posttoday

อย่าให้ถึงวันที่ระบาดจนรับไม่ไหว เพราะหมออาจต้องเลือกคนรอด

16 มีนาคม 2563

ประชาชนอาจไม่เชื่อรัฐบาลได้แต่จะต้องเชื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่อย่างนั้นเมื่อโรคระบาดพุ่งขึ้นมา ระบบสาธารณสุขจะแบกรับไว้ไม่ไหว

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอยู่แล้วที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากโคโรนาไวรัสมักเป็นผู้สูงวัย แต่ที่เศร้ายิ่งขึ้นไปอีกคือผู้ติดเชื้อไม่เลือกว่าแก่หรือหนุ่มสาว ดังนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจึงมีมากมายหลักพันหลักหมื่น ในจำนวนนี้มีหลักร้อยที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ

แต่น่าเศร้าที่เครื่องช่วยหายใจไม่พอใช้ แม้ว่าหลายประเทศจะร่ำรวยและเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเครื่องช่วยหายใจใช้ให้กับผู้ป่วยทุกคน

ขนาดประเทศมีเงินยังไม่รอดแล้วประเทศที่กำลังพัฒนาจะทำอย่างไรหากเกิดการระบาดในระดับนั้น? นี่คือคำถามที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักเอาไว้ด้วย เพราะแม้ว่าเราจะยังไม่เกิดการระบาดในเฟสที่ 3 แต่หากเกิดขึ้นมาเราจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ในทันที นั่นคือสถานการณ์ที่อิตาลีและอังกฤษกำลังเผชิญอยู่

ลางร้ายปรากฎขึ้นเมื่ออิตาลีซึ่งเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงที่สุดในยุโรปกำลังเดือดร้อนเนื่องจากมีเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่อิตาลีเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ที่น่าจะมีอุปกรณ์เหล่านี้ครบครัน และมีเงินพอที่จะจัดสรรมาให้ได้เป็นจำนวนมาก

แต่อิตาลีก็ยังไม่พอใช้ และทำให้ต้องมีแนวทางปฏิบัติสำหรับแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วยตามความน่าจะเป็นของการอยู่รอด

หมายความว่าคนที่พิจารณาแล้วว่าไม่น่ารอด จะไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจกับคนนั้น ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

จากปากคำของแพทย์ชาวอิตาเลียนพื้นที่ ดร. ดานิเอล มัคคินีทำให้เราทราบว่าเมื่อสถานการณ์พีคแบบอิตาลี การทำงานของหน่วยฉุกเฉินจะล้มเหลวเพราะแบกรับเอาไว้ไม่ไหว

คุณหมอบอกว่า มีบางคนมีโอกาสใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ แต่บางคนก็สายเกินไป เขาบอกว่า "เครื่องช่วยหายใจทุกเครื่องกลายเป็นเหมือนทองคำ" นั่นคือหายากและมีค่ามาก แต่จริงๆ แล้วมันต่างจากทองคำตรงที่ทองคำช่วยชีวิตเราไม่ได้ แต่เครื่อช่วยหายใจทำได้

คุณหมอทิ้งท้ายด้วยว่า หมอทุกคนไม่อยากจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วย 2 คน แต่ต้องเลือกเอาคนใดคนหนึ่งมารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยหนักที่มีเครื่องไม้เครื่องมือจำกัด

สถาบันวิสัญญีแพทย์, การระงับปวด, การช่วยชีวิตและผู้ป่วยหนักของอิตาลี (SIAARTI) ได้กำหนดแนวทางไว้ว่า "อาจจำเป็นต้องกำหนดอายุสำหรับการเข้าถึงบริการผู้ป่วยหนัก" เพื่อที่จะ "ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับ (ผู้ป่วย) จำนวนที่มากที่สุด"

พวกเขาแนะนำว่า จะต้องมีเกณฑ์การจัดสรรความช่วยเหลือให้ผู้ป่วย เพื่อที่รับประกันว่า ผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดสูงสุดเมื่อได้การช่วยเหลือจากหน่วยผู้ป่วยหนัก”

อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับ CoVid-19 เท่านั้น แต่มีไว้ใช้กับผู้ป่วยทุกคนในสถานการณ์ที่คับขันแบบตอนนี้

ขณะที่แนวทางดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ก็มีรายงานว่าผู้ป่วยชาวอิตาลีสูงอายุถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับการรักษา ในขณะที่เด็กๆ ที่มีแนวโน้มที่จะรอดชีวิตสูงกว่าได้รับการรักษามากขึ้น

แต่เราต้องตระหนักว่าการเลือกรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือความลำเอียง แต่ขึ้นอยู่กับประโยชน์สูงสุด

