เบีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศและยังเอ่ยถึงความคับข้องใจในการรับมือสถานการณ์ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า “อย่างที่คุณรู้กันว่าขณะนี้เราไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป ความเป็นหนึ่งเดียวกันของยุโรปไม่เคยมีอยู่จริง มีแต่ในนิยายบนแผ่นกระดาษเท่านั้น”

ต้องอธิบายก่อนว่า อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ห้ามประเทศสมาชิกอียูส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก เพื่อสงวนไว้ให้ประเทศสมาชิกเท่านั้น และขณะนี้เซอร์เบียยังอยู่ระหว่างขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู จึงนำเข้าหน้ากากอนามัยไม่ได้

ในเมื่อเพื่อนบ้านในยุโรปไม่ยอมยื่นมือช่วยเหลือ ผู้นำเซอร์เบียจึงหันไปพึ่งมิตรนอกทวีปอย่างจีน โดยประกาศในวันเดียวกับวันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าได้ขอความช่วยเหลือจากจีนแล้ว “ผมเชื่อมั่นในพี่ชายและมิตรอย่างสีจิ้นผิง และเชื่อมั่นในการให้ความช่วยเหลือของจีน ประเทศเดียวที่จะช่วยเหลือเราได้คือจีน”

ซึ่งฝั่งจีนก็ตอบรับและส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เซอร์เบียร้องขอไปถึงกรุงเบลเกรดในวันถัดมา

นอกจากนี้ อิตาลีที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในสหภาพยุโรป และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตแซงหน้าจีนที่เป็นประเทศที่ระบาดเป็นที่แรกไปแล้ว ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากประเทศสมาชิกอียูด้วยกันเช่นกัน

สัปดาห์ที่แล้ว เมาริซิโอ มัสซาริ ทูตอิตาลีประจำอียู แสดงความผิดหวังหลังจากที่ประเทศสมาชิกอียูปฏิเสธคำร้องของคณะกรรมการยุโรปที่ให้ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปช่วยเหลืออิตาลี ผ่านบทความในเว็บไซต์ Politico ว่า “น่าเสียดายที่ไม่มีประเทศสมาชิกอียูสักประเทศที่ตอบรับคำร้องของคณะกรรมการ มีแต่จีนที่ยอมยื่นมือช่วยเหลือ แน่นอนว่าไม่ใช่สัญญาณที่ดีของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุโรป”

ขณะนี้ทางการจีนส่งทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้อิตาลีอย่างน้อย 2 ลำแล้ว รวมทั้งชุดทดสอบการติดเชื้ออีก 1,000 ชุด

ความเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้ช่วยเปลี่ยนภาพของจีนจากประเทศที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดมาสู่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นได้อย่างดี ทั้งยังได้รับคำชมล้นหลามจากทั้งชาวยุโรปและบุคคลสำคัญ อาทิ เทโดรส อัดดานัม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าการช่วยเหลืออิตาลีของจีนว่าเป็น “ตัวอย่างของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่น่าชื่นชม”

นอกจากนี้ จีนยังให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ทางการแพทย์กับกับโปแลนด์ กรีซ บอสเนียและเฮอร์เซโกวินาด้วย

การทำการทูตผ่านหน้ากากอนามัยทำให้จีนขยับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

อันที่จริงนอกเหนือจากการไม่แยแสประเทศยุโรปด้วยกันเองในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด ลำพังความไม่พอใจอียูของประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่านก็ผลักให้ประเทศเหล่านี้หันไปหาจีนมากขึ้นๆ

เมื่อปีที่แล้วความพยายามขอเข้าเป็นสมาชิกอียูของแอลเบเนียและมาซิโดเนียกลับต้องชะงักลงหลังจากประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาตรง ของฝรั่งเศสแย้งว่าควรรอให้แก้ไขกฎการรับสมาชิกเพิ่มของอียูแล้วเสร็จก่อน ทำให้ทั้งสองประเทศยังไม่ได้เป็นสมาชิกอียู

นอกเหนือจากนั้น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้จีนยังเข้าไปเหยียบจมูกของอียู โดยการพยายามเพาะสร้างอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่านด้วยการจัดตั้งโครงการ 17+1 ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มของจีนและประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกอีก 17 ประเทศ

โครงการนี้จีนจะเข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาให้ประเทศเหล่านี้ทัดเทียมประเทศอื่นในยุโรปผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของการให้กู้ยืมเงินผ่านโครงการ Belt & Road ในประเทศที่ขาดแคลนเงินทุน อาทิ มอนเตเนโกร แอลเบเนีย มาซิโดเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และเซอร์เบียที่จีนถึงกับเรียกว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญในยุโรปตอนใต้

ส่วนอิตาลีนั้นจีนซื้อใจด้วยการซื้อพันธบัตรมูลค่า 5,000 ล้านหยวน และเงินจำนวนนี้ยังส่งไปช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัทสัญชาติอิตาลีในจีนด้วย

การลงนามครั้งนี้ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศสมาชิก G7 ประเทศแรกที่กู้ยืมเงินจากรัฐบาลจีน

ส่วนฝั่งจีนก็ได้รับแรงหนุนโครงการ Belt & Road จากอิตาลีอย่างเต็มที่ และเป็นไปได้ว่าจีนอาจใช้อิตาลีเป็นสะพานเชื่อมเข้าสู่ยุโรปในอนาคต

การปรากฏตัวของจีนสร้างความกังวลให้ประเทศพี่ใหญ่ในยุโรปทั้งหลาย คณะกรรมาธิการอียูถึงกับนิยามว่าจีนเป็น “คู่แข่งเชิงระบบ” ของอียู

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การคว้าโอกาสทองด้วยการยื่นมือให้ความช่วยเหลือประเทศในยุโรปในยามยากของจีนครั้งนี้ จะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์จีนให้ดีขึ้นในสายตาชาวยุโรปได้แน่นอน