ผลการสำรวจความเห็นของแพทย์ในสำนักข่าการแพทย์ Medscape กับคำถามที่ว่า "คุณจะให้เครื่องช่วยชีวิตกับผู้ป่วยที่เห็นว่าไม่มีท่างรักษาหายหรือไม่" 23% ตอบว่าจะให้ 37% บอกว่าไม่ อีก 39.4% บอกว่าแล้วแต่สถานการณ์ นี่เป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับการระบาดของ CoVid-19 แต่ยกขึ้นมาเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าแพทย์คือผู้ที่ต้องทำใจลำบากที่สุดในสถานการณ์แบบนี้

ความลักลั่นที่เกิดขึ้นในอิตาลีอาจจะลามไปถึงอังกฤษ ทำให้ ดร. โจนาธาน อีฟส์ รองผู้อำนวยการศูนย์จริยศาสตร์การแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยบริสตอล เขียนบทความใน The Guardian ว่า "โคโรนาไวรัสอาจบังคับให้แพทย์ชาวอังกฤษตัดสินว่าใครจะได้รับการช่วยเหลือ"

"สิ่งที่เราทำได้คือพยายามลด (การระบาด) ลง และถ้าเราไม่สามารถลดมันได้อย่างสมบูรณ์ เราจำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับ แม้ว่ายากมากจนเกินจะแบกรับไว้ได้ที่เราไม่อาจช่วยทุกคนให้รอด นี่คือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว เราแค่พยายามไม่คิดถึงมันเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการระบาดใหญ่เช่นนี้ เราไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากเผชิญหน้ากับมัน"

ตอนนี้ สถานการณ์ในออสเตรเลียน่าวิตกเช่นกัน เมื่อแพทย์อาจต้องเลือกระหว่างการช่วยชีวิตผู้ป่วยเด็กหรือผู้สูงอายุเนื่องจากเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ

ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียมีเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ใหญ่ 253 เครื่องรวมถึงเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารก 14 เครื่อง

หมายความว่าหากมีการระบาดครั้งใหญ่ หน่วยพยาบาลจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันกับแพทย์อิตาลีที่ต้องเลือกว่าจะรักษาใครก่อนถึงจะได้ผลที่สุด

วิธีการแก้ปัญหาของประเทศมีเงินคือสั่งซื้ออุปกรณ์เพิ่ม เช่น นายกรัฐมนตรีรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียมีคำสั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจอีก 51 เครื่อง กระทรวงสาธารณสุขของรัฐสั่งให้เพิ่มอีก 50 เครื่องขณะที่อีก 50 เครื่องอยู่ในหน่วยจัดเก็บ รวมแล้ว 151 เครื่องใหม่

จำนวนเท่านี้เพียงพอสำหรับรับมือการระบาดในระดับที่ยังไม่เลวร้ายเท่าอิตาลี แต่ถ้ามันเกิดเลวร้ายขึ้นมาแพทย์จะเป็นคนที่ลำบากใจที่สุดเพราะทั้งต้องเหนื่อยกายและจิตใจต้องอ่อนล้ากับความสับสนทางจริยธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ

หันมาดูที่บ้านเรา หนึ่งวันก่อนที่บทความนี้จะเผยแพร่ไป (เวันที่ 15 มีนาคม 2563) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากที่สุดในวันเดียวคือ 32 ราย มาอยู่ที่ 114 ราย และทำให้ยอดผู้ติดเชื้่อทะลุหลัก 100 รายแล้ว

แม้ว่าจะเทียบกับอิตาลีในแง่การระบาดไม่ได้ แต่เราก็เทียบกับอิตาลีกับอังกฤษไม่ได้เช่นกันในด้านเครื่องไม้เครื่องมือ หากระบาดเท่ากับ 2 ประเทศนี้เราคงได้แต่ภาวนาว่าจะไม่ล้มป่วยเสียเอง เพราะอาจกลายเป็นบุคคลที่แพทย์ต้องเลือกว่าควรจะรักษาหรือไม่

แต่ต้องขอบคุณทีมแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ทำงานอย่างมุ่งมั่นและกล้าหาญ ช่วยให้ไม่เกิดการระบาดที่หนักไปกว่านี้ พวกเขาคือทหารในแนวหน้าที่เราทุกคนจะต้องให้กำลังใจ

และในขณะเดียวกันคนในแนวหลังก็ต้องไม่ทำตัวให้เป็นภาระด้วยการไม่ป้องกันตัวอย่างถูกต้อง หรือยังเลินเล่อไม่ระวัง

เพราะการระบาดในหลายประเทศเกิดจากความเลินเล่อของคนในประเทศเอง จนทำให้แพทย์ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนล้าทั้งกายและใจ ทำให้ปราการป้องกันโรคถูกทำลาย กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายในที่สุด

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน